ความสามารถในการแข่งขันของไทยในเวทีโลก

  WEF ขี้ความสามารถในการแข่งขันไทยเป็นรองสิงค์โปร์ มาเลเซีย บรูไน เผยจุดอ่อนไทยอยู่ที่นวัตกรรมและเทคโนโลยี รวมถึงสุขภาพและการศึกษาขั้นพื้นฐานด้อยคุณภาพ
        
       WEF ชี้อันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยดีขึ้น ขยับจากอันดับที่ 38 มาเป็นอันดับที่ 37 แต่ถ้าเทียบในกลุ่มประเทศอาเซียนแล้ว ประเทศไทยยังเป็นอันดับ 4 รองจากสิงค์โปร์ (2) มาเลเซีย (24) และบรูไน (26) ในขณะที่อินโดนีเซียก็จี้ตามหลังประเทศไทยมาอยู่ในอันดับที่ 38 ส่วนจุดอ่อนในการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยอยู่ที่ความสามารถในด้านนวัตกรรมและความพร้อมทางด้านเทคโนโลยีของไทยที่ต่ำ กฎหมายที่ไม่เอื้อต่อการลงทุนและการแข่งขัน ปัจจัยด้านสุขภาพและการศึกษาพื้นฐานที่ไม่เข้มแข็งในขณะที่ WEF ยังได้สรุปต่อไปอีกว่าปัญหาที่สำคัญที่สุดสี่ประการสำหรับประเทศไทย คือ อันดับที่ 1 การคอรัปชั่น (20.2%) อันดับที่ 2 ความไม่มั่นคงของรัฐบาล (16.5%) และอันดับที่ 3 นโยบายไม่มีเสถียรภาพ (13.5%) และอันดับที่ 4 ระบบราชการไม่มีประสิทธิภาพ (13.4%)
       
       ในวันที่ 4 กันยายน 2556 World Economic Forum (WEF) เผยแพร่รายงานความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆ ทั่วโลก จำนวน 148 ประเทศ ครั้งล่าสุด ใน The Global Competitiveness Report 2013-2014 ซึ่งใช้ดัชนีความสามารถในการแข่งขันรวม (Global Competitiveness Index (GCI)) ในการจัดลำดับความสามารถในการแข่งขัน โดยคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในฐานะ Partner หลักของ World Economic Forum ในประเทศไทย ได้วิเคราะห์ผลการจัดอันดับในปี 2013 ไว้ดังนี้

 

       ในปี 2556 สวิสเซอร์แลนด์ได้รับการจัดอยู่ในอันดับสูงสุดเป็นปีที่ 5 ติดต่อกัน ตามมาด้วย สิงคโปร์ ฟินแลนด์ (คงที่ในลำดับที่ 2 และ 3) ขณะที่เยอรมนีเลื่อนขึ้นเป็นอันดับที่ 4 (จากอันดับที่ 6) และสหรัฐอเมริกาในอันดับที่ 5 (เลื่อนขึ้นมา 2 อันดับหลังจากที่ตกลงอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลา 4 ปี)
        โดย WEF ได้สรุปว่าประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันระดับสูงนั้น เป็นประเทศที่มีนวัตกรรม (Highly innovative) อยู่ในระดับสูง และมีสภาพแวดล้อมด้านสถาบัน (Institutions) ที่เข้มแข็ง
       สำหรับประเทศไทย ผลการจัดอันดับในปี 2556 ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันอยู่ในลำดับที่ 37 สูงขึ้นจากลำดับที่ 38 ในปี 2555 (เป็นลำดับที่ 4 ในกลุ่มประเทศอาเซียน รองจากสิงคโปร์ มาเลเซีย และบรูไน) และเมื่อพิจารณาปัจจัยหลักที่นำมาใช้ในการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งประกอบไปด้วย
       1. ปัจจัยพื้นฐาน (Basic requirements) ไทยได้รับการจัดอันดับที่ 49 (ลดลงจากลำดับที่ 45) 
       2. ปัจจัยเพิ่มประสิทธิภาพ (Efficiency enhancers) อยู่ในลำดับที่ 40 (ดีขึ้นจากเดิมที่ 47) 
       3. ปัจจัยนวัตกรรมและศักยภาพทางธุรกิจ (Innovation and sophistication) อยู่ในลำดับที่ 52 (ดีขึ้นจากเดิมที่ 55) 
       แต่ถ้าเปรียบเทียบไปในอดีตตั้งแต่ปี 2549 จะเห็นได้ว่าระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยมีแนวโน้มลดลง โดยปัจจุบันลดลงถึง 6 ลำดับจากปี 2549
       สำหรับกลุ่มประเทศอาเซียนนั้น ประเทศในกลุ่มส่วนใหญ่ได้รับการจัดอันดับสูงขึ้นจากปี 2555 กล่าวคือมาเลเซียปรับตัวสูงขึ้นจากลำดับที่ 25 เป็น 24 บรูไนจาก 28 เป็น 26 อินโดนีเซียจาก 50 เป็น 38 ฟิลิปปินส์ จาก 65 เป็น 59 เวียดนามจาก 75 เป็น 70 สำหรับอินโดนีเซียนั้นถือได้ว่ามีการพัฒนาเพิ่มขึ้นสูงสุดในกลุ่ม G20 คือปรับขึ้น 12 อันดับ ในขณะที่ประเทศที่มีลำดับต่ำลงได้แก่ กัมพูชาลดลงจากลำดับที่ 85 เป็น 88 ส่วนสิงคโปร์ลำดับเท่าเดิม คือ ลำดับที่ 2 นอกจากนี้ลาวและเมียนมาร์ ได้รับการจัดอันดับเป็นปีแรก โดยอยู่ในลำดับที่ 81 และ 139 ตามลำดับ

 

       จุดแข็ง-จุดอ่อน ประเทศไทย
       จากการพิจารณาปัจจัยหลัก 3 ประการที่นำมาใช้ในการคำนวณดัชนีความสามารถในการแข่งขันรวม (GCI) พบว่าประเทศไทยมีปัจจัยพื้นฐาน (4.9 คะแนน) และปัจจัยเพิ่มประสิทธิภาพ (4.4 คะแนน) อยู่ในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก (4.52 และ 4.05 คะแนน) ในขณะที่ปัจจัยนวัตกรรมและศักยภาพทางธุรกิจ (3.7 คะแนน) อยู่ในระดับปานกลาง (ค่าเฉลี่ยโลก 3.73 คะแนน) ซึ่งนับเป็นจุดอ่อนของประเทศไทย เนื่องจากคะแนนและลำดับยังต่ำกว่าปัจจัยหลักด้านอื่นๆ แม้ว่าปีนี้จะเป็นปีแรกที่ปัจจัยนวัตกรรมและศักยภาพทางธุรกิจมีลำดับที่ดีขึ้น (ลำดับลดลงต่อเนื่องทุกปีตั้งแต่ปี 2549-2555)
       
       โดยปัจจัยนวัตกรรมและศักยภาพทางธุรกิจนั้นแยกเป็นระดับการพัฒนาของธุรกิจ (Business sophistication) และนวัตกรรม (Innovation) โดยระดับการพัฒนาของธุรกิจของไทยอยู่ในลำดับที่ 40 (4.4 คะแนน) และระดับนวัตกรรมอยู่ในลำดับที่ 66 (3.2 คะแนน) จะเห็นได้ว่าระดับนวัตกรรมของไทยอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ (ใกล้เคียงกับฟิลิปปินส์และลาว) เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศผู้นำในกลุ่มอาเซียน (สิงคโปร์ ลำดับที่ 9 มาเลเซีย ลำดับที่ 25 อินโดนีเซีย 33 และบรูไน 59) 
       
       ในส่วนของปัจจัยพื้นฐานนั้นประเทศไทยถูกจัดลำดับให้ลดลงจากเดิม 4 ลำดับ (จาก 45 เป็น 49) แม้ว่าคะแนนที่ได้จะคงเดิมอยู่ที่ 4.9 คะแนน ซึ่งอาจสรุปได้ว่าการรักษาระดับของปัจจัยพื้นฐานนั้นที่ระดับเดิมนั้นไม่เพียงพอ เนื่องจากประเทศอื่นมีการพัฒนาปัจจัยพื้นฐานในอัตราที่สูงกว่า โดยปัจจัยพื้นฐานนั้นแยกเป็น 4 ด้าน คือ 1. สภาพแวดล้อมด้านสถาบันหรือปัจจัยด้านกฎหมายต่างๆ (Institutions) 2. โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) 3. สภาวะเศรษฐกิจมหภาค (Macroeconomic environment) 4. สุขภาพและการศึกษาพื้นฐาน (Health and primary education)
       จะเห็นได้ว่าสภาพแวดล้อมด้านสถาบันและ สุขภาพและการศึกษาพื้นฐานนั้นอยู่ในลำดับที่ 78 และ 81 ซึ่งถือว่าเป็นจุดอ่อนของประเทศไทย (เปรียบเทียบกับประเทศผู้นำในกลุ่มอาเซียน (สิงคโปร์ ลำดับที่ 3 และ 2 มาเลเซีย ลำดับที่ 29 และ 33 และบรูไน ลำดับที่ 25 และ 23)
       ในส่วนของปัจจัยเพิ่มประสิทธิภาพนั้นประเทศไทยถูกจัดลำดับให้สูงขึ้นจากเดิมถึง 7 ลำดับ (จาก 47 เป็น 40) แม้ว่าคะแนนที่ได้นั้นคงเดิมอยู่ที่ 4.4 คะแนน แต่ก็ถือได้ว่าเป็นจุดเด่นของประเทศไทย โดยปัจจัยยกระดับประสิทธิภาพนั้นแยกเป็น 6 ด้าน คือ
        1. การศึกษาขั้นสูงและการฝึกอบรม (Higher education and training) 2. ประสิทธิภาพของตลาดสินค้า (Goods market efficiency) 3. ประสิทธิภาพของตลาดแรงงาน (Labor market efficiency) 4. ระดับการพัฒนาของตลาดการเงิน (Financial market development) 5. ความพร้อมด้านเทคโนโลยี (Technological readiness) และ 6. ขนาดของตลาด (Market size) จะเห็นได้ว่า
       ประเทศไทยมีความได้เปรียบในด้านขนาดของตลาด โดยอยู่ในลำดับที่ 22 (เป็นอันดับ 2 ในกลุ่มประเทศอาเซียน รองจากอินโดนีเซียที่อยู่ในลำดับที่ 15) ในทางตรงกันข้ามความพร้อมด้านเทคโนโลยีของประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 78 ซึ่งเป็นอันดับที่ 6 ในกลุ่มประเทศอาเซียน รองจาก สิงคโปร์ (15) มาเลเซีย (51) บรูไน (71) อินโดนีเซีย (75) และฟิลิปปินส์ (75) จึงสรุปได้ว่าความพร้อมด้านเทคโนโลยีเป็นจุดอ่อนที่สำคัญของประเทศไทย
       รายงาน The Global Competitiveness Report 2013-2014 สรุปว่าประเทศไทยได้รับการจัดอยู่ในลำดับที่ 37 เนื่องจากมีการพัฒนาในภาพรวมเพียงเล็กน้อย ในขณะที่ความสามารถในการแข่งขันยังเป็นปัญหาที่ท้าทายเป็นอย่างมาก WEF ยังได้สรุปต่อไปอีกว่าปัจจัยที่ก่อปัญหามากที่สุด 3 อันดับแรก คือ อันดับที่ 1 การคอรัปชั่น (20.2%) อันดับที่ 2 ความไม่มั่นคงของรัฐบาล (16.5%) และอันดับที่ 3 นโยบายไม่มีเสถียรภาพ (13.5%) และอันดับที่ 4 ระบบราชการไม่มีประสิทธิภาพ (13.4%)
       
       นับตั้งแต่ปี 2548 (2005) World Economic Forum ได้นำเสนอดัชนีความสามารถในการแข่งขัน (Global Competitiveness Index) ซึ่งเป็นดัชนีวัดความสามารถในการแข่งขันของประเทศทั้งระดับมหภาคและจุลภาค โดยนิยาม “ความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness)” ไว้ว่า เป็นการวัดความมีประสิทธิภาพของสถาบัน นโยบาย และปัจจัยที่บ่งชี้ถึงประสิทธิภาพของประเทศ ซึ่งความมีประสิทธิภาพของประเทศจะส่งผลถึงความอยู่ดีกินดีของประชากรและการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศ โดยดัชนี GCI วิเคราะห์ 12 ปัจจัยหลัก ซึ่งแบ่งเป็น 3 กลุ่มดังนี้
       1. กลุ่มปัจจัยพื้นฐาน ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญสู่การผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจประเทศ ประกอบด้วย
       - สภาพแวดล้อมด้านสถาบัน (Institutions)
       - โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure)
       - สภาวะเศรษฐกิจมหภาค (Macroeconomic environment)
       - สุขภาพและการศึกษาพื้นฐาน (Health and primary education)
       2. กลุ่มเสริมประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญสู่การผลักดันความมีประสิทธิภาพของประเทศ ประกอบด้วย
       - การศึกษาขั้นสูงและการฝึกอบรม (Higher education and training)
       - ประสิทธิภาพของตลาดสินค้า (Goods market efficiency)
       - ประสิทธิภาพของตลาดแรงงาน (Labor market efficiency)
       - ระดับการพัฒนาของตลาดการเงิน (Financial market development)
       - ความพร้อมด้านเทคโนโลยี (Technological readiness)
       - ขนาดของตลาด (Market size)
       3. กลุ่มนวัตกรรมและระดับการพัฒนา ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญสู่การผลักดันระดับนวัตกรรมของประเทศ ประกอบด้วย
       - ระดับการพัฒนาของธุรกิจ (Business sophistication)
       - นวัตกรรม (Innovation)

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ manager.co.th ดูทั้งหมด

214

views
Credit : manager.co.th


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน