ศ.ศ.ป.ตั้งเป้าส่งออกหัตถกรรมปี 57 โต 4% เป็นห่วงการเมืองวุ่น ท่องเที่ยวหด ฉุดยอดขายในประเทศ
|
||
ศ.ศ.ป.คาดส่งออกสินค้าหัตถกรรมปีนี้โตแค่ 0.14% เหตุตลาดยุโรปลด ญี่ปุ่นนิ่ง แม้สหรัฐฯ กับอาเซียนจะโตก็ตาม คาดปี 57 พลิกกลับมาโต 4% หลังเศรษฐกิจผู้ซื้อฟื้นตัว ห่วงการเมืองไม่นิ่ง ทำท่องเที่ยวชะงัก กระทบยอดขายสินค้าในประเทศ
นางพิมพาพรรณ ชาญศิลป์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ ศ.ศ.ป. เปิดเผยว่า ในปีนี้ ศ.ศ.ป.ตั้งเป้าหมายส่งออกสินค้าหัตถกรรมมูลค่า 898 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 4% แต่ในช่วง 10 เดือนของปี 2556 (ม.ค.-ต.ค.) ส่งออกได้เพียง 683.1 ล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าปีนี้การส่งออกทำได้มูลค่า 815 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น ขยายตัวเพียง 0.14% เพราะการส่งออกไปตลาดหลักอย่างยุโรปในช่วง 10 เดือน ลดลง 2% ญี่ปุ่นไม่ขยายตัว สหรัฐฯ เพิ่ม 1% อาเซียนเพิ่มถึง 15% สินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เครื่องเงินเครื่องทอง 444.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือ 270.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หัตถกรรม 74.4 ล้านเหรียญสหรัฐ และเซรามิก 25.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่มูลค่าการค้าสินค้าหัตถกรรมในประเทศคาดว่าจะมีมูลค่ากว่า 50,000 ล้านบาท หรือมากกว่ามูลค่าส่งออกเกือบ 2 เท่าตัว
สำหรับปี 2557 ศ.ศ.ป.ตั้งเป้ามูลค่าการค้าส่งออก 846 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 4% เพราะคาดเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น น่าจะดีขึ้น และมีคำสั่งซื้อล่วงหน้ามาแล้วถึงกลางปี 2557
ทั้งนี้ กลยุทธ์ที่จะนำมาใช้ดำเนินการจะเน้น 4 กลยุทธ์ คือ 1. พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่รักษ์สิ่งแวดล้อม เน้นผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับข้าว และวัฒนธรรมการกินอยู่ของไทย เช่น ของใช้บนโต๊ะอาหารและของตกแต่ง โดยเน้นตลาดญี่ปุ่น 2. การพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมสมัยจากวิถีชนเผ่า เช่น เครื่องตกแต่งร่างกาย กระเป๋า ผ้าพันคอ 3. พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เน้นงานเชิงช่างชั้นสูง ดึงเอกลักษณ์ความเป็นไทย เช่น รำละคร ลิเก มาออกแบบเป็นผลิตภัณฑ์ตกแต่งภายในสำหรับโรงแรม รีสอร์ต ที่พักอาศัย ร้านอาหาร และ 4. ประกวดผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมเชิงสร้างสรรค์ และยังจะจัดทำแนวโน้มตลาดงานหัตถศิลป์ เช่นเดียวกับเสื้อผ้า ทั้งเทรนด์สี การออกแบบ ความต้องการตลาด โดยจัดทำเป็นเทรนด์บุ๊กออกเผยแพร่ด้วย
นางพิมพาพรรณกล่าวว่า การชุมนุมทางการเมืองที่เริ่มต้นตั้งแต่เดือน ต.ค. 2556 จนถึงปัจจุบันมีผลกระทบต่อภาวะการท่องเที่ยวของไทยบ้าง แต่ไม่ได้ทำให้ยอดการค้าสินค้าหัตถกรรมของไทยลดลง หรือได้รับผลกระทบตามไปด้วย โดยจากการสอบถามสมาชิกของ ศ.ศ.ป. ซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้า ส่วนใหญ่ไม่กังวลกับการชุมนุมประท้วงทางการเมือง และยอดขายยังไม่ลดลงมากนัก เพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติยังมาเที่ยวไทย เพียงแต่เปลี่ยนจุดหมายจากกรุงเทพฯ ไปยังจังหวัดอื่นๆ แทน
อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจุบันการชุมนุมทางการเมืองจะยังไม่ส่งผลกระทบต่อภาวะการค้าสินค้าหัตถกรรมภายในประเทศและการส่งออกไปต่างประเทศ แต่หากสถานการณ์ยืดเยื้อ การเมืองยังไม่นิ่งถึงกลางปี 2557 จนทำให้การท่องเที่ยวชะงักก็จะกระทบต่อสินค้ากลุ่มนี้ เพราะเป็นสินค้าที่ผูกติดกับการท่องเที่ยวเป็นหลัก แต่ในแง่ดี การส่งออกสินค้ากลุ่มนี้จะเพิ่มรวดเร็วอีกครั้งเมื่อเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 ที่อาจมีโอกาสที่มูลค่าจะเพิ่มเป็นพันล้านเหรียญสหรัฐได้