APM ปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ เร่งเครื่องบุก CLMV เต็มสูบรับเปิด AEC
|
|
“แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์” ดินหน้าจัดทัพองค์กรครั้งใหญ่ โดยแต่งตั้ง “เสกสรรค์ ธโนปจัย-สมศักดิ์ ศิริชัยนฤมิตร และไพบูลย์ อรุณประสบสุข” ดูแลและรับผิดชอบงานทางด้าน IPO การออกตราสารทุน การกู้ยืมเงิน การปรับโครงสร้างหนี้ งานที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ รวมถึงธุรกิจในกลุ่มประเทศ CLMV ที่บริษัทมีแผนที่เจาะตลาดที่ปรึกษาทางการเงิน ทั้งนี้ เพื่อรองรับการเติบโตอย่างยั่งยืน และการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในปลายปี 2558
นายสมภพ ศักดิ์พันธ์พนม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด หรือ APM เปิดเผยถึงแผนธุรกิจในปี 2557 เพื่อรองรับการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต และการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในปลายปี 2558 โดยบริษัทได้ปรับโครงสร้างองค์ใหม่เพื่อให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น
สำหรับการปรับโครงสร้างองค์กรในครั้งนี้ ได้มีการแต่งตั้ง นายเสกสรรค์ ธโนปจัย นายสมศักดิ์ ศิริชัยนฤมิตร และนายไพบูลย์ อรุณประสบสุข ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ซึ่งจะดูแลและรับผิดชอบงานทางด้านการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) การออกตราสารทุน ตราสารหนี้ การปรับโครงสร้างหนี้ การกู้ยืมจากสถาบันการเงิน งานที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ (IFA) รวมถึงงานต่างประเทศที่บริษัทมีแผนขยายธุรกิจไปยัง 4 ประเทศกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งได้แก่ สปป.ลาว พม่า กัมพูชา และเวียดนาม
“ผู้บริหารทั้ง 3 ท่านถือว่าเป็นผู้ร่วมบุกเบิก และก่อตั้งบริษัท APM มา รวมถึงเป็นที่รู้จักของทุกท่านเป็นอย่างดี ซึ่งจากประสบการณ์ดังกล่าวทำให้มีความเชี่ยวชาญ ชำนาญในธุรกิจให้บริการที่ปรึกษาทางการเงิน นอกจากนี้ ยังมีจุดเด่นที่สำคัญคือ ทั้ง 3 ท่านสามารถทำงานร่วมกัน และสนับสนุนงานของกันได้เป็นอย่างดี ดังนั้น จึงมั่นใจว่าการปรับโครงสร้างองค์กรในครั้งนี้จะทำให้เกิดความคล่องตัว และเป็นจุดเริ่มต้นของการเติบโตอย่างยั่งยืนของบริษัทในอนาคต” นายสมภพ กล่าว
สำหรับธุรกิจในประเทศไทยบริษัทยังคงมุ่งเน้นในการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้แก่ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ และ SMEs โดยถือว่าเป็นการสนับสนุนการทำงานของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ผ่านโครงการ “หุ้นใหม่ความภูมิใจของจังหวัด” เพื่อให้ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ และ SMEs มีทางเลือกทางด้านแหล่งทุน ทั้งทางด้านตราสารทุน และตราสารหนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมต่อการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในปลายปี 2558
นอกจากนี้ บริษัทยังตั้งหน่วยงาน “APM Finance and Capital Market @Bangkok” ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จะรับผิดชอบการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการเงินธุรกิจและตลาดทุน ให้แก่ผู้ประกอบการในประเทศ ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการมีความรู้ความเข้าใจด้านการเงิน และตลาดทุนเพิ่มมากขึ้น และเชื่อว่าจะก่อให้เกิดผลดีต่อภาพรวมของตลาดทุนในประเทศไทย
สำหรับธุรกิจในต่างประเทศบริษัทมีเป้าหมายขยายธุรกิจไปยังกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งได้แก่ สปป.ลาว พม่า กัมพูชา และเวียดนาม โดยเมื่อกลางปี 2556 บริษัทได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทหลักทรัพย์ เอพีเอ็มลาว จำกัด หรือ APM (LAO) Securities ปัจจุบันบริษัทได้รับการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาทางการเงินแล้ว จำนวน 2 บริษัท คือ กลุ่มบริษัท สุกสมบูน จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจปูนซีเมนต์ และบริษัท ปิโตรเลียม เทรดดิ้ง ลาว จำกัด ดำเนินธุรกิจสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศและคาดว่าจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ลาว (LSX) ได้ในปลายปี 2557
“ธุรกิจใน สปป.ลาวมีทิศทางที่ดี และเพื่อรองรับบทบาทที่ปรึกษาทางการเงินใน สปป.ลาว ดังนั้น ตั้งแต่เดือนมกราคม บริษัทจึงได้รับพนักงานเพิ่มโดยจะมีพนักงานคนลาวทั้งหมด 12 คน และพนักงานคนไทย 5 คน ซึ่งเพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน ขณะเดียวกัน ในปีนี้บริษัทมีแผนงานในการให้ความรู้เกี่ยวกับการเงินธุรกิจ และตลาดทุนให้แก่ผู้ประกอบการในแขวงต่างๆ ในสปป.ลาว เช่น สุวรรณเขต คำม่วน หลวงพระบาง และอัตปือ เพื่อให้ผู้ประกอบการใน สปป.ลาวมีการตื่นตัว และมีการความพร้อมในการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ลาวในอนาคต” นายสมภพ กล่าว
ทางด้านประเทศพม่า บริษัทได้เข้าไปศึกษาข้อมูล และดูช่องทางในการดำเนินธุรกิจตั้งแต่เมื่อปี 2555 และคาดว่าต้นปี 2557 จะมีการจัดตั้งบริษัทให้คำแนะนำทางด้านที่ปรึกษาทางการเงินแก่ผู้ประกอบการทั้งไทย และต่างประเทศ โดยเบื้องต้นมีการเจรจากับผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจทางด้านพลังงาน และสาธารณูปโภคทางด้านน้ำ เช่น ระบบบำบัดน้ำเสียและน้ำประปา ขณะเดียวกัน ในช่วงกลางปีและปลายปี 2557 บริษัทจะเข้าไปศึกษาข้อมูล และช่องทางในการดำเนินธุรกิจที่ปรึกษาทางการเงิน และการลงทุนในประเทศกัมพูชา และเวียดนามในลำดับต่อไป
ปัจจุบัน บริษัทมีการให้บริการทางด้านการเงินแบบครบวงจร เช่น ที่ปรึกษาทางการเงินสำหรับประสานงานจัดหาแหล่งเงินกู้ (Loan Arranger) ที่ปรึกษาทางการในการประสานงานจัดหาผู้ร่วมทุน (Joint Venture) ที่ปรึกษาทางการเงินสำหรับการควบรวมกิจการ (Merger and Acquisition) ที่ปรึกษาทางการเงินสำหรับการปรับโครงสร้างหนี้ (Debt Restructuring) และที่ปรึกษาทางการเงินสำหรับการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (FA for Listing/IPO)