“ปู” หวังตั้งสภาปฏิรูปไปเลือกตั้งไป ขอคนกลางทหารก็ได้จัดเวที โยน กกต.ดูเลื่อนโหวตหรือไม่
“ยิ่งลักษณ์” เปิดห้องให้สื่อซัก สรุปแนวคิดตั้งสภาปฏิรูปพลางเลือกตั้ง อ้างทุกฝ่ายหนุน แต่ยังไม่ตกผลึกที่มา วอนใครก็ได้เปิดเวที ยินดีทหารตัวกลาง กวักมือศาลมาคุย เผยแผนชวนพรรคทำสัตยาบันวาระชาติ ยันออกคำสั่งตั้งได้เลย น้อมฟังแต่เสียงส่วนใหญ่ โวยเลื่อนโหวตกระทบ ศก., ผ่าน กม., ศูนย์กลางอาเซียน ลั่นไม่ลุกจากเก้าอี้ ฝากกองทัพคิดปฏิวัติไม่เกิดผลดี พอถามก้าวข้าม “แม้ว” บอกให้ถามคนเลือกมาด้วย ไม่ตอบ “พี่ชาย” ยังสั่งราชการ โอดไม่โหวตแล้วจะอยู่กันยังไง โยน กกต.เลื่อนหรือไม่ แย้มจ่อเด้ง บิ๊ก ขรก.ขัดคำสั่ง ลั่นวันชัตดาวน์คุมเอง บอกฟัง “สุเทพ” ปราศรัยตลอด
วันนี้ (10 ม.ค.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อเวลา 10.35 น. นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดห้อง “พรหมนอก” ชั้น 2 ให้สื่อมวลชนได้ซักถามในทุกประเด็นใช้เวลาให้สัมภาษณ์นานถึง 45 นาที โดยมี นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รักษาการรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รักษาการรองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ นาวาอากาศเอก อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รักษาการ รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) นายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมในวงสัมภาษณ์ด้วย
นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าในการดำเนินการว่า หลังจากที่ยุบสภารัฐบาลมีหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้การทำงานผ่านโดยราบรื่น แต่อาจมีปัญหาอุปสรรคบ้าง แต่หลังจากที่รับฟังเสียงจากประชาชน สิ่งที่มีความเห็นตรงกันก็คือทุกฝ่ายต้องการที่จะมีสภาปฏิรูปประเทศ ซึ่งรัฐบาลเห็นด้วยและเชื่อว่าเป็นความต้องการ ซึ่งปัจจุบันมีหลายเวทีในการพูดคุย แต่ยังไม่สามารถตกผลึกออกมาได้ว่าจะปฏิรูปให้มีสภาปฏิรูปขึ้นมาได้อย่างไร ประกอบด้วยตัวแทนจากภาคส่วนไหน จำนวนเท่าไร และจะเกิดขึ้นอย่างไร รัฐบาลจึงเดินสายพบปะสื่อมวลชน วันนี้รัฐบาลอยากให้ใครก็ได้ เปิดเป็นเวทีกลางเพื่อเป็นการเริ่มต้นเพื่อให้ทุกภาคส่วนมาหารือแสดงความคิดเห็น
นายกฯ กล่าวว่า กระบวนการปฏิรูปมีสองส่วนคือขั้นตอน เพื่อให้เกิดสภาปฏิรูปให้เร็วที่สุด และเนื้อหา ที่จะทำให้เกิดสภาปฏิรูปหรือรูปแบบ ในส่วนของขั้นตอนเพื่อเกิดสภาปฏิรูปนั้น ขั้นตอนที่เราอยากเห็นคือขั้นตอนที่ทำก่อนที่จะมีรัฐบาลหลังเลือกตั้ง ด้วยการตรวจสอบ และสอบถามทางคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว สิ่งที่ทำได้เร็วที่สุดคือการใช้คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อเสนอ แต่เนื่องจากรัฐบาลนี้ยุบสภาแล้ว ไม่สามารถผูกพันกับรัฐบาลหน้า สิ่งที่ควรทำในขั้นตอนที่ 2 คือการเชิญชวนพรรคการเมืองทุกพรรคมาร่วมให้สัตยาบันว่าถ้าใครได้เป็นรัฐบาล หลังจากการเลือกตั้ง ขอให้นำเจตนารมณ์ของการปฏิรูป เข้าไปเป็นวาระแห่งชาติและดำเนินการต่อไป ก็จะนำไปสู่ขั้นตอนของรัฐสภาได้ ในส่วนการออก พ.ร.ก.ก่อนการเลือกตั้งนั้นเป็นเรื่องที่ยาก
“วันนี้สิ่งที่สามารถดำเนินการให้เร็วที่สุดก็คือการออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี จึงอยากเห็นว่าถ้าเสียงส่วนใหญ่ด้วยกับรูปแบบสภาปฏิรูปรัฐบาลก็สามารถนำไปประกาศได้ ส่วนกระบวนการที่จะเป็นสภาปฏิรูปนั้น รัฐบาลได้มีการเสนอแนวทางไปแล้ว วันนี้เราต้องการเวทีกลางเพื่อให้การตกผลึกของสังคมเพื่อมาตกลงร่วมกัน เพื่อที่จะสามารถเริ่มต้นเดินหน้า ยืนยันว่ารัฐบาลนี้ไม่ปฏิเสธในการปฏิรูปปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน อยากเห็นการแก้ไขปัญหาให้หมดไปจากสังคม รัฐบาลยินดีที่จะทำงานกับเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นและยินดีที่จะให้แก้ว่าทำอย่างไรทำให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม เพื่อให้เกิดความชอบธรรม โปร่งใส ยินดีที่จะให้การปฏิรูปในอนาคตเป็นไปตามเสียงสะท้อนที่สังคมต้องการ และรัฐบาลน้อมรับข้อคิดเห็นจากเสียงส่วนใหญ่ที่ต้องการให้รัฐบาลปฏิรูปในสิ่งที่ได้ดำเนินการมา และสภาปฏิรูปไม่สามารถทำให้เสร็จได้ภายในวันเดียวต้องรอเวลาและขั้นตอนตามกฎหมาย” น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว
นายกฯ กล่าวอีกว่า รัฐบาลพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้เกิดการพูดคุย และเกิดความสงบภายในประเทศจึงขอร้องทุกภาคส่วนหันหน้ามาพูดคุยกันเพื่อหาทางออกให้กับประเทศ ในส่วนการเตรียมความพร้อมวันที่ 13 ม.ค.ที่หลายส่วนมีความเป็นห่วงนั้นได้มีการเตรียมพร้อมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับทุกคน รัฐบาลอยากเห็นการชุมนุมโดยสงบ อยากเห็นสันติเกิดขึ้น วันนี้ระบบเศรษฐกิจได้รับผลกระทบ ซึ่งจากการพูดคุยกับภาคเอกชนมีความต้องการในด้านความเชื่อมั่นของนักลงทุนอย่างมาก แแต่รัฐบาลมีข้อจำกัดเนื่องจากเป็นรัฐบาลรักษาการ การพัฒนาเศรษฐกิจต่างทำไม่ได้ เพราะรัฐบาลต้องทำตามพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้ง และจากการพูดคุยทุกคนอยากให้มีการเลือกตั้ง แต่ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลนี้มุ่งมั่นเลือกตั้งโดยไม่ฟังเสียงประชาชน
น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวอีกว่า แต่ต้องขอความเห็นใจด้วยว่าถ้าเราไม่เอาการเลือกตั้ง หรือเลื่อนการเลือกตั้งเพื่อให้การปฏิรูปเสร็จคงไม่ทัน เพราะต้องใช้เวลาเป็นปี แล้วเราจะบริหารประเทศได้อย่างไรภายใต้รัฐบาลที่ป็นรัฐบาล ไม่สามารถอนุมัติโครงการ หรืองบประมาณผูกพันได้ การดูแลประชาชนก็ไม่สามารถทำได้ ผลกระทบเรื่องการเจรจาระหว่างประเทศก็จะมีปัญหา วันนี้มีกฎหมายหลายฉบับที่ค้างในสภาและรอขั้นตอนต่างๆ เช่น สิทธิทางด้านภาษีที่กำลังจะหมดอายุ ซึ่งเดิมคาดว่าจะใช้กลไกของอียูเข้ามาช่วยต่อรอง โดยเฉพาะภาคการเกษตรก็ไม่สามารถทำได้ทันเวลา หากไม่มีการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.ก็จะเกิดผลกระทบกับโครงสร้างภาษีที่ไทยเคยได้เปรียบในกลุ่มประเทศที่มีรายได้น้อยก็จะไม่ได้แล้ว ขณะเดียวกัน เราต้องใช้เวทีไทย-อียู มาต่อเชื่อมเพื่อให้ได้สิทธิทางภาษีที่ดีที่สุดก็จะไม่สามารถต่อรองได้เนื่องจากไม่มีสภาก็ไม่สามารถผ่านขั้นตอนได้ หรือทำได้เพียงส่วนของราชการแต่ไม่สามารถลงนามในความตกลงได้ หรือในส่วนของประเทศที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มของอียูก็จะผลกระทบต่อกลุ่มของอัญยมณีทำให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศได้รับผลกระทบ รวมทั้งประชาคมอาเซียน หรือ AEC ที่ต้องมีเวลาตกลงให้ไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียนก็ถูกเลื่อนออกไป ยอมรับว่ามีความเป็นห่วงว่าหากมีการเลื่อนการเลือกตั้งจะมีผลกระทบ
“ดังนั้นถ้าเราช่วยกันให้การเลือกตั้งผ่านไปก่อน แล้วเร่งทำในเรื่องการปฏิรูปก็จะทำให้การปฏิรูปเสร็จขึ้นเร็ว แล้วก็ทำการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ ประชาชนก็จะได้ใช้สิทธิและรักษาประชาธิปไตย เพื่อเพื่อจะใช้สิทธิ์ของทุกคนทั้งประเทศในการตัดสินหารัฐบาลใหม่และตัดสินกลไกการปฏิรูปประเทศให้เดินหน้า” น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว
น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า แต่วันนี้เราไม่ได้อยู่ในลักษณะที่จะเดินหน้าอย่างเดียว เพราะด้วยข้อจำกัดต่างๆ แต่ถ้าทุกฝ่ายพร้อมที่จะหันหน้ามาคุยกันได้หรือไม่ว่าจะทำอย่างไร ส่วนที่หลายฝ่ายเรียกร้องให้ออกจากตำแหน่งนายกฯก็ต้องยืนยันว่าตนมีหน้าที่ ที่ต้องรับผิดชอบในฐานะนายกรัฐมนตรีจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่หลังเลือกตั้ง ไม่สามารถปฏิเสธงานนี้ได้ ตนมีหน้าที่ปฏิบัติามกฎหมายไม่เช่นนั้นก็จะถูกกล่าวหาว่าละเว้นและละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ถือเป็นกลไกที่ไม่สามารถขยับได้ และถ้าจะขยับต้องขยับและพูดคุยด้วยกันทั้งหมด และผู้อำนวยความยุติธรรมต้องมาคุยด้วยไม่เช่นนั้นไปไม่ได้
