จับตาบทบาทจีนในสองบิ๊กซัมมิต มุ่งผลักดันข้อตกลงการค้า ไม่เน้นปัญหาอ้างกรรมสิทธิ์หมู่เกาะ
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน - เอเจนซี่
เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - จีนเตรียมใช้สองเวทีการประชุมสำคัญ กระชับความสัมพันธ์และผลักดันข้อตกลงการค้าพหุภาคีกับชาติอาเซียน ตลอดจนสร้างอิทธิพลต้านความเคลื่อนไหวของมะกัน ที่เข้ามาแทรกแซงปัญหาการอ้างกรรมสิทธิ์ครอบครองหมู่เกาะในทะเลจีนใต้
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนจะเข้าร่วมการประชุมกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปก ที่เกาะบาหลีในสัปดาห์นี้ โดยนับเป็นการเยือนอินโดนีเชียครั้งแรกในฐานะผู้นำจีน หลังจากเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนมี.ค. ที่ผ่านมา และแวะเยือนมาเลเซียระหว่างการเดินทางเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ด้วย
ขณะที่ในสัปดาห์หน้านายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียงจะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกที่บรูไน จากนั้น จะเดินทางเยือนไทยและเวียดนาม
ปัญหาการอ้างกรรมสิทธิ์ครอบครองหมู่เกาะระหว่างจีนกับชาติอาเซียนบางชาติ ซึ่งรวมทั้งเวียดนามนั้น เวียดนามเป็นชาติที่วิพากษ์วิจารณ์จีนในเรื่องนี้มากที่สุด ด้านสหรัฐฯ ก็เข้ามามีบทบาทในฐานะเป็นแกนสำคัญในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยนอกจากการเพิ่มกำลังทหารในภูมิภาคนี้แล้ว สหรัฐฯ ยังหาทางขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ซึ่งรวมทั้งการผลักดันข้อตกลงหุ้นส่วนข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก (TPP) ซึ่งเป็นข้อตกลงการค้าเสรี ที่กำลังมีการเจรจากับออสเตรเลีย บรูไน ชิลี แคนาดา ญี่ปุ่น มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู สิงค์โปร และเวียดนาม
อย่างไรก็ตาม จีนไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมในข้อตกลงนี้ ซึ่งในความเห็นของนักวิเคราะห์ สหรัฐฯเกรงว่า หากรวมจีนเข้าไปด้วย สหรัฐฯ จะถูกลดบทบาทความสำคัญลง ส่วนรัฐบาลปักกิ่งเองต้องคิดหนักในการยอมรับเงื่อนไข ที่กินขอบเขตกว้าง เช่น ภาษี และอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ
นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียงของจีน - เอเจนซี่
นายจิน ชั่นหลง อาจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของมหาวิทยาลัยเหรินหมินมองว่า จีนอาจใช้เวทีการประชุมทั้งสองผลักดันการทำข้อตกลงการค้าพหุภาคีได้แก่ข้อตกลงการเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจครอบคลุมภูมิภาค (RCEP) ซึ่งจะประกอบด้วยชาติสมาชิกอาเซียน 10 ชาติ ตลอดจนออสเตรเลีย อินเดีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และเกาหลีใต้
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า จีนจะระมัดระวังไม่ให้การเจรจาผลักดันข้อตกลงนี้ไปบดบังบทบาทของเอเปก ซึ่งจีนจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในปีหน้า
ด้านนายจอร์จ เยียว อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของสิงค์โปร์ และปัจจุบันเป็นรองประธานของแคร์รี่กรุ๊ป ซึ่งควบคุมบริษัทผู้ผลิตหนังสือพิมพ์เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์มองว่า การมาเยือนของประธานาธิบดีสีแสดงถึงความมุ่งมั่นที่จะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในระยะยาวกับชาติอาเซียน ขณะที่อาเซียนก็ต้อนรับข้อเสนอของจีนในการขยายข้อตกลงการค้าเสรีดังกล่าว
นายจวง กั๋วถู ผู้อำนวยการศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาของมหาวิทยาลัยซย่าเหมินเชื่อว่า ในการประชุมสุดยอดทั้งสองเวที จีนจะไม่นำข้อพิพาทหมู่เกาะขึ้นมาเป็นประเด็นหารือสำคัญเหมือนการประชุมสุดยอดในปีที่แล้ว เนื่องจากสามารถบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับหลักปฏิบัติสำหรับความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ได้ในระดับหนึ่งแล้วในการประชุมอาเซียนที่เมืองซูโจว ซึ่งจีนเป็นเจ้าภาพเมื่อเดือนที่แล้ว แม้ว่าฟิลิปปินส์และเวียดนามจะหยิบยกเรื่องนี้มาหารืออีกก็ตาม