“แอล เอ” ปั้นไทยสู่ไบค์ฮับอาเซียน ทุ่มพันล้านผุดฐานผลิตอินเดีย
“แอล เอ” รุกตลาดรอบด้าน วางรากฐานเป็น “ไบค์ ฮับ” เตรียมแผนลงทุนในอินโดฯ หวังใช้เป็นใบเบิกทางเจาะตลาดมาเลย์และฟิลิปปินส์ หลังเข้าทำตลาดในลาว พม่า เวียดนาม กัมพูชา พร้อมผุดโรงงานใหม่ในอินเดียด้วยงบฯ 1 พันล้านบาท ล่าสุดลงทุนเพิ่ม 22 ล้านบาทเปิดตัว “คัลเจอร์ ไซคลิสท์ ช็อป” ไบค์สตูดิโอครบวงจรและใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เล็งสร้างสนามแข่งรถจักรยานบนพื้นที่ 200-300 ไร่ในเขตเขาใหญ่ หวังกระตุ้นตลาดให้ตื่นตัวมากขึ้น
นายสุรสิทธิ์ ติยะวัชรพงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล เอ ไบซิเคิ้ล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจุบันตลาดรถจักรยานในประเทศไทยมีมูลค่าประมาณ 4-5 พันล้านบาท แบ่งเป็นรถจักรยานใช้งานทั่วไปประมาณ 80% และรถจักรยานไฮเอนด์ ประมาณ 20% โดยในส่วนของบริษัทถือเป็นผู้นำตลาด ทั้งยังมีฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปยังประเทศต่างๆ โดยปัจจุบันนอกจากจะดำเนินการผลิตรถจักรยาน LA และ LA PRO แล้วยังมีการพัฒนาและผลิตรถจักรยานระดับไฮเอนด์คือ Infinite พร้อมได้รับสิทธิ์เป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการอีก 6 แบรนด์คือ LOOK, AVENUE, CUBE, SCOTT, Wilier และ commencal ขณะเดียวกันยังเป็นตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์ตกแต่งรถจักรยานอีก 38 แบรนด์ดังชั้นนำทั่วโลก
ในปี 2555 บริษัทมียอดขายในประเทศประมาณ 700 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากรถจักรยาน LA 80% LA Pro 10% และ Infinite 10% พร้อมกับมีการส่งออกคิดเป็นมูลค่าประมาณ 2 พันล้านบาท โดยคาดว่าจะสามารถทำยอดขายในประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 1 พันล้านบาทในปี 2556 เนื่องจากผู้บริโภคมีการตื่นตัวและมีความต้องการรถจักรยานคุณภาพในระดับไฮเอนด์มากขึ้น บริษัทจึงวางแผนการลงทุนอย่างต่อเนื่องเพื่อวางรากฐานการเป็นไบค์ฮับของอาเซียนหลังจากการเปิดเขตประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558
ปัจจุบันบริษัทมีตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทย 250 แห่ง พร้อมตัวแทนจำหน่ายในกลุ่มประเทศอาเซียนคือลาว พม่า เวียดนาม และกัมพูชา โดยขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการศึกษารูปแบบการลงทุนในประเทศอินโดนีเซียว่าจะดำเนินการในลักษณะใดระหว่างการตั้งตัวแทนจำหน่าย หรือร่วมลงทุนในการเปิดโรงงานเพื่อใช้เป็นช่องทางในการขยายตลาดประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ นอกจากนั้นยังเตรียมสร้างโรงงานใหม่ในประเทศอินเดียด้วยงบฯ ลงทุนประมาณ 1 พันล้านบาท เนื่องจากถือเป็นตลาดที่มีการขยายตัวสูงถึงปีละ 10% โดยในปี 2555 บริษัทสามารถทำรายได้ประมาณ 400-500 ล้านบาท
ล่าสุดบริษัทยังลงทุนเพิ่มอีกประมาณ 22 ล้านบาทในการเปิดไบค์สตูดิโอที่ครบวงจรและใหญ่ที่สุดในประเทศไทยคือ “คัลเจอร์ ไซคลิสท์ ช็อป” หรือ “ซีซี ช็อป” บนพื้นที่กว่า 1 พันตารางเมตรภายในโครงการอิมเมจมอลล์ พุทธมณฑลสาย 4 โดยจะมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 15 พ.ย.ศกนี้ หลังจากที่เปิดตัวซีซี ช็อป สาขาแรก บนพื้นที่ 135 ตารางเมตร ภายในอาคารอินโดสุเอช หลังสวน เมื่อวันที่ 22 ก.ย.55
“การเปิดซีซีช็อปสาขาแรกคาดว่าจะสามารถทำรายได้เพิ่มให้บริษัทประมาณ 15-20 ล้านบาทในปี 2556 โดยคาดว่าในปี 2557 ซีซีช็อปทั้ง 2 สาขาจะทำรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 30-50 ล้านบาท ซึ่งหากได้รับการตอบรับที่ดีอาจมีการขยายโอกาสทางธุรกิจไปดำเนินงานในต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยบริษัทยังมีแผนขยายสาขา 3 บนพื้นที่ 1 พันตารางเมตร พร้อมสร้างสนามแข่งรถจักรยานทั้งในรูปแบบของดาวน์ ฮิลล์, ครอส คันทรี่, บีเอ็มเอ็กซ์ และอื่นๆ บนพื้นที่ 200-300 ไร่ในเขตอ.เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนกีฬาจักรยานให้เป็นที่นิยมในวงกว้างมากขึ้น”
ทางด้าน น.ส.จันทนา ติยะวัชรพงศ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท คัลเจอร์ ไซคลิสท์ จำกัด ในเครือบริษัท แอล เอ ไบซิเคิ้ล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจุบันบริษัท แอล เอฯ ถือว่ามีการทำธุรกิจรถจักรยานได้ครบทุกด้านทั้งในฐานะผู้ผลิตที่มีแบรนด์เป็นของตนเอง ผู้แทนจำหน่ายแบรนด์ชั้นนำระดับโลก ผู้ส่งออก ผู้ค้าปลีก และเจ้าของทีมรถจักรยานในการแข่งขันระดับนานาชาติโดยนำชื่อแบรนด์ Infinite มาเป็นชื่อทีมซึ่งได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ
สำหรับการดำเนินงานของซีซีช็อปอยู่ภายใต้แนวคิดไบค์ดูเทนเม้นท์ (Bikedutainment) เพื่อให้เป็นศูนย์รวมสำหรับผู้ชื่นชอบกีฬาจักรยาน โดยมีจุดเด่นสำคัญ 5 ด้านคือเป็นศูนย์รวมรถจักรยานและอุปกรณ์ตกแต่งต่างๆ กว่า 100 แบรนด์ เป็นศูนย์รวมบริการครบวงจรและการดูแลรักษาที่ได้รับมาตรฐานทั้งในส่วนของบุคลากรและสินค้าทุกประเภท เป็นศูนย์ฝึกภาคสนามและในร่มโดยมีเครื่องฝึกมาตรฐานพร้อมผู้เชี่ยวชาญที่จะคอยให้คำแนะนำ เป็นศูนย์รวมบอดี้ฟิตติ้ง เพื่อให้ลูกค้าเลือกรถจักรยานที่เหมาะสมกับสรีระด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย นอกจากนี้ยังมีการจัดโภชนาการสำหรับนักปั่นจักรยานโดยเฉพาะด้วย โดยคาดว่าหลังจากการเปิดตัวซีซีช็อปสาขา 2 จะมีฐานสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 พันรายภายในปี 2556 จากเดิมที่มีอยู่ประมาณ 800 ราย
น.ส.จันทนา กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ภาพรวมตลาดรถจักรยานในประเทศไทยแบ่งเป็น 3 ระดับคือ ตลาดมิดเดิล โลว์ – มิดเดิล ไฮ ซึ่งถือเป็นรถจักรยานประเภทใช้งานทั่วไปโดยสินค้ามีราคาตั้งแต่ 1 พันบาทจนถึง 2 หมื่นบาท ซึ่ง LA ครองตลาดด้วยส่วนแบ่งประมาณ 60-75% ส่วนที่สองคือตลาด มิดเดิล ไฮ – ไฮเอนด์ ที่สินค้ามีราคาประมาณ 5 พันบาทจนถึง 2 หมื่นบาท โดยส่วนใหญ่เป็นรถนำเข้าจากประเทศจีนและไต้หวัน และส่วนสุดท้ายคือ แบรนดิ้ง มิดเดิล ไฮ – แบรนดิ้ง ไฮเอนด์ มีราคาตั้งแต่ 2 หมื่นบาทขึ้นไป ส่วนใหญ่เป็นสินค้านำเข้าจากประเทศสหรัฐอเมริกาและยุโรป
“สำหรับการทำตลาดรถจักรยานระดับไฮเอนด์ของบริษัทจะเน้นในเรื่องของราคา ดีไซน์ อุปกรณ์การตกแต่ง คุณภาพ และการบริการเป็นหลัก โดยสินค้าระดับไฮเอนด์ของบริษัทจะอยู่ในระดับราคาตั้งแต่ 2 หมื่นบาทจนถึง 3 แสนบาทขึ้นไปซึ่งถือว่าเริ่มเป็นที่นิยมในกลุ่มลูกค้ามากขึ้น อันเนื่องมาจากเทรนด์การดูแลสุขภาพของเหล่าศิลปินดาราและเซเล็บฯ ชื่อดัง โดยปัจจุบันสินค้าที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดคือสินค้าจากกลุ่มประเทศยุโรปจากเดิมที่ก่อนหน้านั้นเป็นสินค้าจากประเทศสหรัฐอเมริกา”