สศก.ชี้ 10 สินค้าเกษตรอ่วม
แนะเร่งส่งเสริมงานวิจัยช่วยเกษตรปรับตัว นำเทคโนโลยีมาเพิ่มมูลค่าและลดต้นทุนภาคเกษตร เพื่อรองรับเออีซี ย้ำอาจกระทบสินค้าเกษตร 10ชนิด
สศก. ระดมความเห็นเร่งปรับตัว 10 กลุ่มสินค้าเกษตรรองรับเออีซี แนะตั้งหน่วยงานบริหารจัดการข้าว ดึงทุกภาคส่วนเข้าร่วมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำเหมือนพม่า เร่งส่งเสริมงานวิจัยช่วยเกษตรกรปรับตัว พัฒนาพันธุ์
สินค้าเกษตรและอาหาร แม้ไทยจะเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของอาเซียนและของโลก แต่ในระดับต้นน้ำต้องมีการเร่งปรับตัวอย่างมาก โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีเข้าไปเพิ่มมูลค่าและลดต้นทุนภาคการเกษตรให้มากขึ้น เพื่อรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ในการก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยสำนักงานเศรษฐกิจอาเซียน (สศก.) ได้ระดมความเห็นจากทุกภาคส่วนพบว่ามี 10 สินค้าเกษตรที่ต้องปรับตัวอย่างเร่งด่วน เพื่อให้ยืนหยัดอยู่ได้หลังเปิดเออีซี
นายสุรศักดิ์ พันธ์นพ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จากระดมความเห็นของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในภาคการเกษตร เพื่อเตรียมความพร้อมและรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี พบว่ามีสินค้าเกษตร 10 ชนิดที่อาจได้รับผลกระทบและไทยจะต้องมีการเร่งปรับตัวทั้งสายการผลิต ส่วนหนึ่งเพราะสินค้าดังกล่าวทุกประเทศมีศักยภาพในการผลิตเช่นเดียวกัน ประกอบด้วย ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ยางพารา กาแฟ ผลไม้ ปศุสัตว์ และประมง
ทั้งนี้ในส่วนของข้าวที่ไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกมากที่สุดนั้น เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางเรื่องข้าวในอาเซียน ไทยควรมีการจัดตั้งหน่วยงานบริหารจัดการข้าว โดยให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เข้าร่วมด้วย เช่นเดียวกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่นพม่าที่มีการจัดตั้งสมาคมอุตสาหกรรมข้าวพม่า โดยเป็นการรวมตัวของ 3 หน่วยงาน คือสมาคมผู้ผลิตข้าวเปลือก สมาคมโรงสี และสมาคมผู้ค้าข้าวเปลือกและข้าวสาร
ยางพารา ไทยควรลดการพึ่งพาจีนซึ่งเป็นตลาดหลักในการส่งออกของไทย และรักษาตลาดเดิม เช่น ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป(อียู) รวมทั้งขยายตลาดใหม่ไปยังกลุ่มประเทศในแอฟริกาและตะวันออกกลาง ภาครัฐต้องเอื้อประโยชน์ให้นักลงทุนจากในและต่างประเทศให้มีการลงทุนแปรรูปยางเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ภาครัฐอาจจำเป็นต้องปรับปรุงกฎ ระเบียบต่างๆที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมยางพารา
โคเนื้อ ไทยควรมีมาตรการที่เข้มงวดในการดูแลป้องกันโรคปากเท้าเปื่อย ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกเนื้อโค และศึกษาเพิ่มเติมสำหรับปัญหาสุขอนามัยในประเทศที่มีพื้นที่ติดต่อกัน เช่น กัมพูชา ลาว พม่า ไทย และมาเลเซีย ควรมีมาตรฐานต่างๆในกลุ่มเออีซี รวมทั้งควรสร้างฐานการผลิตร่วมกันและนำร่องการผลิตโคเนื้อ ภายใต้สัญลักษณ์การค้า "เนื้อโคเออีซี"
ด้านสินค้าประมง ภาครัฐโดยกรมประมงควรเริ่มดำเนินการเจรจากับรัฐบาลพม่า เพื่อขอต่ออายุสัมปทานการทำประมงรอบใหม่ ร่วมกับภาคเอกชนไทย เนื่องจากสัมปทานดังกล่าวจะสิ้นสุดอายุลงในปี 2557 นี้
ด้านข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ควรเน้นเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนและการผลิตที่ได้มาตรฐาน ส่งเสริมเพาะปลูกในพื้นที่ ที่เหมาะสม เพื่อลดปัญหาการบุกรุกป่า และปรับปริมาณผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ออกสู่ตลาด ให้เหมาะสมกับความต้องการของผู้ใช้ รวมทั้งเรื่องต้นทุนทางสังคม
มันสำปะหลัง ควรศึกษาวิเคราะห์สถานการณ์การผลิตการตลาดและราคามันสำปะหลังของคู่แข่งสำคัญในอาเซียน เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม และกัมพูชา ทั้งนี้สศก. ได้ดำเนินการแล้วในเวียดนามและกัมพูชา และให้ความสำคัญในการติดตามสถานการณ์มันสำปะหลังในประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเป็นข้อมูลในการประเมินสถานการณ์มันสำปะหลังในตลาดอาเซียน
ถั่วเหลือง ที่เป็นแหล่งโปรตีนจากพืชที่ราคาถูกที่สุด จึงควรหารือกับประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารในกรณีของถั่วเหลืองในอาเซียน โดยเสนอให้มีการจัดWorkshop เพื่อกำหนดโซนนิ่ง ในการผลิตเพื่อสร้างความมั่นคงและลดการพึ่งพาการนำเข้าจากประเทศในทวีปอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้
ด้านกาแฟ ควรให้มีการกำหนดเขตเหมาะสมในการผลิตหรือโซนนิ่ง โดยให้กรมพัฒนาที่ดินและ สศก. เร่งดำเนินการ พร้อมทั้งรัฐควรสนับสนุนในเรื่องการปรับเปลี่ยนพันธุ์และการแปรรูป โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้เกษตรกรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับรู้ข้อมูล ที่รวดเร็ว ทันต่อเหตุการณ์ ทั้งด้านการผลิต การค้าและการลงทุน เนื่องจากกาแฟเป็นสินค้าอ่อนไหวของไทย ควรอาศัยความร่วมมือและการช่วยเหลือจากต่างประเทศในการพัฒนาการผลิตและการตลาด
ลำไย ควรรักษาตลาดส่งออกที่สำคัญ คือจีน และฮ่องกง รวมทั้งขยายตลาดส่งออกในตลาดอาเซียน เช่นอินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะเวียดนาม ที่มีการนำเข้าลำไยจากไทยในปริมาณเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ควรหาตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ เช่นอินเดีย สหภาพยุโรปหรืออียู เพื่อลดการพึ่งพาจากตลาดจีน และควรปรับแผนการผลิตลำไยออกสู่ตลาดให้ต่างจากช่วงการผลิตลำไยของจีนที่ออกสู่ตลาดช่วงเดือน ก.ค. - ก.ย. เนื่องจากจีนมีต้นทุนที่ต่ำกว่าไทย ส่วนการผลิตลำไยของกัมพูชาจะออกสู่ตลาดในช่วง ธ.ค. - ม.ค. เพราะจะทำให้เกิดการแข่งขันทางการตลาดระหว่างกัน
ในขณะที่สุกร ได้รับผลกระทบจากนโยบายประกันราคาของรัฐ ทำให้ต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์สูงขึ้น ภาครัฐควรดำเนินการเพื่อให้ผู้เลี้ยงสุกรรายกลางและรายย่อยอยู่รอดได้ตลอดทั้งห่วงโซ่ สำหรับการนำเข้าเครื่องในสุกร จากกลุ่มประเทศอียู ซึ่งมีราคาถูกกว่าไทยส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงในประเทศรวมทั้งการนำเข้ามาโดยไม่ได้ตรวจสอบด้านสุขอนามัยอย่างเข้มงวด เสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาด ดังนั้นภาครัฐควรวางแผนหรือมีแนวทางในการปรับตัวของเกษตรกรผู้เลี้ยงรายย่อยและรายกลาง ส่งเสริมการวิจัยและการพัฒนาด้านพันธุ์ อาหารและด้านอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับสุกร
ทั้งนี้ สศก.ต้องบูรณาการในส่วนของผลกระทบสินค้าเกษตร กองทุนเอฟทีเอ นำผลงานวิจัยเศรษฐกิจสินค้าเกษตรเพื่อรองรับการเข้าสู่เออีซี และมาตรการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่เออีซี เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการกำหนดนโยบาย มาตรการ แนวทางที่ชัดเจนและปฏิบัติได้จริง