ซอนยา คานธี ผู้คุมการเมืองอินเดีย
ฟอร์บจัดอันดับ "ซอนยา คานธี" ติดอันดับ 21 ผู้ทรงอิทธิพลหญิงเอเชีย และ ติด1ใน9 ผู้ทรงอิทธิพลมากสุดของโลก
ฟอร์บจัดอันดับ "ซอนยา คานธี" ติดอันดับ 21 ผู้ทรงอิทธิพลหญิงเอเชีย และ ติด1ใน9 ผู้ทรงอิทธิพลมากสุดของโลกในการจัดอันดับบุคคลทรงอิทธิพลโลกประจำปีนี้ นิตยสารฟอร์บส์ ได้เลือกให้นางสิงห์เหล็กแห่งอินเดีย "ซอนยา คานธี" อยู่ในอันดับ 21 สูงสุดในกลุ่มผู้ทรงอิทธิพลที่เป็นหญิงจากเอเชีย และยังเป็น 1 ใน 9 รายชื่อหญิงผู้ทรงอิทธิพลมากสุดของโลก
แม้จะไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ในฐานะประธานพรรคคองเกรสของอินเดีย พรรคการเมืองที่บริหารประเทศที่มีประชากรมากสุดเป็นอันดับ 2 ของโลก ก็ทำให้เธอมีอิทธิพลในการบริหารบ้านเมืองมากพอสมควร
นางคานธีวัย 66 ปี เป็นชาวอิตาลีโดยกำเนิด เป็นภรรยาม่ายของอดีตนายกรัฐมนตรีราจิฟ คานธี และเธอได้รับไว้วางวางใจและนับหน้าถือตาจากวงการเมืองอินเดีย นับตั้งแต่สูญเสียสามี เธอมักจะบอกว่า ไม่ได้อยากเป็นนักการเมือง แต่ก็สร้างความตกตะลึง หลังจากสามารถขับเคลื่อนพรรคคองเกรสจนสามารถคว้าชัยชนะเหนือพรรคชาตินิยมฮินดู ภาราติยะ ชนตะในการเลือกตั้ง เมื่อปี 2547 และอีก 5 ปีต่อมา ก็นำพรรคคว้าชัยชนะได้เป็นรัฐบาลสมัยที่สอง
นักวิเคราะห์ บอกว่า พรรคคองเกรสมีผู้นำเพียงหนึ่งเดียว ซึ่งก็คือเธอ ส่วนนายกรัฐมนตรีซิงห์ มีบทบาทในการกุมบังเหียนรัฐบาล แต่เธอดูแลด้านการเมืองให้กับพรรค ซึ่งเปรียบเสมือนลูกของเธอ
ตระกูลคานธี ซึ่งโดดเด่นในแวดวงการเมืองหลังจากอินเดียได้รับอิสรภาพ ในยุคนายกรัฐมนตรีเยาหราล เนห์รู และไม่ได้เกี่ยวข้องกับมหาตมะ คานธี มหาบุรุษผู้ทำให้อินเดียได้รับอิสรภาพ ได้ครองอิทธิพลในวงการเมืองอินเดียมาอย่างยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ สมาชิก 3 คนของตระกูล ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และนายราหุล บุตรชายวัย 41 ปี ของเธอก็ได้รับการคาดหมายว่า จะได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในอนาคตเช่นกัน
อย่างไรก็ดี นับแต่ที่บุตรชายของเธอขึ้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคคองเกรส ในต้นปีนี้ นางคานธีก็เริ่มลดบทบาทตัวเองลงมาอย่างมาก ท่ามกลางกระแสข่าวเกี่ยวกับสุขภาพของเธอ โดยในเดือนก.ย.ที่ผ่านมา เธอได้เดินทางไปตรวจสุขภาพที่สหรัฐอย่างเงียบๆ หลังจากเมื่อ 2 ปีก่อน เคยเดินทางไปผ่าตัดที่สหรัฐ และเก็บตัวเงียบนาน 3 เดือน โดยไม่มีการเปิดเผยอาการป่วยของเธออย่างเป็นทางการ จนทำให้เกิดข่าวลือถึงปัญหาสุขภาพของเธอแพร่สะพัดไปทั่ว