เสวนาอาเซียน แนะ ผู้ประกอบการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้า ช่วยอยู่รอดหลังเปิดอาเซียน
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
เสวนาอาเซียน แนะ ผู้ประกอบการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้า ช่วยอยู่รอดหลังเปิดอาเซียน เชื่อ หลังปี 2558 คนไทยไม่ได้รับผลกระทบอย่างที่หวั่นกัน
เมื่อวานนี้ (24 กันยายน 2556) ที่หอประชุมศรีบูรพา (หอประชุมเล็ก) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการจัดเสวนาเรื่อง AEC Countdown โดยมีนางสาวบุษฎี สันติพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ, ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อาจารย์ประจำวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ และ ดร.กิตติ ประเสริฐสุข ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีรายละเอียด ดังนี้
การเปิดประชาคมอาเซียน พ.ศ. 2558 (ค.ศ. 2015) แม้จะเป็นการเปิดประชาคมในทุกด้าน ทั้งในด้านการเมือง สังคม วัฒนธรรม อย่างไรก็ตาม ด้านที่สำคัญและเป็นจุดเชื่อมโยงในภูมิภาค ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ ซึ่งในด้านเศรษฐกิจนี้ จุดเริ่มต้นของการรวมตัวอาเซียน ง่ายที่สุดคือการลดภาษีนำเข้าระหว่างกันให้เป็นร้อยละ 0 สำหรับประเทศไทยนั้น ทำตรงจุดนี้เสร็จเรียบร้อยตั้งแต่ปี 2553 เหลือแต่ประเทศอื่น ๆ ที่เป็นน้องใหม่อาเซียน อาทิ พม่า เวียดนาม กัมพูชา ลาว เป็นต้น กำลังอยู่ในขั้นตอนการลดภาษีตรงนี้อยู่ คาดว่าน่าจะเสร็จทันเปิดประชาคมอาเซียนพอดี
ส่วนในประเด็นที่ไทยยังจัดการไม่เสร็จสิ้น มีประเด็นหลักคือ การปรับสัดส่วนการถือครองธุรกิจสำหรับชาวต่างชาติ จากร้อยละ 49 ให้เป็นร้อยละ 70 เพื่อทำให้ธุรกิจเกิดความเสรีมากยิ่งขึ้น ซึ่งประเทศที่พร้อมที่สุดสำหรับการเปิดประชาคมอาเซียนตอนนี้ ได้แก่ ประเทศสิงคโปร์ ที่เปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติถือครองหุ้นได้ร้อยละ 100
ขณะเดียวกัน จุดที่ประเทศไทยเสียเปรียบเพื่อนบ้านอาเซียนตอนนี้ ได้แก่ การที่เพื่อนบ้านใส่ใจประเทศไทย แต่ประเทศไทยไม่เคยใส่ใจหรือศึกษาประเทศเพื่อนบ้าน เห็นได้จาก เวลาคนไทยไปเที่ยวพม่า คนพม่าสามารถพูดไทยได้ สามารถรับทีวีไทยได้ แต่คนไทยไม่สามารถพูดภาษาพม่าได้เลย ตรงจุดนี้ในระยะยาวจะเป็นผลเสีย ซึ่งคนไทยควรเริ่มเรียนภาษาของประเทศอาเซียน เป็นภาษาที่สามได้แล้ว นอกเหนือจากภาษาอังกฤษ
อย่างไรก็ตาม การเปิดประชาคมอาเซียนนั้น คงมีอุปสรรคมากกว่าสหภาพยุโรป (อียู) เนื่องจากความแตกต่างระหว่างประเทศมีมากจนเกินไป ตัวอย่างคือ ยุโรปนั้น การปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยทั้งหมด ฉะนั้นแนวคิดทางการเมืองจึงค่อนไปในทิศทางเดียวกัน ขณะที่อาเซียนมีทั้งระบอบประชาธิปไตย, สังคมนิยม และสมบูรณายาสิทธิราชย์ ซึ่งทำให้การเมืองอาเซียนอาจจะมีแนวคิดกันไปคนละแบบ สุดท้าย การที่อาเซียนจะเดินหน้าต่อไปได้ เส้นทางที่ดีที่สุดคือ ทุกประเทศต้องเป็นระบอบประชาธิปไตย
ส่วนความเปลี่ยนแปลงหลังจากเปิดประชาคมอาเซียนวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ไปแล้ว สำหรับคนธรรมดา คงไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่สำหรับผู้ประกอบการ จะมีผลกระทบบ้างอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่พลิกโฉมเลยทีเดียว ซึ่งธุรกิจที่ได้รับประโยชน์จากการเปิดประชาคมอาเซียน จะเป็นธุรกิจที่สร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้า ธุรกิจที่เสียเปรียบที่สุดคือ ธุรกิจด้านแรงงาน กับเกษตรกรรม เนื่องจากแรงงานต่างด้าวมีค่าแรงถูกกว่า และเกษตรกรรมของไทยก็ไม่ต่างจากเพื่อนบ้านมากนัก สุดท้ายหากอยากเอาตัวรอดได้ ก็ต้องวกกลับไปที่สร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้า เช่น การติดสติ๊กเกอร์ปลอดสารพิษในผลไม้ เป็นต้น
นอกจากนี้ ทางวิทยากรยังได้พูดถึงจุดอ่อนของประเทศไทยว่า ให้ความสำคัญต่อแรงงานน้อยเกินไป คนไทยเรียนสายสามัญมากกว่าสายอาชีวะ ทำให้ประเทศไทยขาดแรงงานอยู่ทุกวันนี้ ต้องไปจ้างแรงงานจากนอกประเทศมาทำ อีกทั้งยังไม่ยอมรับเรื่องแรงงานด้อยทักษะ (แรงงานต่างด้าว) ว่ามีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ ไม่ยอมให้มีการถ่ายโอนแรงงานอย่างถูกกฎหมาย ต้องให้ผู้ประกอบการทำอย่างลับ ๆ กันเอง เพราะมุ่งแต่สนใจแรงงานระดับสูง 8 อาชีพ ที่ทำงานในอาเซียนได้อย่างเสรี เช่น แพทย์, วิศวกร, สถาปนิก เป็นต้น สุดท้าย 8 อาชีพเสรีนี้ก็มีปัญหาการโยกย้ายแรงงานเช่นกัน เช่น หมอฟิลิปปินส์ ต้องการมาทำงานที่ไทย ก็ต้องสอบข้อสอบแพทย์ที่เป็นภาษาไทยอีก อีกทั้งยังมีปัญหาการสื่อสารกับคนไข้ด้วย
ปิดท้ายด้วยเรื่องสกุลเงินอาเซียน ทางวิทยากรมองว่า ค่อนข้างเป็นไปได้ยาก เพราะความแตกต่างระหว่างประเทศ รวมถึงเห็นข้อเสียของสกุลเงินร่วมอย่างยูโรแล้ว อย่างไรก็ดี ทางวิทยากรก็เสนอว่า ควรมีสกุลเงินกลางสำหรับการแลกเปลี่ยนเพื่อตัดบัญชี น่าจะเหมาะสมกว่า อาทิ ไทยซื้อของจากอินโดนีเซีย ก็ต้องแลกเงินเป็นดอลลาร์สหรัฐ เพื่อให้ทางอินโดนีเซีย และทางอินโดนีเซียก็ต้องแลกจากดอลลาร์สหรัฐ เป็นสกุลเงินของเขาอีกครั้ง ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นคือ หากเงินดอลลาร์สหรัฐ มีความผันผวน ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อกำไรและขาดทุน ดังนั้น การมีสกุลเงินอาเซียนไว้สำหรับแลกเปลี่ยนผ่านบัญชีตรงนี้ น่าจะเป็นทางออกที่แก้ไขปัญหาดังกล่าวได้
เกาะติด ข่าวอาเซียน 10 ประเทศ ข้อมูลอาเซียน เลาะรั้วอาเซียน คลิกเลย
เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ kapook.com ดูทั้งหมด
395
views
Credit : kapook.com
News