ปตท.น้ำมันรุกหนักอาเซียน 

ตั้งเป้า 5 ปี รุกธุรกิจคลังน้ำมันและสถานีบริการอาเซียน ประกาศจับมือพันธมิตรท้องถิ่นขึ้นท็อปแบรนด์

ตั้งเป้า 5 ปี รุกธุรกิจคลังน้ำมันและสถานีบริการอาเซียน ประกาศจับมือพันธมิตรท้องถิ่นขึ้นท็อปแบรนด์

ปตท.เปิดแผน 5 ปี รุกธุรกิจน้ำมันในกลุ่มประเทศอาเซียน เตรียมใช้เงินประมาณ 2-3 พันล้านบาท ลงทุนสร้างคลังน้ำมันและสถานีบริการต้นแบบในประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อก้าวสู่การเป็นแบรนด์ชั้นนำในระดับภูมิภาค(Regional Top Brand) ภายในปี 2563

การเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซีในปี 2558 สร้างโอกาสให้ธุรกิจขยายตัวได้มากขึ้น โดยตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 600 ล้านคน บริษัท ปตท.ในฐานะยักษ์ใหญ่ธุรกิจน้ำมันในประเทศ มองเห็นโอกาสในการรุกเข้าไปทำตลาดในภูมิภาคเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว กัมพูชา ในกิจการค้าปลีกน้ำมัน โดยมุ่งหวังยกระดับตัวเองขึ้นเป็นแบรนด์ชั้นนำของภูมิภาค

นายชวลิต พันธ์ทอง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจน้ำมัน บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) เปิดเผยกรุงเทพธุรกิจอาเซียนพลัส ว่า การขยายการลงทุนของกลุ่มปตท.จะใช้สถานีบริการน้ำมันและธุรกิจค้าปลีกน้ำมันเป็นตัวนำ เพื่อสร้างการรับรู้และยอมรับของผู้บริโภคที่มีต่อ แบรนด์ปตท. ก่อนที่จะขยายไปสู่ธุรกิจกลุ่มอื่นๆของปตท.

การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี ในปี2558 ซึ่งจะมีตลาดที่มีขนาดประชากรประมาณ 600 ล้านคน ถือเป็นโอกาสในการทำธุรกิจที่สำคัญ โดย ปตท.มีการกำหนดรูปแบบการสร้างแบรนด์ ในสามมิติ (Top Brand Model) คือการสร้างการรับรู้(Awareness) การมีผลประกอบการที่ดี (Performance) และความสามารถในการขยายธุรกิจเพิ่มเติมในอนาคต(Future Growth)

==> แบ่ง 3 เฟสลงทุนอาเซียน

แผนการขยายธุรกิจน้ำมันของปตท.ในกลุ่มประเทศอาเซียน แบ่งออกเป็น 3เฟส คือเฟสแรก จะขยายการลงทุนใน ลาว กัมพูชา และฟิลิปปินส์ ที่เป็นประเทศที่มีการลงทุนอยู่แล้วและเป็นตลาดเสรีที่เปิดให้บริษัทต่างชาติ เข้าไปดำเนินการได้ รวมทั้งมีอัตราการเติบโตน้ำมันในระดับร้อยละ 5-10 ซึ่งเป็นระดับที่สูง โดยในช่วง 5 ปีข้างหน้านี้ ที่ลาว ปตท.จะขยายสถานีบริการให้ได้ 60 แห่ง จากปัจจุบันที่มีอยู่แล้ว 20 แห่ง และการสร้างคลังน้ำมันขนาดเล็ก

ส่วนกัมพูชา จะมีการขยายสถานีบริการให้ได้ 50 แห่ง จากปัจจุบันที่มีอยู่ 16แห่ง และที่ฟิลิปปินส์ จะขยายให้ได้ 145 แห่งในฟิลิปปินส์ จากที่มีอยู่ 70แห่ง

