ฟันธง! ไม่เลื่อนเปิดเทอม ร.ร.-อาชีวะ ชี้ช่องว่าง 4 เดือนช่วยปรับระบบสอบตรงเข้ามหา'ลัย
ชัดเจน! ศธ.ให้ ร.ร.และอาชีวศึกษาเปิดภาคเรียนตามเดิมเหมือนทุกปีคือ 16 พ.ค. “จาตุรนต์” ชี้มีข้อมูลศึกษาชัดข้อดีมากกว่าเปิดเทอมตามอาเซียน ระบุสอดคล้องบริบทสังคมไทยและตลาดแรงงานในประเทศ ส่วนช่องว่าง 4 เดือน ช่วยปรับระบบสอบตรงมหา'ลัย เอื้อเด็กมีเวลาเตรียมตัว
วันนี้ (9 ต.ค.) นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังประชุมกระทรวงศึกษาธิการ ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องกำหนดเปิด-ปิดภาคเรียนที่เหมาะสมของสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและอาชีวศึกษา และมีมติให้โรงเรียนประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอาชีวศึกษา ใช้กำหนดเปิด-ปิดภาคเรียนตามเดิม โดยเปิดภาคเรียนที่ 1 วันที่ 16 พ.ค. - 11 ต.ค. และเปิดภาคเรียนที่ 2 วันที่ 1 พ.ย. - 1 เม.ย.ของทุกปี เพราะเห็นว่ากำหนดเปิด-ปิดภาคเรียนที่ใช้อยู่นั้นมีข้อดีมากกว่า ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เสนอให้เลื่อนเปิดภาคเรียนเป็นวันที่ 10 มิ.ย. - 4 พ.ย. ส่วนภาคเรียนที่ 2 เปิดวันที่ 26 พ.ย. - 26 เม.ย. อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาดูแล้วกำหนดเปิด-ปิดภาคเรียนเดิมมีความสอดคล้องกับสภาพสังคม ประเพณี ฤดูกาลของไทยมากกว่า นักเรียนไม่ต้องประสบปัญหาน้ำท่วมเดือน ต.ค.และยังสอดคล้องกับสภาพตลาดแรงงานในประเทศด้วย เพราะความต้องการแรงงานในประเทศจะขึ้นสูงมากในช่วง มี.ค. - พ.ค.ของทุกปี เพราะฉะนั้น ถ้านักเรียนโดยเฉพาะนักเรียนอาชีวศึกษาสำเร็จการศึกษาในช่วง เม.ย.ก็จะสอดคล้องกับตลาดแรงงานมากกว่า
“สำหรับนักเรียนมัธยมศึกษา (ม.) ปีที่ 6 นั้นแม้ว่าจะสำเร็จการศึกษาตั้งแต่ เม.ย.ทำให้เหลือเวลาร่วม 4 เดือนครึ่งเพื่อรอเปิดภาคเรียนระดับอุดมศึกษาใน ส.ค. โดยจากการพิจารณาพบว่าไม่มีปัญหากลับเป็นโอกาสให้นักเรียนมีเวลาเตรียมตัวสอบมากขึ้น ขณะเดียวกันก็จะใช้ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นโอกาสที่ดีในการปรับระบบการสอบรับตรง ที่จะขอความร่วมมือไปยังมหาวิทยาลัยให้เปิดสอบรับตรงหลังจากนักเรียนจบการศึกษา คือหลัง 1 เม.ย. ซึ่งจะทำให้นักเรียนมีเวลาเตรียมตัว และมหาวิทยาลัยเองก็มีเวลาในการจัดระบบการสอบให้ดียิ่งขึ้น ขณะเดียวกันได้หารือร่วมกับสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) องค์การมหาชน ให้ช่วยขยับช่วงเวลาการสอบของ สทศ.ไปช่วงหลังปิดภาคเรียน ซึ่งก็ได้รับความเห็นด้วยจาก สทศ.” รมว.ศึกษาธิการ กล่าว
นายจาตุรนต์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ เดิมนั้นการเปิด-ปิดภาคเรียนของสถานศึกษาในสังกัดสพฐ. เพื่อให้สอดคล้องกับการเปิดภาคเรียนของมหาวิทยาลัย ที่สอดคล้องกับสากล ไม่ใช่ประเทศในกลุ่มอาเซียน และทางสพฐ.ได้มีการสำรวจความเห็นจากนักเรียน ผู้ปกครอง ครู ผู้อำนวยการโรงเรียน ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา และภาคเอกชน รวมจำนวน 15,696 คน พบว่า 8,560 คน หรือ 54.54% เห็นด้วยที่ให้เปิดภาคเรียนอย่างเดิมในวันที่ 16 พ.ค. มี 2,820 คน หรือ 27.44 % เห็นด้วยให้เลื่อนเปิดภาคเรียนตามมหาวิทยาลัยในเดือนส.ค. มีเพียง 4,308 คน หรือ 18.02% ที่เห็นด้วยให้เปิดภาคเรียนในวันที่ 10 มิ.ย. โดยจากการพิจารณาเปิดภาคเรียนอย่างเดิม มีข้อดี คือ การเรียนส่วนใหญ่ของนร.ชั้น ม.1-ม.5 มีความสอดคล้องในเชิงของภูมิอากาศ ประเพณีต่างๆ ที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อการเรียนการสอน ซึ่งถ้าเปลี่ยนไปก็อาจจะได้รับผลกระทบจากสิ่งเหล่านี้ อีกทั้งไม่ต้องจัดทำกฎร่างระเบียบ ไม่กระทบต่อการอุดหนุนรายหัว