สุวัจน์ แนะ SMEs ปรับตัวรับ 6 กระแสเศรษฐกิจโลก
สุวัจน์ แนะเอสเอ็มอีปรับตัวรับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลง 6 กระแส สร้างธุรกิจยั่งยืน เชื่อศักยภาพผู้ประกอบการไทย ดึงนักลงทุนต่างชาติสร้างเศรษฐกิจแกร่ง ตั้งเป้าไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าอาเซียน เล็งต่อยอดพัฒนาสินค้าอุตสาหกรรมที่เป็นเอกลักษณ์จากวัฒนธรรมไทยในอนาคต
นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในงาน ปาฐกถาพิเศษ "A New Face of Thailand Future" ในงานสัมมนา Future Foresight Forum 2020 : Unveil SMEs in Mega Trends" ก้าวสู่ทศวรรษ 2020 : เจาะกลยุทธ์ โอกาสทางธุรกิจแห่งอนาคต จัดโดยสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจัดสัมมนา ว่า ปัจจุบันภาคธุรกิจเอสเอ็มอีต้องปรับตัวให้ทันกระแสเศรษฐกิจโลกจากข้อตกลงทางการค้าเสรี รวมถึงการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ที่จะทำให้ตลาดภูมิภาคใหญ่ขึ้นด้วยจำนวนประชากรที่มากถึง 540 ล้านคน
ทั้งนี้เอสเอ็มอี ต้องปรับตัวรับกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลง 6 กระแสสำคัญที่เป็น Mega Trends ได้แก่ ธุรกิจเพื่อวิถีชีวิตคนเมืองที่เปลี่ยนไป อาทิ 1.ขณะนี้มีการใช้สมาร์ทโฟนในการทำธุรกรรมต่าง ๆ นอกเหนือจากการสื่อสาร 2.ธุรกิจต้องปรับตัวสู่การเป็นเศรษฐกิจสีเขียว โดยภาคอุตสาหกรรมจะต้องหันมาผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพราะหากไม่จะไม่รับการยอมรับหรือไม่อาจขายสินค้าได้ 3.ธุรกิจเพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมสูงอายุ เพื่อตอบสนองความต้องการสินค้าที่ตอบสนองกับการที่ประชากรของแต่ละประเทศมีแนวโน้มอายุเฉลี่ยเพิ่มขึ้น ซึ่งต้องการสินค้าเพื่อสุขภาพมากขึ้น 4.ธุรกิจที่ตอบสนองอำนาจซื้อใหม่ของผู้หญิง 5.ธุรกิจในโลกดิจิทัล และ 6.ธุรกิจเกี่ยวกับระบบขนส่งความเร็วสูงและโลจิสติกส์ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลไทยมีนโยบายที่จะลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมมูลค่า 2 ล้านล้านบาท ซึ่งโครงการนี้จะมีส่วนช่วยลดต้นทุนการขนส่งสินค้าและช่วยให้นักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น สำหรับโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงจะช่วยให้การเดินทางสะดวกขึ้นประหยัดเวลาสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนในปัจจุบัน
นอกจากนี้นายสุวัจน์ ยังกล่าวต่อว่า ความแข็งแกร่งของเอสเอ็มอีไทยและการมีศักยภาพในการเป็นผู้ผลิตสินค้าเพียงพอที่จะอยู่ในห่วงโซ่อุปทาน หรือ Supply Chain ของอุตสาหกรรมต่าง ๆ เป็นปัจจัยสำคัญช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติเข้ามาในไทย เห็นได้จากอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ต่างชาติตัดสินใจเข้ามาลงทุนในไทย ทำให้ขณะนี้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตของภูมิภาค และเป็นผู้ผลิตรถยนต์ 1 ใน 10 อันดับแรกของโลก ดังนั้น การเร่งสร้างกรอบความคิดในการเป็นผู้ประกอบการให้กับประชาชนทุกภาคส่วนมีความสำคัญที่จะช่วยนำไปสู่การพัฒนาทรัพยากร ในพื้นที่มาพัฒนาสินค้าอุตสาหกรรมที่เป็นเอกลักษณ์จากวัฒนธรรมไทยได้ ซึ่งในที่สุดจะเป็นรากฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศได้ต่อไปได้ในอนาคต