จีนผ่อนนโยบายลูกคนเดียวหนุนเศรษฐกิจ 

จีนตัดสินใจผ่อนคลายนโยบายคนเดียว เปิดทางให้ครอบครัวชาวจีนสามารถมีลูกคนที่ 2 ได้ คาดเด็กที่เพิ่มขึ้นต่อปี ช่วยหนุนยอดขายสินค้า-บริการ

จีนตัดสินใจผ่อนคลายนโยบายคนเดียว เปิดทางให้ครอบครัวชาวจีนสามารถมีลูกคนที่ 2 ได้ คาดเด็กที่เพิ่มขึ้นต่อปี ช่วยหนุนยอดขายสินค้า-บริการ

 


ปฏิกิริยาแรกที่เกิดขึ้น หลังทางการจีนประกาศผ่อนคลายนโยบายลูกคนเดียว ก็คือ ความตื่นเต้นถึงการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ แต่สิ่งที่ตามมาจากนั้น คือ ความวิตกถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างมากต่อเศรษฐกิจ

จีนตัดสินใจถึงการผ่อนคลายนโยบายดังกล่าว ระหว่างการประชุมครั้งที่ 3 ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดที่ 18 โดยเปิดทางให้ครอบครัวชาวจีนสามารถมีลูกคนที่ 2 ได้ หากพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งมีสถานะเป็นลูกคนเดียวของครอบครัวตนเองมาก่อน ขณะที่กฎเกณฑ์ปัจจุบัน อนุญาตให้ครอบครัวที่ทั้งพ่อและเเม่เป็นลูกคนเดียว จึงจะสามารถมีลูกคนที่ 2 ได้

เมอร์ริล ลินช์ ประเมินว่า การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นในเขตเมืองที่ประชากรมีฐานะอาศัยอยู่ เพราะครอบครัวจำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่งที่อาศัยอยู่บริเวณดังกล่าว มีประชากรผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์ที่เป็นลูกคนเดียวและสามารถมีลูกเพิ่มได้

ข้อสันนิษฐานดังกล่าว เป็นเหตุให้ผู้เชี่ยวชาญด้านประชากรศาสตร์หลายคนคาดการณ์ว่า ผลลัพธ์จากกฎเกณฑ์ใหม่นี้ จะทำให้แผ่นดินมังกรมีทารกแรกเกิด เพิ่มขึ้นจำนวนมากในช่วง 2 - 3 ปีแรกของการใช้ข้อบังคับใหม่ เหตุผลหลักมาจาก หลายครอบครัวต้องการมีลูกคนที่ 2 มานานแล้ว และพ่อแม่หลายคนเริ่มมีอายุมากขึ้น

นายเจมส์ เหลียง ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ผู้สนับสนุนให้ยกเลิกนโยบายลูกคนเดียวมาโดยตลอด ประเมินว่า จะมีเด็กเกิดใหม่เพิ่มขึ้นปีละประมาณ 2 - 3 ล้านคน ในช่วงกฎเกณฑ์ใหม่ประกาศใช้ 2 - 3 ปีแรก แต่หากทางการยกเลิกข้อกำหนดทั้งหมด จะมีทารกเพิ่มขึ้น 3 - 5 ล้านคนต่อปีเลยทีเดียว

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์บางรายชี้ว่า ประเทศที่มีประชากรมหาศาลถึง 1,300 ล้านคน อย่างจีนนั้น การที่ทารกเกิดใหม่เป็นจำนวนมาก หรือที่เรียกกันว่า เบบี้บูมนั้น ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ด้านประชากรศาสตร์ดีขึ้นแต่อย่างใด เห็นได้จากการที่จำนวนประชากรวัยทำงานจะมีสัดส่วนลดลงในช่วงขวบปีข้างหน้า ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องไปที่ระบบบำเหน็จบำนาญและระบบดูแลสุขภาพ

นอกจากนั้น ด้วยเหตุที่ผู้คนทั่วทุกแห่งหนบนโลกใบนี้ ไม่เว้นแม้แต่ที่จีน ต่างก็มีพฤติกรรมที่เหมือนกันอยู่ประการหนึ่ง นั่นคือ เมื่อมีฐานะดีขึ้น พวกเขาจะเลือกมีทายาทน้อยลง ไม่ว่าจะมีกฎเกณฑ์บังคับหรือไม่ก็ตาม

ก่อนหน้านี้ สถาบันสังคมศาสตร์แห่งเซี่ยงไฮ้ เคยสำรวจไว้เมื่อปี 2548 ว่า ค่าเลี้ยงดูเด็กคนหนึ่ง จากทารกในเปล จนกระทั่งก้าวเท้าสู่รั้วอุดมศึกษาคิดเป็นจำนวน 79,000 ดอลลาร์ รวมทั้งค่าอาหาร ค่าธรรมเนียมการศึกษา และค่าใช้จ่ายดูแลสุขภาพ แม้ค่าใช้จ่ายเหล่านี้จะเพิ่มขึ้นในปัจจุบัน

แต่เมื่อคำนวณโดยใช้ข้อมูลในปีดังกล่าวเป็นฐาน และเด็กทารกแรกเกิดจะเพิ่มขึ้นอีก 10 ล้านคน ในอีก 5 ปีข้างหน้า พบว่า ค่าใช้จ่ายอุปการะเด็กจนเติบโตจะสูงถึง 790,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นการประเมินที่ค่อนข้างต่ำกว่าสภาพความเป็นจริง

กระนั้นก็ตาม การผ่อนคลายดังกล่าว ทำให้นักลงทุนพากันเข้าลงทุนซื้อหุ้นในกิจการที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากนโยบายเพิ่มทายาท อาทิ ธุรกิจผลิตผ้าอ้อมเด็กและนมผงสำหรับทารก พร้อมกับที่ครอบครัวต่างๆ เตรียมพร้อมต้อนรับสมาชิกตัวน้อยคนใหม่ด้วยการขยับขยายบ้านและรถยนต์ให้มีเนื้อที่มากขึ้น อันหมายถึงการซื้อบ้านหลังใหญ่ขึ้น และรถยนต์คันใหญ่ขึ้นนั่นเอง

นายเหลียงให้ความเห็นว่า การลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตที่เกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมกับเด็ก มาจากความคาดหวังว่าปริมาณความต้องการสินค้าและบริการในอนาคตจะขยายตัวสูงขึ้น

ทั้งนี้ รัฐบาลจีนกล่าวว่า เตรียมมาตรการหลากหลายมาตรการเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาทารกแรกเกิดปริมาณมหาศาลในเวลาอันสั้น ซึ่งหนึ่งในนั้นอาจมีมาตรการด้านการเงินอยู่ด้วย แต่ครอบครัวในเมืองใหญ่จำนวนมากต่างมีความสามารถในการแบกรับภาระเลี้ยงดูทารกตัวน้อยที่ต้องลืมตามาดูโลกได้เช่นกัน

ค่าใช้จ่ายเลี้ยงดูเด็กที่เพิ่มขึ้นมา ย่อมหมายความถึงปริมาณเงินออมในธนาคารและการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ต้องลดลงโดยปริยาย แต่พ่อแม่หลายคนรู้สึกว่าการเสียสละเพื่อลูกนั้นมีค่าเสมอ ตัวอย่างเช่น นางดอนน่า วัน ผู้ที่กำลังจะมีลูกน้อยคนที่ 2 ในอีก 2 เดือนนี้ ระบุว่า ครอบครัวของเธอคงสมบูรณ์แบบ เมื่อมีลูกชายและลูกสาวอย่างละคน

"ฉันต้องการลูกอีกคนหนึ่งมากกว่าห้องในอพาร์ทเมนท์ใหม่ซะอีก" นางวันกล่าว และแม้ว่าครอบครัวเธอจะไม่ได้คาดหวังให้ลูก ๆ ต้องเลี้ยงดูในยามแก่เฒ่า แต่เธอมองว่า ชีวิตคู่คงจะมีความสุขมากขึ้น ที่ได้เลี้ยงดูลูกให้เติบใหญ่เป็นคนดีของสังคม

ก่อนหน้านี้ หญิงจีนจำนวนไม่น้อยต้องพยายามหาหนทางมีบุตรเพิ่ม ยอมทำผิดจากกฎที่ทางการกำหนดให้มีลูกคนเดียวในครอบครัว ด้วยการเดินทางไปคลอดลูกคนที่ 2 ที่ฮ่องกง แคลิฟอร์เนีย และเเม้กระทั่งที่เกาะไซปัน ดินแดนของสหรัฐในบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก เนื่องจากค่าปรับของการทำผิดกฎด้วยการมีลูกคนที่สองบนแผ่นดินจีนนั้น สูงถึง 4 เท่าของรายได้รายปีในครอบครัว ซึ่งจะถูกเรียกเก็บทันทีที่แจ้งข้อมูลการอยู่อาศัยของทารกใหม่ ซึ่งการเลือกคลอดลูกคนที่สองนอกแผ่นดินมังกร จึงไม่ต้องจ่ายค่าปรับดังกล่าวแต่บรรดาบุพการีของเด็กเหล่านี้ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการศึกษาในอัตราที่สูงกว่า พร้อมกับที่ไม่สามารถส่งลูกเข้าเรียนในโรงเรียนเอกชนด้วยเช่นกัน

แถลงการณ์หลังการประชุมครั้งล่าสุดของศูนย์กลางการปกครองของจีน ต้องการให้ภาคเอกชนมีบทบาทในการตัดสินใจเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศเพิ่มมากขึ้น ซึ่งบรรดาผู้กำหนดนโยบายหลังม่านไม้ไผ่เห็นว่า การยกเลิกกฎการมีลูกคนเดียวในครอบครัวจะเป็นการเริ่มต้นที่ดีในการกระตุ้นให้เศรษฐกิจกลับมาเติบโตอย่างร้อนแรงอีกครั้ง

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ bangkokbiznews.com ดูทั้งหมด

218

views
Credit : bangkokbiznews.com


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน