“เครือข่ายต้านเหล้า” ค้านลดภาษีสินค้าบาปชี้ทำลายศีลธรรม
“เครือข่ายต้านเหล้า” จี้กระทรวงพาณิชย์ทบทวนมาตรการอาเซียน ค้านลดภาษีเหล้ารองรับเออีซี หวั่นเปิดเสรีสินค้าบาป ชี้ทำลายศีลธรรมสุขภาพ แนะควรเสนอแนวทางร่วมอาเซียนให้เป็นสินค้าสงวนเพื่อปกป้องพลเมือง กันประชาชนจากน้ำเมา
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
จากกรณีที่ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการเดินทางไปร่วมการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ที่กรุงบันดาร์เสรีเบกาวัน ประเทศบรูไน โดยระบุว่า อาเซียนได้สั่งให้สมาชิกทุกประเทศแก้ไข หรือยกเลิกมาตรการที่กีดกันทางการค้า พร้อมทั้งสั่งให้มาเลเซียและอินโดนีเซีย ลดภาษีสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ภายในปี 2558 โดยใช้มาตรการภายในประเทศ เช่น ภาษีสรรพสามิต แทนภาษีนำเข้าหากจำเป็น
วันนี้ (8 ก.ย.)นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจแอลกอฮอล์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ตนไม่เห็นด้วยที่อาเซียนออกมากดดันประเทศสมาชิกให้ลดภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากแสดงให้เห็นถึงการใช้พลังทางเศรษฐกิจมาทำลายพลังศีลธรรมและสุขภาพ และกระทรวงพาณิชย์เอง ควรทบทวนมาตรการของอาเซียน เพื่อปกป้องประชาชนจากสินค้าบาปและสนับสนุนให้อาเซียนทบทวนให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นสินค้าสงวนเป็นพิเศษ ในการลดภาษี เพื่อปกป้องผลกระทบของพลเมืองของอาเซียนเอง ไม่ใช่มาเร่งให้อาเซียนลดภาษี เช่นนี้
“อย่าลืมว่าสินค้าที่ต้องระมัดระวังมากที่สุดคือ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะแอลกอฮอล์ไม่ว่าจะมาจากที่ไหน ประเทศไหนก็อันตรายเท่ากัน อีกทั้งแอลกอฮอล์ไม่มีการดื่มที่ปลอดภัย แต่จะมีแค่การดื่มที่เสี่ยงมากเสี่ยงน้อย และหากมีการยกเลิกมาตรการที่เป็นประโยชน์ ต่อไปก็จะมีการแข่งขันกันมากขึ้น ส่งเสริมการบริโภคมากขึ้น เห็นได้จากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของสหภาพยุโรปที่เติบโตขึ้นทุกปี โดยล่าสุดได้ประกาศให้ประเทศไทยเป็นตลาดที่ติดอันดับ 3 รองจากอเมริกา และบราซิล และไทยติดอันดับ 8 ของโลกที่นำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากสหภาพยุโรป” นายคำรณ กล่าว
นายคำรณ กล่าวอีกว่า สิ่งที่ไทยควรทำคือเร่งผลักดันมาตรการ ประกาศข้อกฎหมายเพื่อควบคุมการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออกมาให้มากที่สุด เพื่อปกป้องประชาชน ที่สำคัญหลักการการค้าเสรีต้องทำให้สังคมเศรษฐกิจ มีความมั่งคั่ง และคุณภาพชีวิตที่ดีโดยถ้วนหน้า แต่การที่เอาสินค้าแอลกอฮอล์มาเป็นสินค้าขายได้เสรี ทั้งๆ ที่เป็นสินค้าบาป รังแต่จะสร้างปัญหาและผลกระทบด้านสุขภาพ สูญเสียงบประมาณในการรักษาอีกมหาศาล