“การศึกษาไทยห่วยสุดในอาเซียน” ข้อมูลจาก WEF ที่คลาดเคลื่อนและต้องสืบค้น
โดย ดร.นพดล กรรณิกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา กระทรวงวัฒนธรรม
หลังจากใช้เวลาประมาณหนึ่งสัปดาห์ในการศึกษาผลการจัดอันดับการศึกษาประเทศไทย โดยรายงานของ เวทีเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Forum (WEF) และข้อมูลที่ค้นพบในกระแสข่าวที่วิพากษ์วิจารณ์กันในสังคมไทย ทำให้เกิดประเด็นขึ้นในความคิดว่า การศึกษาของประเทศไทยน่าจะถูกจัดอันดับรั้งท้ายของอาเซียนจริงๆ
เพราะที่ผ่านมายังไม่เจอนักวิชาการคนไทยระดมความคิดรวบรวมข้อมูลวิพากษ์วิจารณ์รายงานของ WEF อย่างจริงจังในเชิงวิธีการศึกษา (Methodology) การเก็บรวบรวมข้อมูล และการวิเคราะห์ข้อมูล และเมื่ออ่านต้นฉบับของรายงานWEF ฉบับเต็มที่ http://www.weforum.org/reports/global-competitiveness-report-2013-2014 พบว่า มีประเด็นที่น่าพิจารณาเบื้องต้น ดังนี้
ประการแรก ประเทศไทยถูกจัดอันดับโดย WEF ได้ที่ 37 จาก 148 อันดับของโลกในตัวชี้วัดการแข่งขันโดยภาพรวม และเป็นอันดับที่ 4 ของกลุ่มประเทศในอาเซียน รองจาก สิงคโปร์ มาเลเซีย และบรูไน ดูอ้างอิงต้นฉบับได้ที่ http://www3.weforum.org/docs/GCR2013-14/GCR_Rankings_2013-14.pdf แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ดีเลยทีเดียว
ประการที่สอง รายงานด้านการศึกษา (Thailand’s Education) ของประเทศไทย 5 ตัวชี้วัดจากทั้งหมด 8 ตัวชี้วัดอยู่ในอันดับที่ค่อนข้างดีไม่ได้เลวร้ายเหมือนในข่าวที่แพร่สะพัดออกมา โดยหมวดด้านการศึกษาอยู่ในอันดับที่ดีที่สุดคือ ด้านการฝึกอบรม ที่ถามคนตอบแบบสอบถามในประเทศไทยถึงการลงทุนด้านการฝึกอบรมบุคลากร และประเทศไทยได้อยู่ในอันดับที่ 50 ของโลกจาก 148 อันดับทั่วโลก ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อพิจารณารายละเอียดของแต่ละตัวชี้วัดด้านการศึกษาในกลุ่มประเทศของอาเซียน จะพบว่า การศึกษาของประเทศไทยในรายงานการศึกษาของ WEF ก็ไม่น่าจะทำให้ประชาชนคนไทยรู้สึกแย่เท่าไรนัก
ผลการจัดอันดับที่มีปัญหาที่วิพากษ์วิจารณ์กันคือ การไปหยิบยกเพียงตัวชี้วัดเดียวขึ้นมาสรุปภาพรวมของการศึกษาของประเทศทั้งหมด ซึ่งไม่ถูกต้อง และข้อมูลที่ได้จากตัวชี้วัดนั้นมาจากความคิดเห็น (Opinion) ของผู้ตอบแบบสอบถามที่อ้างว่าเป็นผู้นำด้านธุรกิจ (Business Leaders) ของประเทศ แต่เมื่อไปอ่านรายละเอียดของรายงานฉบับเดียวกันของ WEF กลับระบุชัดเจนว่า คนที่แสดงความคิดเห็นเป็นเพียงกลุ่มคนที่มีศักยภาพทางธุรกิจ (Potential) ไม่ใช่ผู้นำด้านธุรกิจที่แท้จริง
และคำถามที่ค้นพบในปี 2008 ถามทำนองว่า คุณคิดว่า ระบบการศึกษาของประเทศคุณ ได้บรรลุความต้องการต่างๆ ของเศรษฐกิจที่แข่งขันมากน้อยเพียงไร 1 คือไม่บรรลุความต้องการ และ 7 คือบรรลุความต้องการ ซึ่งการตั้งคำถามแบบนี้มีปัญหาถกเถียงกันได้อย่างกว้างขวาง เนื่องจากคนตอบคนหนึ่งอาจจะนิยามถ้อยคำต่างๆ ในข้อคำถามแตกต่างกันได้ เช่น คำว่าระบบการศึกษาของคนหนึ่งอาจแตกต่างไปจากสิ่งที่อีกคนหนึ่งคิดถึงระบบการศึกษา และคำว่า เศรษฐกิจเชิงแข่งขันอาจถูกให้ความหมายแตกต่างกันได้เช่นกัน
ประการที่สาม ในรายงานของ WEF มีส่วนของระเบียบวิธีวิจัยที่ต้องพิจารณาสำคัญๆ ได้แก่ กลุ่มคนที่แสดงความคิดเห็นที่ WEF ระบุไว้ในหน้าที่ 6 เป็นผู้นำทางธุรกิจ (Business Leaders) แต่ในหน้า 85 ระบุว่า คนตอบแบบสอบถามเป็นเพียงกลุ่มคนที่มีศักยภาพ (Potential) และถูกสุ่มมาตอบแบบสอบถามจำนวน 86 คนจากบริษัทต่างๆ ทั่วประเทศ โดย WEF ระบุว่า กลุ่มตัวอย่างที่ตอบแบบสอบถามมีความเป็นตัวแทน (Representative) ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งในทางวิชาการถ้าทำได้เช่นนั้นก็จำเป็นต้องระบุค่าความคลาดเคลื่อน (Sampling Error) แต่ไม่ปรากฏในผลการศึกษาฉบับเต็มที่เผยแพร่
กล่าวโดยสรุป รายงานของ WEF ที่จัดอันดับประเทศไทยในกลุ่ม 148 อันดับทั่วโลกครั้งนี้ ทำให้เกิดข้อเสนอแนะ ดังนี้
1.ผู้ใหญ่ในสังคม นักวิชาการ สื่อมวลชน และประชาชนทั่วไป น่าจะศึกษาข้อมูลจากรายงานต้นฉบับก่อนนำข้อมูลผลการศึกษาใดๆ มาวิพากษ์วิจารณ์เพื่อลดความคลาดเคลื่อนในการสื่อสารและลดความสับสนในหมู่ประชาชน
2.หน่วยงานที่ทำวิจัยเป็นเครือข่ายของ WEF ในประเทศไทยควรมีตัวแทนออกมาให้ข้อมูลความเป็นจริงที่เกี่ยวข้องแทนการปล่อยให้ผู้อื่นที่ไม่ทราบความเป็นจริงของการศึกษามาแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง
3.WEF น่าจะพิจารณาปรับปรุงระเบียบวิธีวิจัยและหลีกเลี่ยงการเขียนผลการศึกษาที่เกิดขอบเขตของข้อมูลที่ค้นพบโดยหลีกเลี่ยงการใช้ถ้อยคำที่นำไปสู่การสื่อสารสร้างภาพลบต่อประเทศไทยเพราะ WEF ระบุไว้ในหน้า 35 ที่อาจถูกแปลได้ว่า สำหรับประเทศไทย การลงทะเบียนเรียน (Enrollment) และคุณภาพของอุดมศึกษาอยู่ในระดับที่ต่ำผิดปกติ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผลการศึกษาในหน้า 365 ระบุไว้ว่าประเทศไทยถูกจัดอันดับค่อนข้างดีเลยทีเดียวได้อันดับที่ 55 จาก 148 อันดับของโลกและอยู่ในอันดับที่ 2 ของอาเซียน ส่วนเรื่องของคุณภาพระบบการศึกษาก็มาจากความคิดเห็นของคนตอบแบบสอบถามเพียง 86 คน
ดังนั้น ข้อเสนอแนะสำหรับการศึกษาในอนาคตน่าจะพิจารณาคุณภาพการศึกษาของประเทศต่างๆ จากความเป็นจริงแหล่งอื่นๆ มากกว่าเพียงความรู้สึกความคิดเห็นเพียงอย่างเดียว เช่น เด็กนักเรียนไทยที่ชนะเหรียญทองโอลิมปิกทางวิชาการด้านต่างๆ และจำนวนนักศึกษาไทยในต่างประเทศที่มีความสามารถศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกอันเป็นผลมาจากระบบการศึกษาในท้องถิ่นของประเทศไทย