“พริกไทย” สมุนไพรป้องกันโรคอัลไซเมอร์

  พริกไทย หรือ พริกน้อย (Pepper) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Piper naอินเดีย และเป็นพืชพื้นเมืองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบันประเทศในอาเซียน อย่างเวียดนามได้กลายเป็นผู้ผลิตและส่งออกพริกไทยรายใหญ่ที่สุดของโลกไปแล้ว ส่วนอินโดนีเซีย และมาเลเซีย ก็ยังคงเป็นแหล่งผลิตพริกไทยที่สำคัญ

 

       พริกไทย จัดเป็นเครื่องเทศรสเผ็ดที่ใช้ในชีวิตประจำวันของคนไทยมาช้านาน มีตำรับอาหารมากมายที่จะขาดพริกไทยไม่ได้ เช่น แกงเลียง คั่วกลิ้ง และสำหรับการใช้เป็นยานั้น พริกไทยเป็นสมุนไพรที่ปรากฏอยู่ในตำรับยามากที่สุดชนิดหนึ่ง อาทิ ตำรับยาเลือด ตำรับยาแก้จุกเสียด ตำรับยาแก้กษัย ตำรับยาแก้ทางเสมหะ หอบหืด ตำรับยาแก้ซาง ตำรับยาแก้ริดสีดวง ซึ่งจะต้องมีพริกไทยเป็นตัวยาอยู่ด้วยเสมอ   ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า “เป็นที่น่าสังเกตว่า พริกไทย เป็นสมุนไพรที่ไม่ใช้เป็นยาตัวเดียวโดดๆ หรือแม้แต่ในการทำกับข้าวพริกไทยก็ยังต้องเข้าคู่กับเครื่องเทศอื่นๆ เช่น ปลาทอดขมิ้นก็ต้องใส่พริกไทยด้วย หรือ ยามหากำลังปลาช่อน ซึ่งเป็นยาบำรุงท่านชายในอดีต ก็เอาพริกไทยล่อนยัดท้องปลาช่อนเอาไปตากๆ ย่างๆ จนกรอบแล้วบดไว้ละลายน้ำผึ้งกิน  เช่นเดียวกับตำรับยาบำรุงเหงือกปลาหมอ หรือยาบำรุงบัวบก จะต้องมีพริกไทยอยู่หนึ่งส่วนต่อสมุนไพรเหล่านี้สองส่วน ดูเหมือนกับว่าพริกไทยเป็นสมุนไพรที่ต้องทำงานร่วมกับ สมุนไพรตัวอื่น จึงจะเกิดผลดีสูงสุด หมอยาพื้นบ้านมักจะสั่งสอนลูกศิษย์ว่า พริกไทยเป็นยาเสริมพลังยาตัวอื่นเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อน เช่น ตำรับยาขับปัสสาวะต้องใส่พริกไทยลงไปด้วยเจ็ดเม็ด 
       จากการศึกษาวิจัยสมัยใหม่พบว่า พริกไทยช่วยทำให้ระบบการดูดซึมสารอาหารและตัวยาต่างๆของร่างกายดีขึ้น เช่น เมื่อให้ขมิ้นชันร่วมกับพริกไทย จะทำให้สารเคอร์คิวมินและสารเบต้าแคโรทีนในขมิ้นถูกดูดซึมได้ดีขึ้น ในขณะเดียวกันพริกไทยจะออกฤทธิ์ต่อทางเดินอาหารได้ดี ก็ต้องมีพริกหรือขมิ้นอยู่ด้วย 
       พริกไทยเป็นสมุนไพรรสร้อน แก้โรคที่เกิดจากธาตุไฟพร่อง เช่น ช่วยย่อยอาหาร รักษาอาการท้องอืดท้องเฟ้อ แก้โรคที่เกิดจากธาตุน้ำ และธาตุลมกำเริบ พริกไทยเป็นเครื่องยาที่ตามพระสูตรในพระพุทธศาสนาอนุญาตให้พระภิกษุเก็บไว้รักษาตัวได้ และยังอยู่ในตำรับยาของอายุรเวทที่ใช้กันมาประมาณ 4,000 ปี คือ ตรีกฎุก ซึ่งยาตำรับนี้ประกอบด้วย พริกไทย ดีปลี ขิงแห้ง จึงเหมาะเป็นตำรับยาในการดูแลสุขภาพในฤดูฝนซึ่งน้ำมากและเสมหะกำเริบได้ง่าย ส่วยในตำรับยาอายุรเวทของอินเดียมีการใช้พริกไทยทั้งในรูปแบบผงพริกไทยและสารต้มสกัดพริกไทย ในการรักษาแบบพื้นบ้านสำหรับโรคต่างๆ ตั้งแต่ อัมพฤกษ์ อัมพาต คอเจ็บ ไอ คออักเสบ จนถึงปวดฟัน ซึ่งเป็นสรรพคุณที่ใช้กันในยุโรปโบราณด้วยเช่นกัน 
       ปัจจุบันมีรายการศึกษาฤทธิ์ของพริกไทย พบว่าสารออกฤทธิ์ของพริกไทย คือ สารพิเพอรีน (Piperine) ช่วยให้ระบบย่อยอาหารและลำไส้ทำงานดีขึ้น และกระตุ้นให้ระบบทางเดินอาหารหลั่งน้ำย่อยเพื่อย่อยโปรตีน ไขมัน และแป้ง โดยเฉพาะกลุ่มที่ย่อยโปรตีนได้จะมีมากเป็นพิเศษ ซึ่งสารพิเพอรีนนี้ ยังเพิ่มการดูดซึมแร่ธาตุที่สำคัญ เช่น เซเลเนียม วิตามินบี เบต้าแคโรทีน เคอร์คูมิน รวมทั้งสารอาหารอื่นๆ และเนื่องจากเป็นสารให้ความร้อน จึงช่วยให้เลือดหมุนเวียนดีขึ้น เพิ่มการเผาผลาญอาหารต่างๆ ทำให้ร่างกายได้พลังงานมากขึ้น เพิ่มการผลิตสารในสมองที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลายและมีความสุข
       ฤทธิ์ที่สำคัญๆ ของสารพิเพอรีนในพริกไทย ยังรวมถึงฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ต้านการชัก ต้านมะเร็ง การที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระทำให้พริกไทยมีแนวโน้มว่า จะช่วยป้องกันโรคสมองเสื่อมในผู้สูงอายุได้ เนื่องจากมีการทดลองในหนูที่เซลล์ประสาทส่วนกลางของการรับรู้เสื่อม พบว่า หนูที่มีความจำเสื่อมนี้กลับมาเป็นปกติ นอกจากนี้ยังพบว่า สารสกัดด้วยน้ำของพริกไทยมีฤทธิ์ต้านมะเร็ง  ฉะนั้นแกงเลียงซึ่งเป็นเมนูที่หนักพริกไทยจึงน่าจะเป็นอาหารต้านมะเร็งอีกอย่างหนึ่ง”
       อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลว่าการรับประทานสารพิเพอรรีนในขนาดสูงร่วมกับอาหารที่มีไนไตรท์จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็ง สารไนไตรทจะพบมากในอาหารที่ใช้สารกันบูดพวกโซเดียมไนไตรท และโปแตสเซียมไนไตรท และสารพวกดินประสิวที่ทำให้เนื้อมีสีแดง เช่น ไส้กรอก แหนม กุนเชียง หรือแม้แต่ผักที่เร่งปุ๋ยไนโตรเจนมากๆ จึงควรระมัดระวังในการรับประทาน ถ้าสามารถเลือกบริโภคผักที่ไม่ใช้สารเคมีและทำอาหารกินเองได้ ก็จะช่วยให้ได้ประโยชน์จากการกินพริกไทยได้มากทีเดียว 
       นอกจากนี้ พริกไทย เป็นยาเพิ่มกำลังให้ยาตัวอื่นเช่นเดียวกับดีปลี มีคุณสมบัติทำให้การดูดซึมโอสถสารต่างๆ เข้าสู่ร่างกายสูงขึ้น ดังนั้น เมื่อใดกินยาตำรับที่มีพริกไทยหรือดีปลีต้องระวังการได้รับยาเกินขนาด มีการพบว่าคนที่กินยาแผนโบราณในกลุ่มยาแก้กษัยซึ่งมักจะใส่ยาร้อนลงไปด้วย หากได้รับยาต้านการเข็งตัวของเลือดด้วยจะมีผลทำให้เลือดออกตามอวัยวะต่างๆ ได้
       ล้อมกรอบ
       ตำรับยาที่มีพริกไทยเป็นส่วนประกอบ
       ยาแก้ลมจุกเสียด
       ใช้ดีปลี 1 ส่วน, พริกไทย 1 ส่วน, กระวาน 1 ส่วน, กานพลู 1 ส่วน, หัสคุณ 1 ส่วน, ผิวมะกรูด 1 ส่วน เอาเท่าๆ กัน บดละลายน้ำร้อนกินครั้งละ 1 ช้อนชา แก้ลมแน่นอก จุดเสียดอาหารไม่ย่อยยาบำรุงธาตุประจำบ้าน
       ใช้กระชาย 3 บาท, ขมิ้น 3 บาท, พริกไทยล่อน 3 บาท, ลูกกระวาน 3 บาท, ว่านน้ำ 3 บาท ละลายด้วยน้ำผึ้งกิน ครั้งละ 1-2 ช้อนชา ช่วยบำรุงธาตุ ทำให้อายุยืน คนโบราณถือว่าเป็นยาประจำบ้าน แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย กินหลังอาหารได้ทุกเวลา
       ยากำลัง (ห้ามสมณะฉัน)
       ใช้กล้วยน้ำสุก 1 หวี, เนื้อมะตูมสุก 5 ผล, พริกไทยล่อน 1 ตำลึง ยาทั้ง 3 อย่างนี้ ตำเข้าด้วยกันให้ละเอียดแล้วทำเป็นแผ่น ตากแดดให้แห้ง แล้วนำมาใส่ขวดหรือใส่โหล เอาน้ำผึ้งรวงใส่ให้ท่วมยา ปิดฝาให้สนิท ทิ้งไว้ 2 อาทิตย์ แล้วนำมารับประทานวันละ 1 ช้อนกาแฟ 
       ยาอายุวัฒนะ
       ใช้บอระเพ็ดหนัก 6 บาท, กระเทียมแกง 3 บาท, พริกไทยล่อน 2 บาท, ขิงแห้ง 1 บาท, ลูกยอหนักเท่ายาทั้งหลาย, ยาดำหนัก 3 บาท ยาทั้งหมดตากแดดให้แห้ง ทำเป็นยาผง รับประทานครั้งละ 1 ช้อนชา  วันละ 1 ครั้ง หรือ 2 ครั้งก็ได้ ละลายน้ำผึ้งรับประทานหนึ่งเดือน โรคภัยหายหมด จะมีผิวพรรณวรรณะผ่องใส กลับเป็นหนุ่มเป็นสาว
       ยามหากำลังปลาช่อน
       ใช้ปลาช่อนตัวโตๆ ทั้งเกล็ด เอาพริกไทยล่อนยัดท้องปลาให้เต็ม แล้วนำไปย่างไฟพอควร จากนั้น นำไปตากแดด พอแห้งดีนำไปย่างไฟอ่อนๆ ให้แห้งกรอบ แล้วนำไปบดให้ละเอียด ละลายน้ำผึ้ง ปั้นลูกกลอน ขนาดปลายนิ้วก้อย กินครั้งละ 1 เม็ด วันละ 2 เวลา ท่านชายจะมีกำลังวังชา 
       ยาบำรุงกำลังไข่ลวก
       ใช้พริกไทยป่น 1 ช้อนชาพูนๆ กับเกลือเล็กน้อย ผสมไข่ลวก 2 ฟองกับน้ำร้อน ตีให้แตก กินทุกเช้า ท่านชายจะมีกำลังวังชา
       ยาแก้เสมหะ และหอบ
       ใช้ตรีกฎุก 1 ส่วน, สมอไทย 1 ส่วน, เกลือสินเธาว์ 1 ส่วน ตำเป็นผงละลายน้ำร้อน หรือน้ำส้มงั่ว น้ำส้มซ่า น้ำมะกรูด น้ำขิง น้ำตะไคร้ก็ได้ 
       

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ manager.co.th ดูทั้งหมด

205

views
Credit : manager.co.th


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน