“วันชัย”คัมแบคนั่งCEOอีสท์วอเตอร์”
ASTVผู้จัดการรายวัน -“วันชัย”กลับมารับตำแหน่งซีอีโอ “อีสท์วอเตอร์”อีกครั้ง ลั่นนำพาบริษัทก้าวข้ามจาก”ภาคตะวันออก” ไปสู่การลงทุนในภาคอื่นๆรวมทั้งอาเซียน เพื่อให้มีอัตราเติบโตที่สูง สนใจร่วมทุนเค วอเตอร์ทำโครงการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทและโครงการทวาย เตรียมส่งบริษัทย่อย “ยูยู”รุกธุรกิจน้ำประปาทั้งในและต่างประเทศ
นายวันชัย หล่อวัฒนตระกูล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) (EASTW) กล่าวถึงวิสัยทัศน์การนำพาบริษัทฯสู่ความเป็นผู้นำในการบริหารจัดการน้ำของภูมิภาค หลังกลับมารับตำแหน่ง CEO บริษัทฯอีกครั้งว่า การกลับมาเข้ามารับตำแหน่งใหม่อีกครั้งในอีสท์วอเตอร์ถือว่าเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง
เนื่องจากเป็นองค์กรที่เข้าสู่ทศวรรษที่ 3 ซึ่งบริษัทฯจำเป็นต้องก้าวข้ามจากพื้นที่ภาคตะวันออกให้ได้ เพื่อไปลงทุนในภาคอื่นๆของไทย รวมทั้งขยายการลงทุนไปยังประเทศในภูมิภาคอาเซียน เพื่อให้มีอัตราเติบโตที่สูงเหมือนในอดีต
ขณะเดียวกันบริษัทฯจะไม่ทิ้งภาคตะวันออกเพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำในภาคตะวันออก โดยจะทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำในภาคตะวันออกทุกภาคส่วนอย่างบูรณาการผ่านศูนย์ปฏิบัติการน้ำ (วอเตอร์ วอร์รูม) เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำในภาคตะวันออกเหมือนในอดีต เนื่องจากบริษัทฯมีภารกิจที่จะต้องดูแลการบริหารจัดการน้ำในภาคตะวันออกให้เพียงพอต่อความต้องการ
นายวันชัย กล่าวต่อไป การก้าวออกจากพื้นที่ภาคตะวันออกไปให้ได้จะทำ 2 มิติ กล่าวคือ ออกจากพื้นที่เดิม และต้องออกไปทำธุรกิจเดิม คือ น้ำดิบ โดยบริษัทฯเล็งเห็นโอกาสการเติบโตในธุรกิจน้ำประปา โดยจะให้บริษัทย่อย คือ บริษัท ยูนิเวอร์แซล ยูทีลิตี้ส์ จำกัด หรือยูยู ยูทิลิติตี้ (ยูยู) เป็นผู้รุกธุรกิจนี้ โดยแสวงหาโอกาสการทำน้ำประปาตามเกาะที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยว เช่น เกาะเสม็ด เกาะล้าน เป็นต้น รวมทั้งมองหาโอกาสการบริหารจัดการน้ำเสีย เช่น การนำน้ำเสียที่พัทยามารีไซเคิลแทนการทิ้งลงทะเล โดยนำกลับมาใช้ใหม่ในกระบวนการหล่อเย็นโรงงานที่ชลบุรีแทนการส่งน้ำจากระยองมาใช้ เป็นต้น โดยอย่างช้าปีหน้าจะเห็นความชัดเจนขึ้น
รวมทั้ง ยังมอบหมายให้ยูยูหาโอกาสที่จะรุกธุรกิจน้ำประปาในประเทศอาเซียนทั้ง ลาว และพม่า ที่มีความต้องการใช้น้ำประปาเพิ่มขึ้น ที่ผ่านมา มีบริษัทเอกชนหลายรายได้สัมปทานธุรกิจน้ำประปาในลาวแล้ว ดังนั้นการเติบโตของธุรกิจน้ำประปานั้น ทางบอร์ดบริษัทฯได้ให้ยูยูจะเข้าไปลงทุนได้ทุกรูปแบบทั้งการซื้อสัมปทาน การร่วมลงทุน การควบรวมหรือแม้แต่การซื้อกิจการ เพื่อให้บริษัทฯใหญ่ขึ้น
นอกจากนี้ ยังเห็นโอกาสที่ขยายการลงทุนไปยังจังหวัดภูเก็ต โดยจะวางท่อส่งน้ำจากเขื่อนรัชชประภา จังหวัดสุราษฎร์ธานีมายังภูเก็ต ความยาวท่อ 300 กม. คาดว่าใช้เงินลงทุน 5-6 พันล้านบาท โดยอยู่ระหว่างการศึกษาของการประปาภูมิภาคว่าจะทำเองหรือจะให้เอกชนเข้าไปลงทุน ซึ่งบริษัทฯพร้อมที่จะเข้าไปลงทุนในทุกรูปแบบ โดยยอมรับว่ามาร์จินจากโครงการนี้ต่ำกว่าการวางท่อส่งน้ำมันมาขายให้กับโรงงานอุตสาหกรรม เนื่องจากภูเก็ตเป็นจังหวัดท่องเที่ยว รวมทั้งเจรจากับนิคมอุตสาหกรรมในแถบกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี เพื่อเข้าไปบริหารจัดการน้ำประปาหรือน้ำอุตสาหกรรมประเภทอื่นที่ไม่ใช่น้ำดิบ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีนิคมฯเกิดขึ้นมาก และนิคมฯเองมีการลงทุนธุรกิจน้ำดิบเองอยู่แล้ว
นายวันชัย กล่าวต่อไปว่า บริษัทมีความเชี่ยวชาญในธุรกิจน้ำในฐานะที่อยู่ในธุรกิจนี้มาถึง 20 ปี คงต้องเข้าไปมีบทบาทกับโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท โดยเจรจากับทางบริษัท โคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชั่น (K-Water) ในฐานะผู้ชนะประมูล เพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมในฐานะผู้ร่วมทุน เนื่องจากอีสท์วอเตอร์เป็นบริษัทไทยที่มีหน่วยงานรัฐให้การสนับสนุนและมีประสบการณ์การบริหารจัดการน้ำแบบครบวงจร บุคลากรพร้อม รวมทั้งดูโอกาสร่วมพัฒนาฟลัดเวย์ เพื่อนำน้ำมาใช้ยังภาคตะวันออกด้วย
นอกจากนี้ทางอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) ก็มีการชักชวนให้บริษัทเข้าไปร่วมพัฒนาธุรกิจน้ำในโครงการนิคมฯและท่าเรือน้ำลึกทวายที่พม่าด้วย ซึ่งบริษัทฯมีความสนใจ เนื่องจากรูปแบบจะเหมือนกับมาบตาพุด
สำหรับแผนการลงทุนในปีหน้า บริษัทฯจะยังลงทุนต่อเนื่องธุรกิจน้ำดิบจากโครงการเดิมทั้งโครงการวางท่อจากอ่างเก็บน้ำประแสร์มาหนองปลาไหล และโครงการสร้างแหล่งสำรองน้ำที่ทับมา จังหวัดระยอง ความจุ 20 ล้านลบ.ม. ใช้เงินลงทุนเฉลี่ยปีละ 2 พันล้านบาทต่อเนื่องไปอีก 3 ปี และการลงทุนธุรกิจประปาเฉลี่ยปีละ 500 ล้านบาท รวม 2.5 พันล้านบาท โดยยังไม่ได้รวมโครงการใหม่ที่เกิดขึ้นในอนาคต
นายนำศักดิ์ วรรณวิสูตร รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายการเงินและบัญชี อีสท์วอเตอร์ กล่าวว่า ในปีหน้าบริษัทฯตั้งเป้าหมายปริมาณการขายน้ำดิบจะโตขึ้น5-6%จากปีนี้ที่มีปริมาณขายน้ำดิบอยู่ที่ 295 ล้านลบ.ม. แต่ในด้านรายได้จะโตใกล้เคียงปีนี้ประมาณ 10% เนื่องจากปีหน้าจะมีการปรับราคาขายน้ำดิบเพิ่มขึ้นจากเดิม 10.50 บาท/ลบ.ม.เป็น 11 บาท/ลบ.ม. โดยยังไม่รวมการใช้น้ำดิบจากโครงการลงทุนใหม่ในนิคมฯเหมราชและนิคมฯอมตะ
ส่วนแหล่งเงินทุนนั้น บริษัทฯมีความสามารถในการกู้ยืมได้อีก 7 พันล้านบาท เนื่องจากมีอัตราหนี้สินต่อทุนต่ำเพียง 0.6 เท่า และยังมีช่องทางการระดมเงินจากการกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ( Inflastructure Fond) นอกจากนี้บริษัทฯยังมีแผนที่จะนำบริษัท ยูยู เข้าระดมทุนในตลาดหุ้น เพื่อให้บริษัทฯสามารถดำเนินการจัดหาแหล่งเงินทุนเองแทนการพึ่งพาบริษัทแม่
“หากบริษัทไม่คิดจะออกจากพื้นที่เดิม (ภาคตะวันออก) ก็คงไม่สามารถรักษาอัตราการเติบโตระดับสองหลักได้ คงโตเพียงปีละ 6% ซึ่งนโยบายนี้ภายในองค์กรก็ต้องปรับวิสัยทัศน์ เปลี่ยนวิธีคิดใหม่ และนี่คือเหตุผลที่ผมกลับมารับตำแหน่งนี้อีกครั้ง “ นายวันชัย กล่าว