การบินพม่าทะยานเต็มพิกัด
หลังพม่าเปิดประเทศ จำนวนผู้โดยสายที่มากขึ้น เกินความสามารถในการรองรับ แต่บินพม่า ก็ไม่หวั่นความปลอดภัย เดินหน้าเปิดสายการบินใหม่เต็มสูบ
หลังพม่าเปิดประเทศ จำนวนผู้โดยสายที่มากขึ้น เกินความสามารถในการรองรับ แต่บินพม่า ก็ไม่หวั่นความปลอดภัย เดินหน้าเปิดสายการบินใหม่เต็มสูบเช้าวันคริสต์มาสปี 2555 เครื่องบินของสายการบินพุกาม เที่ยวบินที่ 11 บรรทุกผู้โดยสาร 65 คน และลูกเรือ 6 คน พยายามร่อนลงจอดท่ามกลางหมอกหนาทึบ โดยปราศจากความช่วยเหลือของอุปกรณ์นำทางภาคพื้นดิน จนต้องไถลออกนอกเส้นทางฝ่าแนวต้นไม้ สายไฟฟ้า ถนน เข้าสู่ทุ่งหญ้าใกล้สนามบินเฮโฮแทน
อุบัติเหตุครั้งนั้น มีผู้โดยสารหนึ่งคนเสียชีวิต บาดเจ็บอีกแปดคน ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ ถือเป็นการเริ่มต้นปีแห่งความหวาดวิตกเรื่องความปลอดภัยของสายการบินในพม่า แต่ความหวาดกลัวแทบจะไม่สามารถทำอะไรกับอุตสาหกรรมการบินพม่าหลังเริ่มเปิดประเทศได้เลย ปราการด่านสุดท้ายของการบินพาณิชย์ในเอเชียกำลังเปิดกว้าง
จำนวนผู้โดยสารกำลังเพิ่มมากขึ้นพร้อม ๆ กับการเปิดตัวสายการบินใหม่หลายแห่ง สายการบินต่างชาติก็เร่งรุดเข้ามา เจ้าหน้าที่และผู้บริหารบางคนเริ่มพูดคุยกันอย่างจริงจัง เรื่องการพลิกพม่าให้เป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค
อย่างไรก็ตาม พม่าดูเหมือนยังขาดการเตรียมความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลง
"ในความคิดเห็นของผม พม่าเปิดกว้างมากขึ้น ก่อนจะมีความพร้อมในเรื่องนี้ โครงสร้างพื้นฐานที่นั่นยังไม่เพียงพอกับความต้องการ พม่าต้องให้ความสำคัญหากต้องการเพิ่มอุตสาหกรรมการบิน ส่วนเรื่องความปลอดภัยจะไม่มีการปรับปรุงในเร็ว ๆ นี้" นายชูโกร์ ยูโซฟ ผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมการบินจากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ ในสิงคโปร์กล่าว
ศูนย์กลางการบินซีเอพีเอซึ่งให้คำแนะนำแก่สายการบิน และบริการฐานข้อมูลแก่อุตสาหกรรมการบิน รายงานว่า ในช่วงที่นักท่องเที่ยวต่างชาติมีจำนวนสูงสุดในฤดูหนาวปี 2554 และ 2555 แต่ละสัปดาห์มีผู้โดยสารเดินทางเข้าออกพม่าถึง 50,0000 คน โดยสายการบินนานาชาติ 13 สาย รวมทั้ง เมียนมาร์ แอร์เวย์ส อินเตอร์เนชันแนล (เอ็มเอไอ)
ปีที่แล้วจำนวนผู้โดยสารพุ่งขึ้นเป็น 80,000 คนต่อสัปดาห์ ซีเอพีเอคาดว่า ตัวเลขจะเกิน 100,000 คนต่อสัปดาห์ในฤดูหนาวนี้ ช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมาจำนวนสายการบินระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าเป็น 23 สายการบิน มีเพียงเอ็มเอไอและโกลเดน เมียนมาร์เท่านั้นที่เป็นสายการบินท้องถิ่น
@ ตำนานแห่งความโดดเดี่ยว
นายวิน ฉ่วย ตัน ผู้ช่วยผู้อำนวยการกรมการบินพลเรือนพม่า (ดีซีเอ) ตกใจเมื่อเห็นอัตราการเกิดอุบัติเหตุทางอากาศของพม่า ที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกถึงเก้าเท่า
ในทศวรรษ 50 นครย่างกุ้งเคยเป็นศูนย์กลางการบินของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่เมื่อกองทัพยึดอำนาจในปี 2505 การบินพลเรือนพม่าเข้าสู่ช่วงถดถอยยาวนาน
นายวิน ฉ่วย ตัน กล่าวว่า ปีที่แล้ว "เมียนมาร์ แอร์เวย์ส" สายการบินภายในประเทศ สั่งห้ามบินเครื่องบินเอ็มเอ 60 ผลิตในจีนสามลำ หลังเครื่องบินใบพัดสองลำเกิดอุบัติเหตุขณะร่อนลงจอดภายในเดือนเดียว
สายการบินท้องถิ่นเริ่มเปิดตัวก่อนรัฐบาลกึ่งพลเรือนครองอำนาจในปี 2554 สายการบินหลายแห่งกำลังสูญเสียเงินเช่นเดียวกับเมียนมาร์ แอร์ เครื่องบินเจ็ดลำโดยหกลำเป็นของเอกชนเปิดให้บริการเที่ยวบินตามปกติ และมีแผนเปิดสายการบินภายในประเทศเพิ่มอีกสี่แห่ง ส่วนสายการบินนานาชาติก็กำลังรุกเข้ามา
นายทัศพล แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย ในเครือแอร์เอเชีย สายการบินทุนต่้ำรายใหญ่ของเอเชีย เปิดเผยว่า เวียดเจ็ต เอวิเอชัน จอยท์ สต็อก โค สายการบินเอกชนแห่งเดียวของเวียดนาม กำลังเจรจากำลับสายการบินท้องถิ่นไม่ระบุนามของพม่าแห่งหนึ่ง ไทยแอร์เอเชียเริ่มเจรจาร่วมทุนกับ "พันธมิตรที่มีศักยภาพบางแห่ง"
เอเอ็นเอ โฮลดิงส์ อิงค์ (เอเอ็นเอ) ของญี่ปุ่น ประกาศในเดือนสิงหาคมว่า บริษัทซื้อหุ้น 49% สูงสุดตามกฎหมายพม่า ของเอเชียน วิงก์ส สายการบินเล็ก ๆ ภายในประเทศพม่า สัญญาใหม่นี้ทำให้เอเอ็นเอเพิ่มเส้นทางบินระหว่างประเทศ และขยายฝูงบินด้วยเครื่องบินไอพ่นและใบพัด
ขณะที่น่านฟ้าพม่าเริ่มแออัด สนามบินหลายแห่งกลับล้าหลังและขาดแคลนเงินทุน ในจำนวนสนามบินพม่า 33 แห่งมีเพียง 3 แห่งเท่านั้นคือสนามบินย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ และเนปิดอว์ ที่เป็นสนามบินนานาชาติ สนามบินอื่น ๆ ยังขาดรันเวย์ขนาดใหญ่ ระบบนำทางและอุปกรณ์ช่วยชีวิตที่ทันสมัย และการดูแลความปลอดภัยอย่างเพียงพอ
สนามบินย่างกุ้งซึ่งหนาแน่นที่สุดในประเทศ ปีที่แล้วรองรับผู้โดยสารถึง 3.1 ล้านคนในปีที่แล้ว เกินกว่าศักยภาพที่ 2.7 ล้านคนต่อปี โครงการปรับปรุงสนามบินย่างกุ้งมูลค่า 150 ล้านดอลลาร์ตกเป็นของบริษัทร่วมทุน นำโดยบริษัทในเครือเอเชีย เวิลด์ บริษัทใหญ่บริหารโดยนายตัน มิน เนียง หรือที่รู้จักกันในนาม "สตีเวน ลอว์" บุตรชายของนายโล ซิง ฮัน นักธุรกิจใหญ่
ส่วนสนามบินมัณฑะเลย์ที่คาดว่าจะเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ในอนาคต ได้บริษัทร่วมทุนของญี่ปุ่นรับผิดชอบดำเนินการปรับปรุง
อย่างไรก็ตามโครงการใหญ่คือการวางแผนสร้างสนามบินใหม่ "หงสาวดี" ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองย่างกุ้ง มูลค่า 1.5 พันล้านดอลลาร์ โดยบริษัทร่วมทุนนำโดย "อินชอน อินเตอร์เนชันแนล แอร์พอร์ท คอร์ป" รัฐวิสาหกิจจากเกาหลีใต้
นายวิน เว ตัน กล่าวเพิ่มเติมว่า สนามบินใหม่ถูกออกแบบให้รองรับผู้โดยสาร 12 ล้านคนต่อปี หลังเปิดดำเนินการในปี 2561 และจะกลายเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาคในที่สุด รองรับผู้โดยสาร 30 ล้านคนต่อปีภายในปี 2573 เปรียบเทียบกับศักยภาพการรองรับผู้โดยสาร 48 ล้านคนต่อปีของสนามบินสุวรรณภูมิในกรุงเทพฯ และ 51 ล้านคนของสนามบินชางงีในสิงคโปร์
@ สนามบินล้าสมัย
สนามบินเฮโฮะ ที่แอร์บากัน ตกเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว เป็นตัวอย่างแสดงให้เห็นว่าพม่าต้องพัฒนาอีกมากแค่ไหน เจ้าหน้าที่นั่งทำงานภายในหอบังคับการบินโดยต้องถอดรองเท้าไว้ข้างนอก ควบคุมการจราจรทางอากาศผ่านชุดวิทยุบนโต๊ะเสื่อน้ำมัน จัดการกำหนดการลงจอดโดยจดหวัด ๆ บนแผ่นกระดาน ไล่เรียงกันมาตามลำดับข้อมูลที่รับฟังจากวิทยุ ปราศจากระบบคอมพิวเตอร์ใด ๆ
@ ต้นทุนของการคว่ำบาตร
นางซาว ทันดา นอย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ แอร์บากัน เปิดเผยว่า แอร์บากัน ซึ่งเป็นสายการบินภายในประเทศรายใหญ่สุดรายหนึ่ง ไม่ทำกำไรมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2549-2550 และต้องเผชิญแรงกดดันทั้งจากมาตรการคว่ำบาตร และการเติบโตของผู้เล่นรายใหม่ ๆ
ต้นทุนของเราสูงกว่าสายการบินอื่นมาก เป็นต้นทุนจากมาตรการคว่ำบาตร แต่เราไม่เคยยอมลดมาตรฐานความปลอดภัย" เธอกล่าวเสริม
ขณะที่สายการบินต่าง ๆ กำลังเรียงหน้าเข้าสู่พม่า "การบินไทย" ยังแสดงท่าทีระมัดระวังในเรื่องนี้อยู่ โดยนายโชคชัย ปัญญายงค์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส กล่าวว่า ข้อจำกัดด้านโครงสร้างพื้นฐานหมายความว่าการเปิดเส้นทางบินภายในประเทศพม่ายังไม่ทำเงินในเวลานี้
"ผมคิดว่า น่าจะต้องใช้เวลาอีก 2-3 ปี กว่าการบินไทยจะเข้าไปพม่า"