==> เฟส 2 รุกเข้าลงทุนพม่า

สำหรับเฟสที่สอง คือการเข้าไปลงทุนที่พม่า ซึ่งมีตลาดขนาดใหญ่และกำลังมีการปฎิรูปเศรษฐกิจและการเมือง โดยมีการจัดตั้งบริษัท พีทีทีออยล์ เมียนมาร์ เป็นตัวแทนในการลงทุน ตั้งเป้าหมายสถานีบริการเอาไว้ 50แห่ง และคลังน้ำมัน โดยแห่งแรกมีการก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้วแต่ยังรอใบอนุญาตให้เปิดบริการทางการของพม่า และตั้งเป้าที่จะครองส่วนแบ่งตลาดน้ำมันหล่อลื่นเป็นอันดับหนึ่งหรืออันดับสองภายในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า

==>เฟส 3 ลงทุนธุรกิจน้ำมัน

ส่วนในเฟสที่สาม การลงทุนในธุรกิจน้ำมันของปตท.มุ่งไปที่ประเทศ เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย ซึ่งประเทศเหล่านี้มีตลาดที่น่าสนใจ แต่ต้องแข่งขันกับบริษัทน้ำมันแห่งชาติและบริษัทน้ำมันต่างชาติที่ครองตลาดอยู่ก่อนแล้ว และยังมีข้อจำกัดเรื่องให้ต่างชาติเข้าไปลงทุน อย่างเช่นที่อินโดนีเซีย และมาเลเซีย จึงจะเริ่มต้นด้วยการทำลาดน้ำมันหล่อลื่น ส่วนที่เวียดนาม ปตท.มีการร่วมลงทุนในธุรกิจแอลพีจีอยู่ก่อนแล้ว แต่จะมีการขยายตลาดเรื่องของน้ำมันหล่อลื่น ถ่านหิน และยางมะตอย เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้การลงทุนทั้งสามเฟสในช่วงระยะเวลา 5 ปี คาดว่าจะใช้เงินลงทุนเพียงประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาท เท่านั้น โดยเป็นเรื่องของการขยายสถานีบริการร่วมกับผู้ประกอบการท้องถิ่นและการสร้างคลังน้ำมันขนาดเล็กเท่านั้น

ในส่วนของพม่าเน้นที่เมืองย่างกุ้งเป็นหลัก ใช้แบรนด์ปตท.ได้รับการยอมรับจากตลาดอยู่แล้ว รูปแบบสถานีบริการน้ำมันเป็นแบบสแตนดาร์ด ใช้พื้นที่ประมาณ 2-3 ไร่ ซึ่งจะมีหัวจ่ายน้ำมันและร้านค้า 1-2 แห่ง ซึ่งปัจจุบันใช้เงินลงทุนต่อแห่งประมาณ 10-20 ล้านบาท และรูปแบบแพลทตินั่ม ใช้พื้นที่ประมาณ 3.5-5 ไร่ ซึ่งจะเป็นสถานีที่มีบริการครบวงจร ใช้เงินลงทุนประมาณ 20-50 ล้านบาท

มาตรฐานน้ำมันที่จำหน่ายในสถานีบริการน้ำมันนั้น จะต้องสอดคล้องกับมาตรฐานของน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้ในพม่าด้วย ซึ่งปัจจุบันในส่วนของเบนซินใช้ ออกเทน 88 ขณะที่ดีเซล มีค่ากำมะถัน 0.5 % เนื่องจากรถยนต์ที่ใช้ในพม่าเกือบทั้งหมด เป็นรถยนต์เก่าอายุการใช้งาน 10-15 ปี และในเบื้องต้นจะนำเข้าจากไทยเป็นหลัก โดยให้โรงกลั่นผลิตมาตรฐานเพื่อทำตลาดในพม่าเป็นการเฉพาะ

ขณะเดียวกันก็ต้องศึกษาเครือข่ายการจัดส่งน้ำมันไปพร้อมกันด้วย อาทิ คลังน้ำมัน และระบบการขนส่งสร้างความเข้มแข็งพันธมิตรท้องถิ่น

นายชวลิต กล่าวว่า กลุ่มประเทศที่อยู่ในเฟสแรกของการขยายสถานีบริการ โดยเฉพาะที่ลาว ประเด็นที่ปตท.ต้องการจะสื่อสารให้เข้าใจถึงการเข้าไปทำธุรกิจน้ำมันของปตท. คือการที่เราไปช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการท้องถิ่น และสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับเพื่อนบ้าน ไม่ใช่การเข้าไปครอบงำ เพราะส่วนหนึ่งยังมีความกังวลว่า ปตท.จะเข้าไปครอบงำธุรกิจที่เขามีอยู่ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง

"การบุกตลาดในภูมิภาคอาเซียน ปตท.จะใช้สถานีบริการรูปแบบมาตรฐานเป็นตัวนำ และปรับเปลี่ยนแผนกลยุทธ์การลงทุนและการดำเนินธุรกิจให้เหมาะสม กับสภาพแวดล้อมของแต่ละประเทศ อย่างสถานีบริการน้ำมันปตท.ในลาวจะใช้ภาษาท้องถิ่นและจ้างพนักงานท้องถิ่น ซึ่งในช่วงเริ่มต้นสถานีบริการที่ยังมีอยู่ไม่กี่แห่ง ปตท.ยังเป็นผู้ที่ต้องลงทุนเองทั้งหมด เพื่อต้องการยกระดับและมาตรฐานการให้บริการ แต่ในระยะต่อไป จะเป็นการร่วมทำธุรกิจกับผู้ประกอบการท้องถิ่น ช่วยให้เขาสามารถทำธุรกิจได้อย่างยั่งยืน ในขณะที่ปตท.จะได้ในเรื่องของแบรนด์ปตท.ที่จะเป็นที่รู้จักมากขึ้น เท่านั้น" นายชวลิต กล่าว

ส่วนธุรกิจน้ำมันที่กัมพูชา ถือว่ามีความท้าทาย เนื่องจากเป็นการตลาดเสรี ที่ให้ต่างชาติเข้าไปทำธุรกิจค้าปลีกน้ำมันได้ รวมทั้งมีมาร์จินสูงกว่าประเทศไทยถึง 3 เท่า อย่างไรก็ตามก็มีคู่แข่งทั้งที่เป็นแบรนด์ของบริษัทต่างชาติ และบริษัทต่างชาติอยู่จำนวนมากพ่วงนอนออยล์ลุยประเทศเพื่อนบ้าน

สำหรับแผนการตลาดในส่วนของธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมัน (Non Oil)ในภาพรวมในอาเซียนของ ปตท. และบริษัทในเครือธุรกิจน้ำมันในต่างประเทศ ได้วางแผนร่วมกันในการเพิ่มธุรกิจค้าปลีกที่ไม่ใช่น้ำมัน เช่น ร้านค้าสะดวกซื้อ Jiffy และร้านกาแฟ Amazon เข้าไปในสถานีบริการในประเทศต่างๆ ในเส้นทางคมนาคมที่มีความสำคัญ เพื่อยกระดับมาตรฐานของ Brand ปตท. ผ่านทางร้านกาแฟ Amazon ร้าน Pro check ที่ให้บริการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องจำนวน และร้านสะดวกซื้อ Jiffy

"ปตท.เชื่อว่าเมื่อเออีซีเกิดขึ้นจริงจะมีการผ่อนคลายกฏระเบียบต่างๆ ที่จะทำให้การค้าขายระหว่างกันในกลุ่มประเทศอาเซียนและการเดินทางมีความคล่องตัวมากขึ้น ซึ่งในถนนสายสำคัญที่มีการเชื่อมโยงการขนส่ง เรามีการวางแผนที่จะขยายสถานีบริการน้ำมัน เ อาไว้แล้ว และสถานีบริการน้ำมันภายใต้แบรนด์ ปตท. จะเป็นจุดที่ทำให้คนมองเห็นถึงคุณภาพและมาตรฐานการให้บริการ เป็นที่รู้จัก และยอมรับ ได้เร็วว่าวิธีการอื่นๆ" นายชวลิต กล่าว

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ bangkokbiznews.com ดูทั้งหมด

223

views
Credit : bangkokbiznews.com


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน