สิงคโปร์ชูเอสเอ็มอี รุกหนักตลาดอาเซียน 

อาเซียนเป็นแหล่งลงทุนเบอร์หนึ่งของนักลงทุนสิงคโปร์ พร้อมเปิดประตูสู่อาเซียนด้วยเม็ดเงินลงทุนมหาศาล เพื่อมุ่งเป้าสู่อาเซียน+6


 
ถ้าถามว่าประเทศไหนพร้อมที่สุดสำหรับการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หลายเสียงคงตอบว่า "สิงคโปร์" ประเทศที่มีขนาดเล็กกว่ากรุงเทพฯ แต่มีบทบาทบนเวทีการค้าโลกที่โดดเด่น "กรุงเทพธุรกิจ อาเซียนพลัส" ได้มีโอกาสวัดความพร้อมของประเทศเล็กๆ แห่งนี้ รวมถึงเปิดมุมมองเกี่ยวกับความสัมพันธ์กับอาเซียน และ การบุกตลาดต่างประเทศของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมสัญชาติสิงคโปร์ ในการสัมภาษณ์พิเศษ ศาสตราจารย์ ดอกเตอร์ เชี่ย เสี้ยว หยู นักวิจัยอาวุโส สถาบันการระหว่างประเทศของสิงคโปร์ (Singapore Institute of International Affairs)

ศาสตราจารย์ เชี่ย กล่าวว่า ช่วงที่มีการเริ่มพูดคุยกันในเรื่องประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) หลายประเทศยังลังเลที่จะเข้าร่วมด้วย เนื่องจากกลัวจะเสียเปรียบจากระดับการพัฒนาเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน ซึ่งหลายประเทศก็มองว่าเศรษฐกิจของตนอาจจะด้อยกว่าบางประเทศ อย่าง อินโดนีเซีย กลัวเพื่อนบ้านที่มีเศรษฐกิจพัฒนากว่าอย่าง สิงคโปร์

"ฉันพยายามจะบอกเพื่อนอินโดนีเซียว่า แม้ว่าสิงคโปร์จะมีความสามารถในการแข่งขันที่สูง แต่ก็เป็นเพียงแค่ประเทศเล็กๆ ที่ไม่มีทางจะสู้ยักษ์อย่างอินโดนีเซียได้ ดังนั้นไม่ต้องกังวลเรื่องนี้ เราเดินหน้าไปพร้อมกันได้ เพราะข้อตกลงเขตการค้าเสรีเป็นผลประโยชน์ร่วมของทุกประเทศ ยิ่งมีความหลากหลายมาก ก็จะยิ่งได้ประโยชน์" ศาสตราจารย์ เชี่ย กล่าว

ถ้าไม่นับสิงคโปร์ ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตขั้นปฐมภูมิ มีสินค้าที่คล้ายคลึงกัน อย่าง น้ำมันปาล์ม อ้อย ข้าว ดีบุก ทุกประเทศต่างพยายามแย่งชิงสู้กันในตลาดตะวันตก แต่เมื่อก้าวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม ความคิดที่จะสร้างเครือข่ายการผลิต (Production Networks) จึงเกิดขึ้น

สิงคโปร์พร้อมใช้ประโยชน์เออีซี

สิงคโปร์ต้องการที่จะเป็น ผู้ผลิตสินค้า วัตถุดิบ และ แหล่งเงินทุนที่สำคัญสู่ประเทศสมาชิกอาเซียน โดยมองว่าอาเซียนเป็นตลาดนำเข้าวัตถุดิบ และชิ้นส่วนราคาถูก ทั้งยังเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญด้วย แรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานที่สิงคโปร์ส่วนใหญ่มาจากประเทศในอาเซียน และในทางกลับกันอาเซียนเป็นแหล่งลงทุนเบอร์หนึ่งของนักลงทุนสิงคโปร์ ดังนั้นสิ่งที่ประเทศเล็กๆที่ขาดแคลนที่ดินนี้ สามารถจะหยิบยื่นให้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้ คือ ‘เม็ดเงินลงทุน’ ที่ชาติสมาชิกเองก็กำลังมองหา

"ณ วินาทีนี้ สิงคโปร์พร้อมแล้วสำหรับเออีซี ทั้งเปิดเสรีการค้า สินค้า บริการ การลงทุนจากต่างชาติ ตลาดแรงงาน และ เงินทุน ประตูการค้าของสิงคโปร์เปิดรับหมดแล้ว เราไม่ได้เปิดประตูเพราะเออีซี แต่เปิดเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน และความอยู่รอดของเราเอง"

เป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจของสิงคโปร์ คือ มองไปที่การพัฒนาความร่วมมือกับอาเซียน และส่วนอื่นๆของโลกด้วย ผ่านทางกรอบข้อตกลงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคฟื้นแปซิฟิก (ทีพีพี) ข้อตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างสิงคโปร์-จีน สิงคโปร์-เกาหลีใต้

มุ่งเป้าศูนย์กลางอาเซียน+6

จะเห็นได้ว่า เป้าหมายทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ไม่ใช่เพียงแค่ในอาเซียน แต่แน่นอนว่าการบูรณาการทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ คือ โอกาสที่สำคัญที่จะละเลยไม่ได้ สิงคโปร์ต้องการจะเป็นศูนย์กลางทางการเงิน วณิชธนกิจ แหล่งการค้า การลงทุนที่สำคัญบนเวทีโลก ประตูเสรีทางการค้าระหว่าง 10 ชาติสมาชิกอาเซียน รวมถึง ข้อตกลงทางการค้าของอาเซียนกับประเทศอื่นๆ เช่น อาเซียนบวก6 โดยมี 10 ชาติอาเซียน รวมกับ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย และ นิวซีแลนด์ คือกุญแจสำคัญที่จะช่วยเบิกทางให้สิงคโปร์ไปถึงฝั่งฝันได้

ถ้าชาติพริกขี้หนูแห่งอาเซียนสามารถผงาดขึ้นมาได้ ความรุ่งเรือง และ ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น ผ่านการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ ทุน และ แรงงานอย่างเสรีในภูมิภาค จะเป็นตัวขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกอื่นๆที่เชื่อมโยงการผ่านห่วงโซ่อุปทาน จะเกิดอานิสงส์ผลดีต่อ ทักษะแรงงาน พัฒนาการของตลาดเงิน ตลาดทุน และศักยภาพของผู้ประกอบการของประเทศสมาชิก

นักวิจัยอาวุโส ย้ำว่า "ปรัญชาทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ คือ การพัฒนาขีดความแข่งขันระดับสากล (Internationally Competitive) นี่คือสิ่งที่เราต้องทำ มิเช่นนั้น เราจะหายไปจากแผนที่เศรษฐกิจโลก เพราะเราไม่มีผืนป่า ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติอย่างชาติอื่น"

ดังนั้นรัฐบาลสิงคโปร์จึงต้องทำให้แน่ใจว่า นโยบายเศรษฐกิจพร้อมที่จะสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สาธารณูปโภคพื้นฐาน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน

ชี้ขาดที่ดิน-ค่าแรงสูงบีบเอสเอ็มอีสู่ตลาดโลก

นอกจากนี้การที่ผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม หรือ เอสเอ็มอี ของสิงคโปร์ รุกหนักตลาดต่างประเทศ ที่จริงแล้วไม่ใช่เพราะมีความพร้อม แต่ในความเป็นจริง เอสเอ็มอี จากเกาหลีใต้ ไต้หวัน และ ไทย มีความแข็งแกร่งกว่าเอสเอ็มอีจากสิงคโปร์ เพราะได้รับการปกป้อง และส่งเสริมจากภาครัฐ แต่การที่เอสเอ็มอีสิงคโปร์พยายามออกไปสู่ตลาดต่างประเทศ เป็นเพราะว่าไม่มีทางเลือก ไม่มีช่องว่างเหลือให้เติบโตในบ้านเกิดที่มีที่ดินขนาดเล็กกว่ากรุงเทพมหานครเสียอีก และแม้ประชากร 5 ล้านคน จะเป็นกำลังสำคัญ ในการขับเคลื่อนความต้องการในประเทศ แต่จากนโยบายของประเทศที่เปิดกว้าง ไม่มีข้อจำกัดทางการค้า เอสเอ็มอีสิงคโปร์จึงต้องสู้กับสินค้านำเข้าจากทั่วทุกมุมโลก โดยรัฐบาลสิงคโปร์มีนโยบายที่จะดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ให้เข้ามาลงทุนตั้งแต่ช่วงปี 1960 นี่เป็นเหตุที่ทำให้เหลือช่องว่างน้อยมากสำหรับการเติบโตทางธุรกิจของเอสเอ็มอีท้องถิ่น

นโยบายรัฐบาลสิงคโปร์ เริ่มเปลี่ยนไปตั้งแต่ปี 1990 โดยหันมาให้ความสำคัญกับการเติบโตของเอสเอ็มอีมากขึ้น หลังจากพิจารณาและเห็นว่าประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆมีผู้ประกอบการท้องถิ่นที่แข็งแกร่ง และเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ในจังหวะที่เริ่มหันมามองเอสเอ็มอีท้องถิ่นของตนเองนั้น เอสเอ็มอีของไทย เกาหลีใต้ และ ไต้หวันก็ก้าวนำไปก่อนหลายก้าวแล้ว แถมยังมีปัจจัยเรื่องค่าแรง และที่ดินที่ถูกเป็นแรงสนับสนุนด้วย ซึ่งต่างกับสิงคโปร์ที่ค่าแรงและที่ดินมีราคาสูง อันเป็นเหตุให้เอสเอ็มอีสิงคโปร์ต้องออกไปสร้างเนื้อสร้างตัวในต่างประเทศ

ดังนั้น เมื่อมีความต้องการที่จะออกไปทำธุรกิจต่างประเทศ สายตาของผู้ประกอบการชาวสิงคโปร์จึงมองมาที่ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนที่คุ้นเคย และอยู่ไม่ไกลกันนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เขตเศรษฐกิจพิเศษอิสกันดาร์ รัฐยะโฮ ประเทศมาเลเซีย ที่สามารถดึงดูดนักลงทุนจากสิงคโปร์ได้เป็นอย่างดี จนสิงคโปร์เป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่สุด เนื่องจากใช้เวลาเดินทางจากสิงคโปร์เพียงแค่ 2 ชั่วโมงโดยรถยนต์ นักธุรกิจจำนวนมากจึงตัดสินใจไปเปิดโรงงาน และ ตั้งฐานการผลิตสินค้าอาศัยราคาที่ดินและค่าแรงที่มีราคาถูกกว่า เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน

นอกจากบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างมาเลเซียแล้ว สิงคโปร์ยังเป็นนักลงทุนรายใหญ่อันดับสองในเวียดนาม โดยในปี 2013นี้ มีโครงการลงทุน 1,180 โครงการ ด้วยมูลค่าเงินลงทุนกว่า 29,700 ล้านดอลลาร์ นักลงทุนสิงคโปร์ในตลาดนี้สนใจลงทุนในภาคการศึกษา บริการ ค้าปลีก และ สุขภาพ

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ bangkokbiznews.com ดูทั้งหมด

187

views
Credit : bangkokbiznews.com


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน