ม.ขอนแก่น วิจัยเชิงลึก

ม.ขอนแก่น วิจัยเชิงลึก ลาว-พม่า กินอยู่อย่างไร ปูทางหนุนSMEs
ภาพบรรยกาศในงานสัมมนา
       จากการที่ประเทศไทย และประเทศในภูมิภาคอาเซียน ทั้ง 10 ประเทศ กำลังจะก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน AEC ในปี 2558 สิ่งที่คนไทย โดยเฉพาะนักธุรกิจไทย ควรจะได้เรียนรู้เรื่องราวของประเทศเพื่อนบ้านทั้ง 10 ประเทศ ในทุกเรื่อง เพื่อจะได้รู้ว่า เราควรจะต้องปฎิบัติตัวอย่างไร เมื่อเวลานั้นมาถึง โดยเฉพาะในเรื่องของการค้า และการลงทุน 
       
       ดังนั้น หน่วยงานส่งเสริมเอสเอ็มอี ได้แก่ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ซึ่งมีหน้าที่ในการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จึงได้ มอบหมายให้ทางศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดเวทีสัมมนา เรื่อง “ส่องผู้บริโภค ลาว-เมียนมาร์ อยู่อย่างไร กินอย่างไร” เมื่อเร็วนี้
       
       สำหรับการจัดสัมมนาในครั้งนี้ ได้รับเกียรติ จากนางลักขณ ตั้งจิตนบ ผู้อำนวยการสำนักด้านการต่างประเทศ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เป็นประธาน
       
       ศูนย์วิจัยธุรกิจอีสาน ม.ขอนแก่น ลงพื้นที่ฝั่งตัว วิจัยเชิงลึก 
       
       ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ รองคณบดีฝ่ายแผนและประกันคุณภาพ กล่าวรายงานถึงการจัดสัมมนาในครั้งนี้ว่า การสัมมนา “ส่องผู้บริโภค ลาว-เมียนมาร์ อยู่อย่างไร กินอย่างไร” เป็นความไว้วางใจจาก สสว. ที่มอบหมายให้ ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน คณะวิทยาการจัดการ เป็นคณะทำงานโครงการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคในประเทศอาเซียน+6 ระยะที่ 2
       
       โดยทีมงานได้ลงพื้นที่รวบรวมข้อมูลจากผู้บริโภคตัวจริง และฝังตัวในพื้นที่กว่า 6 เดือน (Survey Behavior) อีกทั้งได้ทำงานร่วมกันกับนักศึกษาในประเทศลาว และเมียนมาร์ ที่ทางมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้มีการลงนามความร่วมมือกันกับมหาวิทยาลัยในพื้นที่ เพื่อเจาะข้อมูลเชิงลึกซึ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อการทำธุรกิจด้านอาหาร ด้านการตกแต่งบ้านและที่อยู่อาศัย
       
       ทั้งนี้ ได้นำเสนอผลการวิจัยผ่านเวทีสัมมนาจากนักวิจัยรุ่นใหม่ 2 ท่าน คือ นายศุภกร ศิริสุนทร และ นางสาวชลธิชา วีระพันธ์ และการเสวนา“กูรูชี้ช่องธุรกิจ อาหารและของแต่งบ้านในตลาดลาว - เมียนมาร์” ผ่านมุมมองผู้ประกอบการ อาทิ คุณกรรณิการ์ ชินประสิทธิ์ชัย ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและการสื่อสารตราสินค้า บริษัท แบล็คแคนยอน (ประเทศไทย) จำกัด คุณณรงค์กร จิตถาวรกุล อุปนายกสมาคมของขวัญของชำร่วยไทยและของตกแต่งบ้าน เจ้าของแบรนด์ VORAWAN คุณธนัทธรรมม์ กัณหะวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ Make IT Happen International จำกัด
 
ม.ขอนแก่น วิจัยเชิงลึก ลาว-พม่า กินอยู่อย่างไร ปูทางหนุนSMEs
ผู้เข้าร่วมเวทีแลกเปลี่ยนสัมมนาในครั้งนี้
       ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างมหาวิทยลัยไทย - ลาว - พม่า 
       
       รศ.ดร.กัลปพฤกษ์ ผิวทองงาม คณบดีคณะวิทยาการจัดการ เผยว่า การเก็บข้อมูลในพื้นที่ประเทศที่เปิดใหม่ ถือเป็นความท้าทายในการทำงานวิจัย โดยเฉพาะการสำรวจข้อมูลจากผู้บริโภคในพื้นที่ที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรม และมุมมองแนวคิด คณะทำงานโครงการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคในประเทศอาเซียน+6 ระยะที่ 2 ได้รับความร่วมมืออันดีจากมหาวิทยาลัยในพื้นที่อันมีการการลงนามความร่วมมือระหว่างกันทำให้ได้มีการเปิดโอกาสให้นักศึกษาทั้งลาวและเมียนมาร์เข้ามาเรียนรู้การทำงานวิจัยในรูปแบบพฤติกรรมผู้บริโภค ซึ่งนักศึกษาทั้งสองประเทศมีความกระตือรือร้นในการเก็บข้อมูล และมีความพร้อมในการใช้เทคโนโลยีในการทำงานเป็นอย่างดี ทำให้ได้รับผลการวิจัยออกมา และเมื่อได้มีการผลงานวิจัยนี้ในประเทศไทยแล้ว ทางศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสานได้ส่งข้อมูลกลุ่มผู้บริโภคชาวไทย ลาว เมียนมาร์ ให้กับกลุ่มนักศึกษาในโครงการฯ เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกันอีกด้วย
       
       สำหรับการนำเสนอข้อมูลในครั้งนี้เป็นที่น่าสนใจอย่างมากต่อผู้ประกอบการที่หวังจะไปลงทุนในทั้ง 2 ประเทศ และสามารถตอบโจทย์เพื่อนำไปประกอบการตัดสินใจในการลงทุนของผู้ประกอบการSMEs โดยการทำการวิจัยในครั้งนี้ได้ใช้งบประมาณร่วมกันระหว่าง สสว. และ มข. ถึง 7 ล้านบาท ดังนั้นขอเชิญชวนผู้ประกอบการที่สนใจได้เข้ามาใช้ข้อมูลในส่วนต่างๆ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย คณบดีคณะวิทยาการจัดการ กล่าวในที่สุด
       
       ลูกชิ้นปลาอากู๋ ร่วมเวทีรับฟังก่อนเปิดตลาด ลาว
       
       นายคมพิศิษฐ์ รัชตกาญเจตมาศ เจ้าของกิจการลูกชิ้นปลาอากู๋ หนึ่งในผู้เข้าร่วมสัมมนา กล่าวว่า ประกอบธุรกิจลูกชิ้นปลามาตั้งแต่รุ่นคุณแม่ และในสองปีที่ผ่านมาได้มีการขยายธุรกิจในรูปแบบเฟรนไชน์ 12 สาขา ทั่วประเทศ และมีแนวโน้มที่จะกระจายตลาดออกไปในประเทศเพื่อนบ้านโดยมีลูกค้าทาง สปป.ลาว สนใจที่จะนำสินค้าไปขาย ดังนั้นการเข้าร่วมรับฟังข้อมูลในการสัมมนาในวันนี้ทำให้ผู้ประกอบการได้ทราบข้อมูลพฤติกรรมของผู้บริโภคโดยไม่ต้องลงพื้นที่เอง อีกทั้งมองเห็นโอกาสเติบโตทางธุรกิจทางด้านอาหารที่น่าสนใจในหลายด้าน ทำให้มั่นใจในการลงทุนและหวังว่าภายใน 3 ปี จะได้เข้าไปลงทุนใน สปป. ลาว
       
 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ manager.co.th ดูทั้งหมด

280

views
Credit : manager.co.th


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน