“เอเปก” ลั่นร่วมมือปกป้อง ศก.โลก สหรัฐฯ-จีนประชันจัดตั้ง “เขตค้าเสรี”
เอเจนซีส์ - บรรดาผู้นำของกลุ่มเอเปก ปิดการประชุมซัมมิตประจำปีนี้ที่เกาะบาหลี ในวันอังคาร (8 ต.ค.) โดยประกาศร่วมมือสร้างเสถียรภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่กำลังถูกคุกคามจากการขาดแคลนทรัพยากรและอุปสรรคขวางกั้นการเติบโต ทางด้านอเมริกาพยายามถือโอกาสผลักดันข้อตกลง “ทีพีพี” ทันทีที่เอเปกปิดประชุม ขณะที่จีนเหน็บแนมว่า ข้อตกลงดังกล่าวมุ่งเอื้อประโยชน์แก่ชาติมั่งคั่ง และเตรียมผลักดันข้อตกลงค้าเสรี 16 ชาติเอเชีย-แปซิฟิก ที่มีอาเซียนเป็นหัวหอกที่บรูไนกลางสัปดาห์นี้
เหล่าผู้นำของ 21 ชาติและดินแดนที่เป็นสมาชิกกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) ปิดการประชุม 2 วันด้วยการให้คำมั่นที่จะปกป้องความมั่นคงด้านอาหาร พลังงาน และน้ำ จากการคุกคามของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและการเติบโตของประชากร
คำแถลงตอนปิดประชุมยังระบุถึงความร่วมมือในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน สะพาน และท่าเรือ เพื่อทำให้ภูมิภาคนี้เป็นสถานที่ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการค้า อย่างไรก็ดี ข้อความส่วนใหญ่ในคำแถลงเป็นการตอกย้ำเป้าหมายระยะยาว
ทางด้านประธานาธิบดี ซูซิโล บัมบัง ยุโธโยโน แห่งอินโดนีเซีย เจ้าภาพของงาน กล่าวว่า การร่วมมืออย่างใกล้ชิดจะทำให้เกิดสถานการณ์ที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน โดยเฉพาะในห้วงเวลาที่เศรษฐกิจโลกยังฟื้นตัวไม่เต็มที่
คำแถลงของเอเปกยังแสดงความกังวลว่า เศรษฐกิจโลกขณะนี้อ่อนแอเกินไป อีกทั้งมีความเสี่ยงขาลง ในเวลาเดียวกับที่การค้าโลกอ่อนแอ และแนวโน้มเศรษฐกิจบ่งชี้การชะลอตัวและเสียสมดุลมากกว่าที่คาดไว้
แม้วาระการประชุมอย่างเป็นทางการของเอเปกที่ครอบคลุมประชากร 3,000 ล้านคนและกว่าครึ่งของเศรษฐกิจโลก มุ่งเน้นการผลักดันฉันทามติเกี่ยวกับการค้าเสรี ทว่า คำแถลงและการประชุมบางส่วนยังแฝงด้วยบรรยากาศความขัดแย้งด้านดินแดนระหว่างจีนกับเพื่อนบ้านส่วนใหญ่ โดยเฉพาะญี่ปุ่น
บรรดาผู้นำของกลุ่มเอเปก ปิดการประชุมซัมมิตประจำปีนี้ที่เกาะบาหลีในวันอังคาร (8ต.ค.)
นายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ กล่าวว่า ญี่ปุ่นพร้อมเจรจา ทว่า โตเกียวปฏิเสธหนักแน่นในระหว่างการหารือเกี่ยวกับการอ้างที่จีนสิทธิ์ทับซ้อนเหนือหมู่เกาะในทะเลจีนตะวันออก ซึ่งญี่ปุ่นเรียกชื่อว่าเซงกากุ แต่จีนเรียกว่าเตี้ยวอี๋ว์
นอกจากนี้จีนยังมีกรณีพิพาทด้านดินแดนกับหลายประเทศในสมาคม อาเซียน โดยอาเซียนนั้นหวังว่า จะบรรลุข้อตกลงนโยบายร่วมในการจัดการข้อพิพาทนี้กับปักกิ่งในเร็ววัน ขณะที่จีนบ่ายเบี่ยงว่า เห็นด้วยในหลักการ แต่ไม่มีความจำเป็นต้องรีบร้อนสรุปแต่อย่างใด
นอกจากนั้น หลังเสร็จสิ้นการประชุมเอเปกแล้ว พวกผู้นำ 12 ประเทศที่ร่วมเจรจาทำข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ทีพีพี) ซึ่งมีอเมริกาเป็นแกนนำ ยังรีบร่วมหารือและออกคำแถลงระบุว่าพวกเขายังมีจุดมุ่งหมายที่จะบรรลุข้อตกลงก่อนสิ้นปีนี้ ภายหลัง “มีความก้าวหน้าอย่างสำคัญ” ในประเด็นต่างๆ
อย่างไรก็ดี ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า การที่ประธานาธิบดี บารัค โอบามา งดเข้าร่วมซัมมิตเอเปกครั้งนี้ รวมถึงการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกที่บรูไนในวันพุธและพฤหัสบดี (9-10) เพื่ออยู่แก้ไขสถานการณ์ทางการเมืองและวิกฤตงบประมาณในประเทศนั้น ทำให้การผลักดันทีพีพีขาดน้ำหนักอย่างชัดเจน แม้ส่งรัฐมนตรีต่างประเทศ จอห์น เคร์รี มาเป็นตัวแทนก็ตาม
อเมริกานั้นโฆษณาว่า ทีพีพีมุ่งสร้าง “มาตรฐานทองคำ” เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงซับซ้อนทางเศรษฐกิจในช่วงศตวรรษที่ 21 เช่น การควบคุมระบบคอมพิวเตอร์คลาวด์ และสิทธิบัตร
ทว่า จีนและแม้แต่ประเทศกำลังพัฒนาบางรายที่ร่วมเจรจาทีพีพี กลับแสดงความกังวลว่า ข้อตกลงนี้อาจกำหนดกติกาทางการค้าที่เอื้อประโยชน์ประเทศที่รวยที่สุดและบริษัทที่มีอิทธิพลที่สุดเท่านั้น
ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง กล่าวระหว่างการประชุมผู้นำธุรกิจเอเปกว่า จีนจะมุ่งมั่นสร้างกรอบโครงความร่วมมือภาคพื้นแปซิฟิกที่ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์โดยทั่วถึง ซึ่งสื่อของทางการปักกิ่งตีความว่า เป็นการวิจารณ์ทีพีพีโดยตรง
นอกจากนี้ อินโดนีเซียที่ไม่ได้ร่วมเจรจาทีพีพีเช่นกัน ยังแสดงความขุ่นเคืองที่อเมริกาทุ่มความสนใจกับทีพีพีทั้งที่เดินทางมาร่วมประชุมเอเปก
ปัจจุบัน จีน และอินโดนีเซีย กำลังเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีที่ครอบคลุม 16 ประเทศในเอเชีย-แปซิฟิก โดยมีอาเซียนเป็นหัวหอก และไม่มีอเมริการวมอยู่ด้วย โดยคาดว่า จะมีการหารือเกี่ยวกับข้อตกลงนี้ที่บรูไนกลางสัปดาห์นี้