จากนั้นผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้าแนวทางในการแก้ไขความขัดแย้งให้ทหารมาเป็นตัวกลางเจรจาระหว่างนายกฯ ครม.กับ กปปส.คิดว่าเป็นทางแก้ปัญหาหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ในความเป็นจริงกองทัพต้องทำหน้าที่ในการดูแลเรื่องของความสงบในประเทศ แต่ถ้าถามว่าโดยสถานการณ์ขณะนี้จะเป็นกองทัพหรือใคร รัฐบาลก็ยินดีเพียงขอให้มีการพูดคุย แต่ถ้าการพูดคุยเราอยู่บนหลักต่างคนต่างยืน คนกลางที่จะเข้ามาพูดคุยก็ไม่สามารถทำหน้าที่ได้ ดังนั้นก็ต้องมาคุยกันว่าถ้าเราพร้อมที่จะหันหน้ามาช่วยกันก็ต้องร่วมมือกันทำ เพื่อให้เกิดความสงบ ถ้าผู้ชุมนุมยินดีที่จะมาคุยก็เชื่อว่าทุกคนพร้อมให้ความร่วมมือรวมถึงตนเองด้วย
เมื่อถามถึงข่าวลือการปฏิวัติที่มีเยอะมาก นายกฯยังมั่นใจในกองทัพหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า เรียนว่าวันนี้เราต้องช่วยกัน ไม่ให้เกิดเหตุการรุนแรง และเชื่อกองทัพเองก็คงต้องคิดว่าการปฏิวัติไม่ได้ทำให้เกิดผลดีกับประเทศเลย ยิ่งกลับทำให้ประเทศไม่เป็นประชาธิปไตย วันนี้เราต้องช่วยกันในการรักษาประชาธิปไตย ช่วยกันรักษากติกา แต่ไม่ได้หมายความว่าการรักษากติกาจะไม่ฟังเสียงประชาชน แต่ขอให้ฟังเสียงโดยกลไกที่เป็นระบบให้เดินได้ ถ้าการที่เราไม่รักษากติกา ก็จะเกิดปัญหาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แล้วประเทศจะแก้ปัญหาอย่างไร ก็ขอฝากไว้ด้วย
เมื่อถามว่า หากเงื่อนไขของกลุ่ม กปปส.คือให้มีการก้าวข้าม พ.ต.ท.ทักษิณ และตระกูลชินวัตร รัฐบาลจะยอมรับได้หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า อย่าถามดิฉันคนเดียว เพราะดิฉันให้ความเคารพกับประชาชนที่เลือกดิฉันเข้ามา และการพูดคุยนั้นเราต้องแน่ใจว่ากลุ่มที่พูดคุยประกอบไปด้วยเสียงของคนส่วนใหญ่ ถ้าเราคุยเพียงแค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และอีกกลุ่มไม่เห็นด้วยการเจรจาและการหารือไม่มีทางสำเร็จ เวทีที่จะใช้ดีที่สุดคือเวทีการปฏิรูปที่มีทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งยอมรับว่า เป็นการยาก ในบรรยากาศที่เกิดขึ้นในขณะนี้ จึงได้เสนอว่าจะต้องเร่งตั้งสภาปฏิรูปน่าจะเป็นกลไกที่ดีที่สุด แล้วค่อยมาคุยว่าทุกคนยังติดขัดอะไร น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด ถ้าทุกคนยอมที่จะเดินหน้าไปสู่เป้าหมายเดียวกัน
เมื่อถามว่า กลุ่ม 25 องค์กรเสนอให้ออกเป็นพระราชกำหนดองค์กรปฏิรูปเห็นด้วยหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ต้องให้นักกฎหมายแและคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาและศึกษาว่าทำได้หรือไม่ เพราะมีข้อจำกัดของรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าสามารถทำได้รัฐบาลก็ยินดี อย่างไรก็ตามเนื้อหาการออกพ.ร.ก.เป็นประเด็นสำคัญที่ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะออกอย่างไร กระบวนการการคัดเลือกผู้ที่จะมารับหน้าที่สภาปฏิรูปจะเอาใครมา และทุกคนต้องยอมรับว่าเวทีนี้เป็นกลางจริง เพราะวันนี้มีหลายทางเลือก ตามที่นักวิชาการเสนอแต่ยังไม่เคยมีการนำมาสรุป
ด้าน นายธงทอง กล่าวว่า การจัดตั้งองค์กรเพื่อทำหน้าที่การปฏิรูปหรือสภาปฏิรูปนั้น ได้เคยสอบถามไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาโดยมีการตั้งตุ๊กตาว่าจะออกเป็นพระราชกำหนดได้หรือไม่ ซึ่งมีคำตอบว่าน่าจะมีข้อจำกัดขัดข้อง เพราะเงื่อนไขการออกพระราชกำหนดจะต้องเป็นภาวะที่เร่งด่วนและฉุกเฉิน และที่สำคัญกระบวนการการออก พ.ร.ก.นั้นจะต้องผ่านความเห็นชอบของสภาและวุฒิสภา แต่วันนี้ยังไม่มี ซึ่งความเห็นของเลขาธิการกฤษฎีกาก็เกรงว่าหากมีการออก พ.ร.ก.จริงก็อาจมีคนไปร้องศาล รธน.สุดท้ายก็เดินต่อไปไม่ได้ แต่ที่นายกฯเสนอให้ออกเป็นคำสั่งสำนักนายกฯ เป็นอำนาจที่สามารถดำเนินการได้ในฐานะฝ่ายบริหาร และเมื่อมีรัฐบาลและ ครม.ใหม่ และจะขยับฐานะให้เป็นพระราชบัญญัติอีกทีหนึ่งก็สามาารถดำเนินการได้ ส่วนข้อเสนอของ 7 องค์กรธุรกิจและเครือข่ายตรวจสอบแล้วยังไม่ใช่ข้อสรุปของทั้งหมดแต่อาจจะเป็นข้อเสนอของบางคนเท่านั้น
เมื่อถามว่า ยืนยันได้หรือไม่การบริหารราชการแผ่นดินและการตัดสินใจในวันนี้ขึ้นอยู่กับนายกฯไม่ใช่พ.ต.ท.ทักษิณ นางสาวยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ไม่มีใครมีอำนาจเท่ากับประชาชนทั้งประเทศ ดังนั้นการเจรจาทั้งต้องให้แน่ใจว่ากลุ่มคนส่วนใหญ่เห็นด้วย ถือเป็นสิ่งสำคัญ ตนเองไม่สามารถที่จะไปรับปากแทนใครได้ แต่สิ่งที่เราทำคืออะไรที่เราทำในสิ่งที่เป็นหน้าที่เพื่อให้ประเทศมีความสงบเรายินดี คำตอบคือการพูดคุยทั้งหมด ต้องได้ความสงบกลับคืนมาสร้างความสามัคคีให้กับประเทศไทย
เมื่อถามว่า ระหว่างการปฏิรูปแล้วเลือกตั้งซึ่งใช้เวลานานกับเลือกตั้งแล้วไม่จบรัฐบาลจะเลือกทางใด นายกฯ กล่าวว่า ตนไม่ได้บอกว่าเลือกตั้งก่อนแล้วปฏิรูป แต่อยากเห็นการปฏิรูปทันที ซึ่งถ้าทำได้เสร็จก่อนเลือกตั้งตัวเองไม่ติดขัด แต่เนื่องด้วยมีพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. 57 จึงเสนอว่า ถ้าสามารถตกผลึกทางความคิดได้ก็ควรมีการตั้งสภาปฏิรูปก่อน ส่วนจะเสร็จเมื่อไรค่อยว่ากันไป แต่ถ้าไม่เดินเข้าสู่กระบวนการการเลือกตั้ง คำถามคือจะอยู่กันอย่างไร รัฐบาลจะบริหารประเทศอย่างไร เพราะแค่จะเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.ยังไม่สามารถบริหารประเทศ เศรษฐกิจ สังคมได้เลย เราได้แค่ติดตามงานเก่า เนื่องจากมีข้อจำกัดของรัฐธรรมนูญ รัฐบาลไม่ปฏิเสธความร่วมมือ แต่รัฐบาลก็ไม่สามารถทำงานเพียงคนเดียวได่ ดังนั้นเราพร้อมที่จะทำงานกับทุกภาคส่วน
เมื่อถามว่า นายกฯ เคยระบุว่าหลังวันที่ 10 ม.ค.จะตั้งสภาปฏิรูปได้แต่ถึงวันนี้ท่าทางจะไม่สำเร็จ นายกฯ กล่าวว่า เป็นเพียงตุ๊กตาที่ตั้งขึ้นเพื่อให้เห็นว่า ถ้าสามารถทำได้ก็จะมีการเดินหน้าต่อไป แต่เมื่อยังไม่มีการตกผลึกจะตั้งสภาปปฏิรูปได้อย่างไร เราไม่สามารถเดินโดยไม่ฟังเสียงใครไม่ได้ แต่สำหรับการเลือกตั้งต้องคุยกันว่าจะทำอย่างไรให้การเลือกตั้งผ่านไปด้วยดี สงบ และใช้กติกาที่มีอยู่โดยทุกฝ่ายต้องร่วมกันรักษาประชาธิปไตย
เมื่อถามว่า นายกฯ ยืนยันใช่หรือไม่ว่าจะเดินหน้าเลือกตั้งแม้จะเกิดเดทล็อคไม่สามารถเปิดสภาได้ แล้วรัฐบาลจะแก้ปัญหาอย่างไร น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า “ขออนุญาตแก้คำ ยืนยันเดินหน้าเลือกตั้ง ถือเป็นหน้าที่ที่เราจะทำงานและแก้ปัญหาร่วมกัน ถ้าติดขัดอะไรก็ต้องมาคุยกัน และอยากขอร้องทุกฝ่ายที่มีหน้าที่ ให้พยายามอย่างเต็มที่มาช่วยกันแก้ปัญหา และดิฉันไม่สามารถที่จะใช้คำว่าไม่สามารถเลื่อนการเลือกตั้งได้ เพราะการเลือกตั้งเป็นอำนาจหน้าที่ของ กกต.รัฐบาลมีหน้าที่ในการประสานงานและให้ความร่วมมือกับกกต. จะโยนให้รัฐบาลฝ่ายเดียวคงลำบาก รัฐบาลยินดีให้ความร่วมมือถ้าอยู่ภายใต้ที่กฎหมายกำหนด หรือกฎหมายที่เราทำได้ ส่วนกรณีที่ สตง.เสนอให้เลื่อนการเลือกตั้งนั้นก็ขอให้ผู้ที่มีความรู้มาช่วยแนะนำวิธีการ
เมื่อถามถึงที่กรณีข้าราชการระดับสูง โดยล่าสุดปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้แถลงให้ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง รัฐบาลจะสามารถดูแลให้ประชาชนใช้ชีวิตตามปกติสุขได้หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า หน้าที่ของข้าราชการทุกคนคือการทำงานและหน้าที่การทำงานของข้าราชการโดยเฉพาะกระทรวงสาธาณสุขคือการดูแลประชาชน รัฐบาลทำงานดูแลประชาชนกับทุกคนอยู่แล้ว วันนี้อย่าพยายามมองเหตุการณ์ข้างหน้าว่าอะไรจะเกิดขึ้นเลย เพราะจะทำให้เกิดการหวาดกลัวจะเดินหน้าไม่ได้ เราค่อยๆ มาแก้กันทีละส่วน และฟังความคิดเห็นควบคู่กันไป ต้องช่วยกันทำงานและประคับประคองบรรยากาศและการทำงานให้เดินหน้าไปได้ ถ้าทุกหน่วยงานไม่ทำงานแล้วใครจะดูแลประชาชน ดังนั้นข้าราชการต้องทำงาน ถ้าข้าราชการระดับสูงไม่ทำงาน แต่ตนเชื่อว่ายังมีคนพร้อมที่จะทำงานในการดูแลประชาชน
เมื่อถามถึงความชัดเจนว่าวันที่ 13 ม.ค.นายกฯ จะอยู่บัญชาการสถานการณ์ด้วยตัวเองที่กทม.หรือไม่รวมทั้งกระแสข่าวว่าจะย้าย ศอ.รส.จาก สตช.ไปที่โรงเรียนนายร้อยสามพราน นายกฯ กล่าวว่า ตนจะติดตามสถานการณ์ด้วยตัวเอง ในส่วนของ ศอ.รส.ก็ยังตั้งอยู่ที่ สตช.เช่นเดิม
“ดิฉันก็ได้มีการติดตามการปราศรัยของนายสุเทพ และแกนนำ กปปส.เป็นระยะๆ และฟังจากการสรุป ซึ่งเท่าที่ฟังก็ดูเหมือนว่าทางกปปส. เขาเรียกร้องในทุกๆ ข้อ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปและการไล่คนในตระกูลชินวัตร” นายกฯ กล่าว
ขณะที่ นายสุรพงษ์ กล่าวถึงมาตรการดูแลประชาชนและรับมือการชุมนุมของกลุ่ม กปปส.ในวันที่ 13 ม.ค.ว่า ศอ.รส.อยากให้ประชาชนใช้ชีวิตตามปกติ ศอ.รส.จะอำนายความสะดวก รักษาความปลอดภัย กรณีที่ประชาชนเดินทางไม่สะดวก จะมีขั้นตอนต่างๆ ในการอำนายความสะดวกให้ ประชาชนกลุ่มไหนได้รับความเดือดร้อนในเรื่องของการรักษาพยาบาล ก็ได้เตรียมความพร้อมหน่วยงานในการดูแล การพยาบาลฉุกเฉินไว้บริการ ขอให้ทุกคนดำเนินชีวิตตามปกติ อย่าไปกังวลเรื่องการประท้วง เพราะผู้ชุมนุมยืนยันว่าจะไม่ทำให้เกิดความเดือดร้อน และเชื่อมั่นว่าวันที่ 13 ม.ค.จะผ่านไปได้ด้วยดี ความวุ่นวายจะไม่เกิดขึ้น เพราะผู้ชุมนุมยืนยันว่าจะชุมนุมโดยปราศจากอาวุธ ส่วนที่ประกาศว่าไม่ต้องการให้ข้าราชการไปทำงานนั้นคงเป็นไปไม่ได้ เพราะข้าราชการทุกคนเป็นข้าฯ ของแผ่นดิน ต้องให้บริการประชาชน ข้าราชการทุกคนต้องรับใช้ประเทศชาติ ไม่ใช่มารับใช้พรรคการเมืองหรือรัฐบาลต้องทำหน้าที่รับใช้ประชาชนและบ้านเมืองทุกคนจึงมีหน้าที่รับใช้ประชาชนตามปกติ และทุกคนต้องเข้าทำงานตามปกติ
ในส่วนการรักษาความปลอดภัย นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ศอ.รส.ได้เตรียมกำลังไว้ในลักษณะของกองกำลังผสม ทั้งทหารและตำรวจ โดยมีทหารประมาณ 8 พันนาย ตำรวจกว่าหมื่นนาย รวมแล้วมีเจ้าหน้าที่ 2 หมื่นนาย ในการดูแลให้ความสะดวกและบริการประชาชน
ด้าน พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวยอมรับว่า จากการข่าวเป็นห่วงสถานการณ์เกี่ยวกับมือที่สาม ที่จะเข้ามาก่อเหตุ ซึ่งทาง สตช.ได้มีมาตรการในการดูแลและควบคุมในเรื่องของอาวุธต่างๆ ซึ่งจะมีการตั้งจุดตรวจที่เข้มแข็งขึ้นมาอีกหลายจุดทั้งนี้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีมาตราการดูแลคุมเข้มสถานที่ราชการ เลยอยากให้ย้อนดูบทเรียนวันที่ 26 ธ.ค.ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้พยายามรักษาพื้นที่ และกฎหมาย ซึ่งเจ้าหน้าที่พยายามใช้หลักกฎหมายในการดำเนินการ และขั้นตอนปฏิบัติที่เป็นธรรมในการดูแล ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่มีอาวุธ จะใช้หลักการเจรจา มาตรการด้านการสืบสวน และดำเนินคดีกับแกนนำและเรามีมาตรการในการดูแลสถานที่ราชการอย่างเต็มที่อยู่แล้ว