กห.อ้าง AEC ต้องประนีประนอมเขมร จ่อส่งข้อมูลพระวิหารให้นายกฯ สัปดาห์หน้า
วันนี้ (17 ต.ค.) ที่กระทรวงกลาโหม พ.อ.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า ในสัปดาห์หน้า พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ปลัดกระทรวงกลาโหม พร้อมเหล่าทัพ ในฐานะฝ่ายความมั่นคงจะเข้าร่วมหารือและให้ข้อมูลเกี่ยวกับคดีปราสาทพระวิหารที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือศาลโลก นัดแถลงคดีในวันที่ 11 พ.ย. ตามที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมเรียกประชุม ซึ่งคาดว่านายกฯต้องการรับฟังความคืบหน้าการดำเนินหลังจากที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศอ่านคำแถลง เพื่อเตรียมพร้อมความมั่นคง ขณะเดียวกันเชื่อว่าฝ่ายไทยได้ใช้เอกสารสู้คดีอย่างเต็มที่ตามขั้นตอนของศาล ดังนั้นแนวทางดีที่สุดคือการประนีประนอม เน้นการเจรจา เพราะขณะนี้จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนด้วยกัน ส่วนสถานการณ์ตามแนวชายแดนยังคงวางกำลังทหารดูแลความเรียบร้อย โดยไม่ได้เพิ่มกำลัง และประชาชนใช้ชีวิตได้ตามปกติ
นอกจากนี้โฆษกกระทรวงกลาโหม ยังกล่าวว่า จากสภาพหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงที่อ่อนกำลังลงจากพายุนารี ได้อ่อนกำลังลงปกคลุมภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน บริเวณ จ.พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ และชัยนาท ลักษณะเช่นนี้ทำให้มีฝนทั่วไปในภาคกลางและมีฝนตกหนักบางแห่งในบริเวณจ.กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ ชัยนาท และสิงห์บุรี ส่งผลให้มีฝนเพิ่มขึ้นในภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก จะเริ่มมีฝนลดลงและจะกลับเข้าสูปกติในวันที่ 18 ต.ค.2556
โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในฐานะผอ.ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกระทรวงกลาโหมมีความห่วงใยต่อการใช้ชีวิตของประชาชนในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง ซึ่งเมื่อวันที่ 15 ต.ค.2556 ได้เดินทางพร้อมด้วยพล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมช.กลาโหม พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร รองผบ.สูงสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ได้ไปเยี่ยมพร้อมมอบสิ่งของให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี และ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา พร้อมได้สั่งการถึงแนวทางการแก้ปัญหาในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังสูงและไม่สามารถระบายน้ำออกนอกพื้นที่ได้ โดยให้แบ่งโซนนิ่งให้ระบายน้ำออกอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง
โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวอีกว่า นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพเรือ หน่วยเฉพาะกิจผลักดันน้ำกรมอู่ทหารเรือ สนับสนุนเครื่องผลักดันน้ำจำนวน 85 เครื่องดำเนินการเร่งระบายน้ำจ.ฉะเชิงเทราในพื้นที่อำเภอเมืองจำนวน16 เครื่อง และ อ.บางปะกง จำนวน 16 เครื่อง จ.ชลบุรี ในพื้นที่ อ.พานทอง จำนวน 16 เครื่อง และพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จำนวน 4 เครื่อง ส่วนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในเขตลาดกระบังจำนวน 18 เครื่อง พื้นที่ถนนบางนา-ตราดจำนวน 13เครื่องเพื่อเร่งระบายน้ำจากทุ่งนาและลำคลองพานทองลงสู่แม่น้ำบางปะกงเพื่อไหลสู่อ่าวไทย ส่วนพื้นที่ฝั่งตะวันตกของกรุงเทพมหานครบริเวณคลองทวีวัฒนา อ.นครชัยศรี จำนวน 2 เครื่อง เร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำท่าจีน
พ.อ.ธนาธิป กล่าวอีกว่านายกรัฐมนตรีฯให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนโดยเฉพาะการดูแลผู้ป่วยเป็นลำดับแรกได้มอบให้กำลังพลของ ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกระทรวงกลาโหม ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองบัญชาการกองทัพไทย โดยหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา และศูนย์บรรเทาสาธารณภัยเหล่าทัพ ประสานงานร่วมกับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเร่งสำรวจความเสียหายพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมขัง บ้านเรือนประชาชน เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลายเข้าสู่สภาวะปกติโดยทันที รวมถึงการเร่งแก้ปัญหาบำบัดน้ำเสียโดยใช้ สารจุลินทรีย์บำบัดน้ำเสีย โดยให้ดำเนินการผลิตสารจุลินทรีย์ทั้งแบบน้ำและลูกบอลตามความเหมาะสมของพื้นที่ รวมถึงบูรณาการใช้ศักยภาพของกำลังพลและเครื่องมือของแต่ละส่วนงานเพื่อเร่งแก้ปัญหาการระบายน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ทั้งนี้ ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกระทรวงกลาโหมและศูนย์บรรเทาสาธารณภัยหน่วยขึ้นตรงกระทรวงกลาโหม ได้สรุปการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ ตั้งแต่วันที่ 17 ก.ย.จนถึง16 ต.ค.2556 ดังนี้จัดกำลังพลจำนวน 13,257นายพร้อมยุทโธปกรณ์ รถยนต์บรรทุกขนาดต่างๆจำนวน 291 คันรถครัวสนาม จำนวน 3คัน โดยสามารถผลิตข้าวกล่องได้ประมาณ 2,000 กล่อง/คัน/วันรถประปาสนาม จำนวน 2 คัน พร้อมชุดประปาสนาม 3 ชุดเรือจำนวน 198 ลำ ชุดแพทย์เคลื่อนที่ จำนวน 6 ชุด เครื่องสูบน้ำ จำนวน 58 เครื่องเครื่องผลักดันน้ำ จำนวน 87 เครื่องอากาศยาน จำนวน 2 ลำ