จีนขัดแย้งคุม 'ธนาคารเงา'
ธนาคารจีนคุมเข้มการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น หลังยอดเงินกู้ในประเทศเพิ่มขึ้น แต่ปัญหาความขัดแย้งภายใน ส่งผลให้การคุม "ธนาคารเงิน" ยากขึ้น
ธนาคารจีนคุมเข้มการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น หลังยอดเงินกู้ในประเทศเพิ่มขึ้น แต่ปัญหาความขัดแย้งภายใน ส่งผลให้การคุม "ธนาคารเงิน" ยากขึ้น
จีนพยายามควบคุมดูแลปริมาณการปล่อยสินเชื่อ แต่เพราะความขัดแย้งในการกำกับดูแลระหว่างธนาคารกลาง และหน่วยงานกำกับดูแลภาคการธนาคาร ส่งผลให้การควบคุมดูแล "ธนาคารเงา" หรือสถาบันการเงินนอกระบบ เป็นไปด้วยความยากลำบาก
เจ้าหน้าที่ทางการจีนหลายรายกล่าวว่า ธนาคารกลางจีน (พีบีโอซี) มีความกังวลที่ธนาคารต่าง ๆ พยายามหาหนทางเคลื่อนย้ายเงินกู้จากบัญชีของตน ทั้งยังผิดหวังกับการที่คณะกรรมการกำกับดูแลการธนาคารของจีน (ซีบีอาร์ซี) ไม่มีความตั้งใจที่จะกำกับดูแลบรรดาสถาบันการเงินนอกระบบ
ความแตกต่างในการกำกับดูแลอยู่ที่ความสนใจของหน่วยงานทั้ง 2 หน่วย โดยธนาคารกลางจีนมีหน้าที่กำกับดูแลภาพรวมของเสถียรภาพทางการเงิน ขณะที่ ซีบีอาร์ซี ทำหน้าที่ควบคุมดูแลภาคสถาบันการเงินอย่างธนาคาร แต่หน่วยงานทั้งคู่ ไม่ได้มีการกำหนดอำนาจหน้าที่ที่ชัดเจน ในการควบคุมดูแลสถาบันการเงินนอกระบบ ซึ่งเป็นประเภทธุรกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็วที่สุดในภาคการเงินของจีน ด้วยการปล่อยกู้ให้กับผู้ขอกู้ ที่ธนาคารแบบดั้งเดิมส่วนใหญ่ปฏิเสธการให้สินเชื่อ เพราะมีความเสี่ยงสูงเกินไป
นักเศรษฐศาสตร์ชาวจีนและชาวต่างชาติ เตือนว่า การที่ธนาคารต่าง ๆ ต้องพยายามสร้างข้อตกลงเทียม ซึ่งมีความสลับซับซ้อนร่วมกับบรรดาสถาบันการเงินนอกระบบ เพื่อหลีกเลี่ยงเพดานข้อจำกัดของการปล่อยกู้ ส่งผลให้เศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ต้องติดอยู่กับภาระหนี้และเกิดผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงิน
ความแตกต่างในการกำกับดูแลของทั้งสองหน่วยงานหมดลงไป เมื่อซีบีอาร์ซีประกาศกฎระเบียบใหม่ ภายใต้ชื่อเรียกว่า "กฎที่ 9" โดยกฎใหม่ดังกล่าวกำหนดเพดานการปล่อยกู้ตามสัดส่วนในงบดุล แต่หลังจากการประชุมเมื่อต.ค.ปีที่แล้ว ที่สำนักงานใหญ่ในกรุงปักกิ่ง ซีอาร์บีซี ต้องทบทวนกฎระเบียบดังกล่าว เนื่องจากบรรดานักการธนาคาร รวมถึงตัวแทนของสถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ต่างแสดงความไม่เห็นด้วย โดยระบุว่า หากบังคับใช้กฎใหม่ จะส่งผลให้ระดับเงินกองทุนและกำไรจากการดำเนินงานลดต่ำลง
เจ้าหน้าที่ของธนาคารกลางจีน แสดงความกังวลว่า ซีบีอาร์ซี ปกป้องธนาคารในกำกับดูแลมากเกินไป ทั้งยังไม่ดำเนินมาตรการที่จำเป็นเพียงพอต่อการลงโทษธนาคารที่ฝ่าฝืนกฎระเบียบ ผลลัพธ์ก็คือ ธนาคารกลางต้องมองหาวิธีการในการดึงอำนาจกำกับดูแลบางส่วนที่เคยมอบให้กับซีบีอาร์ซี เมื่อครั้งก่อตั้งหน่วยงานนี้ตั้งแต่ทศวรรษที่แล้วกลับคืนมา
ด้านนายเอสวาร์ ปราสาท นักวิชาการด้านจีนแห่งมหาวิทยาลัยคอร์แนล กล่าวว่า ธนาคารกลางจีนกำลังอยู่ระหว่างพยายามรื้อฟื้นอำนาจการกำกับดูแลคืนกลับมา เนื่องจากพบว่า หากปล่อยให้ซีบีอาร์ซีกำกับดูแลต่อไป อาจไม่สามารถทำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพนัก
นับตั้งแต่เกิดวิกฤติการเงินโลกครั้งที่ผ่านมา ภาระหนี้ของจีนเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับสหรัฐ เกาหลีใต้ ประเทศในกลุ่มยูโรโซน และประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะที่เกิดจากภาคธุรกิจสถาบันการเงินนอกระบบ โดยในช่วงระหว่างปี 2553 - 2555 เจพีมอร์แกน เชส ประเมินว่า มูลค่าสินเชื่อจากการปล่อยกู้ของสถาบันการเงินนอกระบบเพิ่มขึ้นเท่าตัวด้วยปริมาณ 6 ล้านล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 69% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)แดนมังกรในปี2555
ปัจจุบัน ธนาคารกลางจีน มีเครื่องมือกำกับดูแลเหล่าสถาบันการเงินนอกระบบโดยตรงอยู่น้อยมาก หลังจากเมื่อมิ.ย.ปีที่แล้ว ทำการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในตลาดกู้ยืมระหว่างธนาคาร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ธนาคารต่าง ๆ ลดการปล่อยกู้ลง แต่ความพยายามดังกล่าวกลับไม่เป็นผล เนื่องจากปริมาณปล่อยกู้ของสถาบันการเงินนอกระบบในช่วงมิ.ย. ถึง พ.ย. 2556 เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับในช่วงเดียวกันของปี 2555
นายหลี่ เตากุ่ย นักเศรษฐศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัยซิงหัว ผู้เคยเป็นกรรมการที่ปรึกษาด้านการเงินให้กับธนาคารแห่งชาติของจีน ให้ความเห็นว่าในช่วงไม่กี่ปีมานี้ การดำเนินนโยบายการเงินเป็นไปอย่างค่อนข้างเข้มงวด แต่กลับทำให้สถาบันการเงินนอกระบบเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเดือนที่แล้ว คณะรัฐมนตรีจีนประกาศใช้เอกสารหมายเลข 107 เป็นกรอบแนวคิดในการกำกับดูแลสถาบันการเงินนอกระบบ พร้อมกับพิจารณานำระบบประกันเงินฝากมาใช้ เพื่อให้ธนาคารกลางจีนสามารถกำกับดูแลภาคธนาคารได้ใกล้ชิดขึ้น
อย่างไรก็ดี บรรดาสถาบันการเงินนอกระบบ ร่วมมือกับธนาคารรายอื่นของจีน พยายามใช้ธุรกรรมการกู้ยืมเงินระหว่างกันในตลาดกู้ยืมเงินระหว่างธนาคาร เพื่อปกปิดความเสี่ยงของเงินกู้ปกติ ซึ่งนักวิเคราะห์หลายรายจากธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ ประเมินว่า มูลค่าเงินกู้ด้วยวิธีการสลับซับซ้อนดังกล่าว น่าจะมีจำนวน 2 ล้านล้านหยวน เมื่อคิดจนถึงมิ.ย.ปีที่แล้ว สร้างกังวลให้กับธนาคารกลางของจีน ถึงขนาดที่ในรายงานประจำไตรมาส 3 ของปีที่แล้ว ชี้ให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นของเงินกู้แบบดังกล่าว ซึ่งทำให้การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคและการกำกับดูแลภาคการเงิน ไม่เกิดประสิทธิผลเท่าที่ควร
นักวิเคราะห์หลายรายให้ข้อมูลว่า ทางการจีนพยายามกำกับดูแลภาคธุรกิจสถาบันการเงินนอกระบบ แต่เมื่อมีการเจรจาพูดคุยกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกลับตัดสินใจที่จะนำกฎระเบียบที่จะประกาศใช้ไปแล้ว กลับมาทบทวนอีกครั้ง ซึ่งในร่างกฎระเบียบที่ปรับปรุงใหม่ ไม่มีเนื้อหาที่จะมั่นใจได้ว่า สามารถควบคุมดูแลภาคธุรกิจที่กำลังเติบโตได้อย่างแท้จริง