วัสดุอุปกรณ์การพิมพ์ไทย “รุ่ง” มุ่งเจาะตลาดเออีซี 5 แสนล้าน
อุปกรณ์การพิมพ์ไทยเผยมูลค่าตลาดโตต่อเนื่องตั้งแต่ปี 54 คาดปี 56 รายได้ทะลุ 4 แสนล้านบาทจากปัจจัยสำคัญคือจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น คาดหลังเปิดเออีซีในปี 58 ตลาดโตไม่ต่ำกว่า 20% คิดเป็นมูลค่า 5 แสนล้านบาท เตรียมจัดงานใหญ่ GASMA PRINT 2014 ช่วงปลายปี 57 หวังเปิดตัวเป็นศูนย์กลางการพิมพ์ในอาเซียน
นายไชยวัฒน์ หาญสมวงศ์ นายกสมาคมการค้าวัสดุอุปกรณ์การพิมพ์ไทย เปิดเผยถึงภาพรวมธุรกิจการค้าวัสดุอุปกรณ์การพิมพ์ไทยในช่วง 3 ไตรมาสแรกปี 2556 ว่ามีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นประมาณ 15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งถือเป็นการเติบโตที่สูงมากเป็นประวัติศาสตร์ และคาดว่าในช่วงไตรมาสสุดท้ายปี 2556 จะยังคงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในอัตราที่ใกล้เคียงกัน โดยคาดว่าในปี 2556 มูลค่าตลาดรวมด้านการค้าเทคโนโลยี เครื่องจักร วัสดุและอุปกรณ์การพิมพ์จะสูงถึง 4 แสนล้านบาท
การเติบโตของภาพรวมธุรกิจสิ่งพิมพ์ในประเทศไทยสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งมีมูลค่ารวมประมาณ 3 แสนล้านบาท ก่อนจะเพิ่มขึ้นเป็น 3.5 แสนล้านบาทในปี 2555 และคาดว่าจะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องไปจนถึงปี 2558 เมื่อเปิดเขตประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนซึ่งอาจจะมีอัตราการเติบโตไม่น้อยกว่า 20% คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 5 แสนล้านบาท
“ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ตลาดการค้าวัสดุอุปกรณ์การพิมพ์ไทยเติบโตมากเป็นผลมาจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นทำให้มีการบริโภคสิ่งพิมพ์สูงขึ้นตามไปด้วย โดยสามารถจำแนกเป็นการพิมพ์บรรจุภัณฑ์ในสัดส่วน 60% และสิ่งพิมพ์ 40% โดยเฉพาะสิ่งพิมพ์บนบรรจุภัณฑ์มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องประมาณ 10-15% หลังจากที่ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่อย่างยูนิลิเวอร์ และพีแอนด์จี ย้ายฐานการผลิตมายังไทยเมื่อประมาณปี 2540 ในขณะที่สื่อสิ่งพิมพ์ทั้งหนังสือพิมพ์ นิตยสารและอื่นๆ ก็ยังคงมีทิศทางการเติบโตปีละ 2-3% สอดคล้องตามการเติบโตของจำนวนประชากรในประเทศ โดยสมาคมฯ คาดว่าหลังการเปิดเออีซีที่จะเกิดเสรีทางด้านการคมนาคมและขนส่งจะทำให้การเติบโตของสื่อสิ่งพิมพ์บนบรรจุภัณฑ์และสื่อสิ่งพิมพ์หลักสูงขึ้นอีกหลายเท่า”
นายไชยวัฒน์ยังกล่าวถึงแผนการเตรียมตัวเข้าสู่ตลาดประชาคมอาเซียนด้วยว่า สมาคมฯ วางแผนงานเพื่อเตรียมตัวเข้าสู่ตลาดอาซียนอย่างบริบูรณ์ โดยมีกิจกรรมหลากหลาย ทั้งการสัมมนาเผยแพร่ความรู้ และจัดโรดโชว์เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์กับผู้ประกอบการสิ่งพิมพ์ในประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีการเตรียมจัดกิจกรรมหลักคืองานแสดงเทคโนโลยีและวัสดุอุปกรณ์การพิมพ์ GASMA PRINT 2014 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ระหว่างวันที่ 24-27 กันยายน 2557 ภายใต้แนวคิด ASEAN Borederless Solutions โดยคาดว่าจะมีผู้ผลิตและผู้ค้าวัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการพิมพ์ทั้งไทยและต่างประเทศจาก 60 กลุ่มธุรกิจใน 25 ประเทศเข้าร่วมงานประมาณ 200 บริษัท และคาดว่าจะมีผู้เข้าชมงาน 1.5 หมื่นราย
“ประเทศไทยมีศักยภาพด้านเทคโนโลยีการพิมพ์สูงจนสามารถที่จะเป็นศูนย์กลางการพิมพ์ในอาเซียนได้ โดยผู้ประกอบการด้านการพิมพ์ในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านมีความต้องการทั้งทางด้านเทคโนโลยีและความรู้ในการพัฒนาธุรกิจการพิมพ์ ดังจะเห็นได้จากมีการร้องขอให้สมาคมฯ เดินทางไปจัดสัมมนาเผยแพร่ความรู้ในบางประเทศ ขณะเดียวกันยังมีการเดินทางมาเยี่ยมชมสถาบันการศึกษาและโรงพิมพ์ชั้นนำในประเทศไทยตลอดเวลา”
สมาคมฯ จึงวางเป้าหมายรุกตลาดในประเทศกำลังพัฒนาอย่างพม่า ลาว เวียดนาม และกัมพูชา เนื่องจากเป็นกลุ่มประเทศที่มีแนวโน้มการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ แต่ยังไม่มีกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ที่ครบวงจรและทันสมัยเข้าไปลงทุน โดยเฉพาะพม่าซึ่งมีแนวโน้มการเติบโตของสิ่งพิมพ์ประเภทนิตยสารอีกมาก โดยปัจจุบันมีบริษัทอุตสาหกรรมเกี่ยวกับสิ่งพิมพ์เข้าไปลงทุนมากถึง 2.8 พันแห่ง เนื่องจากเพิ่งเปิดเสรีทางการลงทุน แต่ในทางกลับกันยังมีกำลังการผลิตสิ่งพิมพ์ไม่เพียงพอต่อความต้องการจากปัจจัยด้านเทคโนโลยีเครื่องจักรและความรู้ความชำนาญงาน
“ในช่วงต้นปี 2557 ผู้ประกอบการค้าวัสดุอุปกรณ์การพิมพ์ไทยอาจมีปัญหาด้านการขายวัสดุอุปกรณ์ให้ประเทศเพื่อนบ้านพอสมควร เพราะยังต้องรอดูความชัดเจนด้านตัวเลขสัดส่วนการลดหย่อนภาษี เพราะแม้ทุกประเทศจะมีเป้าหมายลดภาษีให้เป็น 0% แต่บางประเทศก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะลดภาษีสินค้าในพิกัดรายการใดบ้าง แต่คาดว่าทุกอย่างจะลงตัวภายในไตรมาสสุดท้ายของปี 2557 ซึ่งจะทำให้มีคำสั่งซื้อสินค้าเข้ามาเป็นจำนวนมาก”