"พาณิชย์"ผุดโครงการเออีซีแอดวานซ์ ติวเข้มบุกAECเป็นรายสินค้า-รายอุตสาหกรรม
“พาณิชย์”จับมือเอกชนทำโครงการ “เออีซี แอดวานซ์” ติวเข้มเทคนิคและโอกาสบุกอาเซียนรับเปิด AEC เจาะลึกเป็นรายสินค้า ทั้งเกษตร อุตสาหกรรม และการค้าบริการ พร้อมร่วม อบต. อบจ. ลุยเป็นรายจังหวัด
นางจินตนา ชัยยวรรณาการ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงแผนการเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการไทยรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 ว่า ในปี 2557 กรมฯ จะจัดทำโครงการ “เออีซี แอดวานซ์” เพื่อให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ นักธุรกิจ นักลงทุน เพื่อเตรียมความพร้อมในการสร้างโอกาสทางการค้า การลงทุนรองรับการเปิดเออีซี โดยจะร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย หน่วยงานภาครัฐ เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงศึกษาธิการ เป็นต้น
“ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กรมฯ ได้เน้นการให้ความรู้เกี่ยวกับเออีซีว่าเออีซีคืออะไร จะเกิดอะไรขึ้นหลังเปิดเออีซีในปี 2558 แต่ปี 2557 จนถึงปีที่เปิดเออีซี กรมฯ จะเน้นการให้ความรู้เชิงแอดวานซ์จะลงลึกในรายละเอียดเจาะลึกเป็นรายสินค้า รายอุตสาหกรรม และรายบริการว่าอะไรจะได้ประโยชน์จากเออีซี การใช้ประโยชน์จากเออีซีต้องทำยังไง หรือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมีแผนช่วยเหลือในการปรับตัวยังไง ซึ่งขณะนี้ กำลังอยู่ระหว่างการหารือเพื่อทำแผนร่วมกับภาคเอกชนและหน่วยงานต่างๆ”นางจินตนากล่าว
สำหรับแผนการให้ความรู้ภายใต้โครงการเออีซี แอดวานซ์ ยกตัวอย่างเช่น ข้าว จะมีการให้ความรู้ทั้งสายการผลิต ตั้งแต่การเพาะปลูก การแปรรูป การส่งออก ระบบการขนส่ง และจะชี้โอกาสให้เห็นว่า การเปิดเออีซี ไทยจะใช้ประโยชน์ได้อย่างไร เช่น โอกาสการเข้าไปลงทุนของโรงสีข้าวไทยในประเทศเพื่อนบ้าน หรือสินค้ายานยนต์ นอกจากเชื่อมโยงสายการผลิต นำเข้าวัตถุดิบจากอาเซียน ไทยยังสามารถใช้โอกาสในการเข้าไปลงทุนตั้งศูนย์บริการ อู่ซ่อมรถ ในประเทศเพื่อนบ้านได้ หรือสินค้าสิ่งทอ ไทยสามารถเข้าไปตั้งฐานการผลิตในประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อใช้ประโยชน์จากค่าแรง หรือนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศในอาเซียนมาผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูป
นอกจากนี้ กรมฯ ยังจะร่วมมือกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ในการให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการในส่วนภูมิภาค ซึ่งจะดำเนินการในขั้นแอดวานซ์เช่นเดียวกัน โดยจะดูว่าในจังหวัดนั้นๆ มีธุรกิจอะไร ก็จะเข้าไปอบรมให้ความรู้ให้ถูกต้องกับธุรกิจหลักของจังหวัดนั้นๆ รวมไปถึงจังหวัดที่อยู่ตามแนวชายแดน ก็จะเน้นการสร้างความรู้ และความพร้อมในการทำการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านด้วย
นางจินตนากล่าวว่า ในการเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการของไทย จะไม่เจาะจงแค่เออีซีอย่างเดียว แต่จะขยายขอบเขตและการสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการไทยไปสู่ประเทศคู่เจรจาอื่นๆ ของอาเซียนด้วย เพราะขณะนี้อาเซียนมีการเจรจาเปิดเสรีกับประเทศคู่เจรจาเป็นรายประเทศ ทั้งจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย และกำลังจะขยายเป็นความตกลงพันธมิตรทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งจะทำให้เกิดโอกาสทางการค้า การลงทุนเพิ่มมากขึ้น
ขณะเดียวกัน ในการให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ นอกจากการมุ่งสร้างโอกาสทางการค้า การลงทุนแล้ว จะให้คำแนะนำในการเตรียมความพร้อมรับมือกับประเด็นที่คาดว่าจะมีความสำคัญเพิ่มขึ้น เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อม แรงงาน เพราะขณะนี้หลายๆ ประเทศเริ่มให้ความสำคัญ และนำมาเป็นเงื่อนไขทางการค้ามากขึ้น