“อภิชาติ” เผยเร่งแก้น้ำท่วม ร.ร.-ลดงานธุรการครูผู้สอน และเตรียมสรุปกำหนดปิด-เปิดเทอม
“อภิชาติ” รับตำแหน่งใหม่ เร่งดูแลปัญหาน้ำท่วม ร.ร.เป็นอันดับแรก พร้อมชูเป้าหมายลดงานธุรการให้ครูผู้สอน เล็งใช้วิธีตัดลดโครงการนโยบายที่ต้องสั่งไปยังเขตพื้นที่ฯ และโรงเรียน ย้ำ สพฐ.จะไม่เพิ่มโครงการใหม่ ยกเว้นเป็นนโยบายรัฐบาลหรืองานเร่งด่วนของรัฐมนตรี เตรียมเร่งสรุปกำหนดเปิด-ปิดเทอมอาเซียนใหม่เสนอ รมว.ศึกษาธิการ พิจารณา
นายอภิชาติ จีระวุฒิ
วันนี้ (3 ต.ค.) นายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) ให้สัมภาษณ์ในโอกาสเข้าทำงานวันแรก ซึ่งมีผู้บริหาร ข้าราชการ ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และ ผอ.โรงเรียนเดินทางมาต้อนรับและมอบช่อดอกไม้ ว่า หลังจากรับตำแหน่งแล้ว งานเร่งด่วนที่จะต้องดูแล คือ การแก้ปัญหาให้กับโรงเรียนที่ถูกน้ำท่วมซึ่งกระจายอยู่หลาย 10 จังหวัดในภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยจะหารือเรื่องนี้เพื่อบรรเทาทุกข์ให้กับโรงเรียน ครู นักเรียนและผู้ปกครอง
นอกจากนั้น จะเร่งยกร่างประกาศ ศธ.กำหนดวันเปิด-ปิดภาคเรียนใหม่เสนอ รมว.ศึกษาธิการ พิจารณา ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาและการจัดการศึกษาของอาเซียน ซึ่งระดับอุดมศึกษาได้เริ่มขยับวันเปิดภาคเรียนเป็นเดือนกันยายน เริ่มตั้งแต่ปีการศึกษา 2557 เป็นต้นไป เพราะฉะนั้น กำหนดเปิด-ปิดภาคเรียนของโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานก็ต้องปรับตาม อย่างไรก็ตาม รมว.ศึกษาธิการ ห่วงว่า การเลื่อนไปปิดภาคเรียนช่วงปลายเดือน เมษายนตามที่ สพฐ.เคยเสนอไปนั้น จะกระทบต่อการสอบปลายภาคของนักเรียน เพราะช่วงก่อนสอบปลายภาคตรงกับเทศกาลสงกรานต์ อาจทำให้นักเรียนมีปัญหาเรื่องการเตรียมตัวสอบ ดังนั้น จึงให้ สพฐ.นำเรื่องกลับมาพิจารณาทบทวนแล้วนำเสนอ รมว.ศึกษาธิการ อีกครั้ง ซึ่งในวันนี้ตนจะเรียกรองเลขาธิการ สพฐ.ทั้ง 3 คนมาหารือเรื่องดังกล่าวใหม่
นายอภิชาติ กล่าวต่อว่า สำหรับนโยบายในการทำงานของตนนั้น ได้หารือกับรองเลขาธิการ กพฐ.ทั้ง 3 แล้ว งานของ สพฐ.นั้นกว้างและมีผลกระทบกับบุคลากรมากมาย ทำอย่างไรการสื่อสารองค์กรจึงจะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้แนวนโยบายและคำสั่งจากส่วนกลางกระเพื่อมลงไปยังโรงเรียนได้อย่างรวดเร็ว
“ที่สำคัญจะต้องหางทางลดปริมาณงานธุรการของครูผู้สอนให้ได้มากที่สุด ดังนั้น สพฐ.จะต้องทบทวนนโยบายหรือกิจกรรมบางเรื่องที่มีมากมหาศาล ซึ่งเท่าที่ทราบมีถึง 162 แผนงานโครงการที่ส่งไปยังเขตพื้นที่และโรงเรียน แต่โรงเรียนไม่ได้มีขนาดเดียว มี ร.ร.ขนาดเล็กจิ๋ว ที่มีครูคนเดียว หรือ 1-2 คน ก็ต้องทำงานกิจกรรมแผนงานโครงการที่เป็นนโยบายลงไปเหมือนกับโรงเรียนใหญ่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เป็นธรรมกับครูที่สอนในโรงเรียนขนาดเล็ก หรือในโรงเรียนที่มีครูไม่ครบและไม่พอ แต่สำหรับโรงเรียนใหญ่นั้นอาจทำได้ เพราะฉะนั้น จะต้องคิดทบทวนกันแล้วว่า ก่อนที่จะวางโครงการใหม่ หากไม่ใช่โครงการรัฐบาล หรือหากไม่ใช่เป็นนโยบายที่รัฐมนตรีเห็นว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำ สพฐ.ก็คงจะไม่คิดแผนเพิ่ม ดังนั้น จึงจะให้ดูว่า โครงการอะไรที่เลิกได้หรือปรับปรุงให้กระชับได้ และไม่ใช่ทุกโรงเรียนจะทำทุกโครงการเหมือนกันหมด ให้พิจารณาไปตามกำลังคนและงบประมาณและตามความจำเป็น” นายอภิชาติ กล่าวและว่า จะให้เร่งรัดเรื่องการแก้ปัญหาอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ด้วย เพราะการอ่านออกเขียนได้เป็นพื้นฐานสำหรับการวัดผลต่อไป หากเด็กอ่านไม่ออกก็ทำข้อสอบไม่ได้
นายอภิชาติ กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องเงินวิทยฐานะ และเรื่องการบรรจุกำลังคนทดแทน ที่ล่าช้านั้นตนก็จะเร่งรัดในเรื่องนี้ โดยเฉพาะการเร่งรัดการบรรจุครูในอัตราว่าง ซึ่งขณะนี้สพฐ.มีอัตราว่างประมาณ 7,000-8,000 อัตรา ที่มีอัตราว่างกระจายกันอยู่ในทุกพื้นที่ ดังนั้น ตนจะดำเนินการโดยจะขอบรรจุข้ามบัญชีเพื่อบรรจุให้ได้ทั้งหมด ซึ่งต้องแก้ปัญหาร่วมกันระหว่าง สพฐ.กับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เพื่อให้บรรจุครูให้ทันในภาคเรียนที่ 2 และหากมีอัตราว่างก็จะขออนุมัติจาก ก.ค.ศ.เปิดสอบอีกครั้งหนึ่ง
“ส่วนการป้องการการทุจริตสอบครูผู้ช่วยใหม่ นั้น จะร่วมมือกับ ก.ค.ศ.หากเห็นว่าตรงไหนควรจะปรับก็ต้องปรับ โดยเฉพาะที่ถูกโจมตีมากคือการสัมภาษณ์ที่มีการวิ่งเต้นได้ แต่ก็มีวิธีการป้องกันได้ ส่วนการสอบข้อเขียน ก็ต้องดูว่าจะใช้ข้อสอบใคร และมอบหมายใครที่สามารถมั่นใจในความสุจริตได้ว่าไม่รายงานเท็จ ใจผมอยากให้มีการรวมศูนย์สอบชุดเดียวแล้วให้เขตพื้นที่การศึกษานำไปใช้ แต่หาก อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่เป็นผู้ลงมติว่า ขอให้กลุ่มจังหวัด กลุ่มภูมิภาค หรือกลุ่มเขตตรวจราชการ รวมกันแล้วใช้วิธีออกข้อสอบก็สามารถทำได้ ก็จะเหลือจุดออกข้อสอบทั้งประเทศเพียง 12จุด ก็จะควบคุมง่ายขึ้น แต่หากปล่อยให้ทุก อ.ก.ค.ศ.ออกข้อสอบด้วยตนเองก็จะควบคุมยาก” เลขาธิการ กพฐ.กล่าวและว่า ส่วนเรื่องการเบิกจ่ายเงินค่าวิทยฐานะนั้นรัฐบาลจัดงบเพิ่มให้ 16,000 ล้านบาท ดังนั้น แต่ขณะนี้ยังเบิกไม่ได้ เพราะเป็นงบประมาณปี 2557 ต้องรอประกาศในราชกิจจานุเบกษาก่อนจึงจะเบิกจ่ายได้ ซึ่งได้แน่แต่ต้องย้อนหลังไปประมาณ 2 ปี รัฐบาลคงต้องติดหนี้ครูอยู่ปีครั้งถึงสองปี จึงจะได้ครบทุกปี แต่การเพิ่มปีละ 16,000 ล้านบาทนั้นมากกว่างบ ศธ.ด้วยซ้ำ