“ปู” ชม “อาเบะ” นโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจ-แนะเปลี่ยนข้อริเริ่มอาเซียน-จีน

นายกฯ ประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 16 ชื่นชมนายกฯ ญี่ปุ่นฟื้นฟูเศรษฐกิจเน้นความสัมพันธ์ 3 ด้าน การเชื่อมโยงภูมิภาค-เทคโนโลยี-เยาวชนและวัฒนธรรม ผลักดันเอฟทีเออาเซียน-เกาหลี หนุนกลไกกองทุนแม่โขง-อาร์โอเค ชมการเติมโตสีเขียว หนุนจีนเปลี่ยนข้อริเริ่มสู่ทศวรรษแห่งเพชร ครบรอบ 10 ปีของการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ขับเคลื่อนความรุ่งเรือง ยึดเหนี่ยวสันติภาพและความมั่นคง และบริหารจัดการความแตกต่าง 
       
       วันนี้ (9 ต.ค.) เวลา 12.45 น. ตามเวลาท้องถิ่น ณ Muzakarah ศูนย์การประชุม International Conference Centre น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่นครั้งที่ 16 โดยนายก ฯ กล่าวชื่นชมนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจญี่ปุ่น ของนายชินโซะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นรวมทั้ง หลักสำคัญ 5 ข้อในการดำเนินนโยบายทางการทูต ต่ออาเซียน ซึ่งนายกฯ ได้ให้ความความสำคัญกับความสัมพันธ์อาเซียน – ญี่ปุ่น โดยเน้นใน 3 ด้านคือ 1. การลงทุนเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง รวมถึงการเชื่อมโยงภูมิภาคและการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ จะช่วยเสริมสร้างเครือข่ายโลจิสติกส์ภูมิภาค นำไปสู่การค้าและการลงทุนที่เพิ่มมากขึ้น 2.การลงทุนในเทคโนโลยีและนวัตกรรม และการบริหารจัดการเมืองที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของญี่ปุ่น จะช่วยให้อาเซียนสามารถจัดการกับการขยายตัวของเมืองในอนาคตอันใกล้ รวมทั้ง การบริหารจัดการภัยภิบัติทางธรรมชาติและเทคโนโลยีดาวเทียมที่จะช่วยเรื่อง การพยากรณ์อากาศ และการเตือนภัย และ 3.การลงทุนด้านเยาวชนและวัฒนธรรม โดยไทยยินดีสนับสนุนนโยบาย โครงการแลกเปลี่ยนเยาวชน JENESYS 2.0 เพื่อส่งเสริมให้เกิดความตระหนักและความเข้าใจอันดีระหว่างประชาชนของอาเซียนและญี่ปุ่น นอกจากนี้ ไทยแสดงความยินดีที่ญี่ปุ่นมีนโยบายใหม่ด้านวัฒนธรรมซึ่งสามารถปลูกฝังความเข้าใจระหว่างอาเซียน-ญี่ปุ่นผ่านวัฒนธรรมที่หลากหลายได้ดียิ่งขึ้น และไทยสนับสนุนบทบาทของศูนย์อาเซียน-ญี่ปุ่น ในการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนประชาชนและวัฒนธรรมระหว่างกัน
       
       จากนั้นเวลา 14.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น นายกฯ ได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 16 โดยนายกฯ ได้เสนอให้ที่ประชุมผลักดันประเด็นสำคัญ คือการพัฒนากลไกความร่วมมือให้มีการเสริมสร้างประสิทธิภาพเพื่อนำไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อย่างเป็นรูปธรรม เน้นประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลีเพื่อให้การค้าระหว่างทั้งสองฝ่ายเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2015 ทั้งนี้ ไทยยินดีสนับสนุนการจัดตั้งกลไกเพื่อใช้ประโยชน์จาก กองทุน Mekong – ROK ในองค์กรลุ่มแม่น้ำโขงในประเทศไทย โดยไทยยินดีต่อการประชุมระหว่างคณะทำงานพิเศษ ( Task Force ) ของเกาหลีกับคณะกรรมาธิการประสานงานการเชื่อมโยงอาเซียน และประสบการณ์ของเกาหลีในด้านหุ้นส่วนภาครัฐและเอกชนจะมีประโยชน์ต่อความพยายามร่วมกันในการส่เสริมการเชื่อมโยงภูมิภาค ซึ่งไทยชื่นชมเกาหลีใต้ที่มีบทบาทนำในเรื่องการส่งเสริมการเจริญเติบโตสีเขียว(green growth) ซึ่งอาเซียนยินดีร่วมมือกับเกาหลีและด้วยสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ส่งผลกระทบกับอาหาร น้ำ และพลังงาน อาเซียนและเกาหลีจำเป็นเสริมสร้างวามร่วมมือในเรื่องการเติบโตสีเขียวให้เป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วน รวมทั้ง ความร่วมมือในการอนุรักษ์ป่าไม้ ด้วย
       
       จากนั้นเวลา 15.15 น. ตามเวลาท้องถิ่น นายกฯ ได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ครั้งที่ 16 โดยสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนประธานการประชุม เชิญนายก ฯ ในฐานะประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน–จีน กล่าวต่อที่ประชุม โดยนายกฯ ได้กล่าวในที่ประชุมตอนหนึ่งว่า ประเทศจีนเป็นหนึ่งในประเทศที่มีพลวัตรและหุ้นส่วนที่สำคัญของอาเซียน โดยจีนและอาเซียนเป็นหุ้นส่วนที่ยึดโยงกันด้วยอนาคตร่วมกัน อาเซียนและจีนยึดถือในหลักการการเดียวกัน คือ เป็นเพื่อนบ้านที่ดี เคารพซึ่งกันและกัน และสนับสนุนกัน ในโอกาสครบรอบ 10 ปีของการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อาเซียน-จีน ควรที่จะแปลงข้อริเริ่มต่างๆไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน และยกย่องให้เป็น “ทศวรรษแห่งเพชร” (Diamond Decade) ตามที่นายกรัฐมนตรีจีนได้เคยเสนอไว้
       
       โดยประการที่ 1.จะใช้ความเป็นหุ้นส่วนอาเซียนและจีนเป็นพลังขับเคลื่อนเพื่อความรุ่งเรืองร่วมกัน โดยอาเซียนสนับสนุนข้อริเริ่มของจีนในการยกระดับ ความตกลงเขตการค้าเสรี อาเซียน-จีน ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้า และลดอุปสรรคต่างๆ ทั้งยังต้องแสวงหาความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และต้องสะท้อนเป้าหมายในการพัฒนาภายในปี 2015 ประการที่ 2. ความเป็นหุ้นส่วนจะต้องเป็นที่ยึดเหนี่ยวของสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค ประการที่ 3. ต้องบริหารจัดการความแตกต่าง เพื่อให้ความสัมพันธ์เดินไปข้างหน้า ซึ่งหลักการนี้ประยุกต์ใช้กับประเด็นทะเลจีนใต้ ซึ่งในการประชุมปีที่แล้ว อาเซียนและจีนได้ออกแถลงการณ์ร่วมในโอกาสครบรอบ 10 ปีของ DOC และมีพัฒนาการเพราะต่างตระหนักดีถึงประโยชน์ร่วมกันในการรักษาสันติภาพและความมั่นคงในทะเลจีนใต้ ดังนั้นอาเซียนและจีนต้องเชื่อใจกัน เพื่อป้องกันกรณีที่จะเกิดขึ้นทางทะเล บริหารจัดการเมื่อเกิดเหตุการณ์ต่างๆ และสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการแก้ปัญหาข้อพิพาท ประเทศไทยในฐานะผู้ประสานงานอาเซียน – จีน รู้สึกรับผิดชอบอย่างยิ่งต่อการยกระดับความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ และจะดำเนินการให้ดีที่สุดเพื่อส่งเสริมการหารือสนทนาและความร่วมมือที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นในแนวทางที่สร้างสรรค์และสมดุล

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ manager.co.th ดูทั้งหมด

199

views
Credit : manager.co.th


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน