“แม็ค” หวนคืนกวดวิชาขยายฐาน จ่อเข้าตลาดหุ้นรุกอาเซียน-นิวมีเดีย
|
|
“แม็ค” ปัดฝุ่นครั้งใหญ่รอบ 30 ปี หวนคืนบัลลังก์สถาบันกวดวิชา อัดงบการตลาด 40 ล้านบาทขยายฐานสู่กลุ่มเด็กกลางห้องมากขึ้น เตรียมแต่งตัวเข้าตลาด MAI อีก 3 ปีหวังระดมทุนบุกอาเซียน ชูความเป็นเอดูเคชัน โซลูชัน โพรวายเดอร์
นายคมพิชญ์ พนาสุภน กรรมการบริษัท แม็คเอ็ดดูเคชั่น จำกัด เปิดเผยว่า สำนักพิมพ์แม็คอยู่ในตลาดให้บริการด้านการศึกษามากว่า 40 ปี โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาพบว่าการแข่งขันในกลุ่มสถาบันกวดวิชารุนแรงมากขึ้น ซึ่งทางแม็คไม่ได้ให้ความสำคัญต่อกลุ่มธุรกิจนี้มากนักแต่เน้นในส่วนของหนังสือเรียนเป็นหลัก ทำให้ปัจจุบันรายได้หลักกว่า 60-65% มาจากกลุ่มหนังสือเรียนระดับ ม.ต้น และ ม.ปลาย ซึ่งแม็คอยู่ในอันดับ 4 ของตลาด ที่เหลือมาจากคู่มือเตรียมสอบ 10% สถาบันกวดวิชา 10% และอื่นๆ รวมกันอีก 15%
ล่าสุดบริษัทพร้อมใช้งบการตลาดเพิ่มขึ้น 50% จากปกติใช้ปีละ 20 ล้านบาท สำหรับจัดกิจกรรมทางการตลาด รุกสื่อโฆษณามากขึ้นเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มผู้ใช้บริการโดยตรงทั้งพ่อแม่ ผู้ปกครอง และขยายฐานสู่กลุ่มนักเรียนเด็กกลางห้องมากยิ่งขึ้น จากเดิมที่จะเน้นอบรมครูอาจารย์เป็นหลัก พร้อมนำเสนอสื่อใหม่ๆ เข้ามาเสริมทัพ เช่นนิตยสารแจกฟรีชื่อ ISMART JUZZ เริ่มกลางเดือน ม.ค.ปีหน้า แบบรายปักษ์ ยอดพิมพ์ 1 แสนเล่มต่อปักษ์ ตามโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ รวมถึงให้ความสำคัญต่อสถาบันกวดวิชาอีกครั้ง
โดยจะนำเสนอสื่อการเรียนการสอนรูปแบบใหม่แบบมัลติมีเดียมากขึ้น พร้อมขยายเพิ่มปีละ 1-2 แห่ง จากปัจจุบันมีสถาบันกวดวิชาแม็ค 28 สาขาทั่วประเทศในรูปแบบแฟรนไชส์ทั้งหมด
นายคมพิชญ์กล่าวด้วยว่า ตามแผนการดำเนินงานครั้งนี้ จากเดิมที่จำกัดอยู่แค่สื่อสิ่งพิมพ์จะรุกมาทางสื่อมัลติมีเดียมากยิ่งขึ้น เพื่อก้าวสู่การให้บริการด้านการศึกษาแบบครบวงจรสู่ความเป็นเอดูเคชัน โซลูชัน โพรวายเดอร์ โดยภายใน 3 ปีข้างหน้าบริษัทเตรียมเข้าตลาดหลักทรัพย์ MAI เพื่อต้องการระดมทุนสำหรับการขยายธุรกิจไปสูระบบ LMS หรือ Learning Management System คาดว่าต้องใช้เม็ดเงินในการลงทุนหลักร้อยล้านบาทขึ้นไป ซึ่งแผนการลงทุนครั้งนี้จะใช้รุกสู่ตลาดการศึกษาในระดับอาเซียนด้วย
โดยในระดับอาเซียนนั้นได้เริ่มพูดคุยกับบางประเทศแล้ว เช่น ลาว ที่เตรียมเข้าไปลงทุนตั้งสำนักงานสถาบันการศึกษา และร่วมกับภาครัฐของที่นั่นพัฒนาสถาบันการศึกษาในระดับ ปวช.และ ปวส.เป็นหลัก รวมถึงตั้งสำนักพิมพ์ผลิตสื่อเป็นภาษาท้องถิ่น หลังจากนั้นจะเป็นประเทศเวียดนามที่จะเน้นการเรียนการสอนแบบออนไลน์เป็นหลัก หลังเข้าตลาดฯ แล้วพร้อมลงทุนในต่างประเทศทันที
ทั้งนี้ คาดว่าภายใน 5-10 ปีหลังปรับรูปแบบธุรกิจใหม่แล้ว เชื่อว่าภาพรวมรายได้จะเติบโตปีละไม่ต่ำกว่า 20% ทุกปี โดยสัดส่วนรายได้จะเปลี่ยนแปลงไปเป็น สถาบันกวดวิชาเพิ่มขึ้นเป็น 30% ส่วนหนังสือเรียนจะลดลงเหลือ 30% แทน โดยรายได้จากอาเซียนจะอยู่ที่20% ทั้งนี้ต้องลดความเสี่ยงของกลุ่มหนังสือเรียนที่ค่อนข้างผันผวนตามนโยบายการศึกษาของไทยที่อาจมีการปรับหลักสูตรใหม่ทำให้ต้องแบกรับต้นทุนแทน
อย่างไรก็ตาม สำหรับปีนี้บริษัทยังคงมีอัตราการเติบโตที่ 20% คิดเป็นมูลค่ากว่า 400 ล้านบาท มาจากกลุ่มหนังสือเรียนเป็นหลัก ส่วนปีหน้าคาดว่าจะเติบโต 10-15%