KBANK จูงเอสเอ็มอีไทย จับคู่ธุรกิจกลุ่มยานยนต์จีน
กสิกรฯ เผยจีนสนลงทุนอุตฯ ยานยนต์ไทย เล็งแห่เข้าไทยตั้งโรงงานผลิตรถพวงมาลัยขวาป้อนอาเซียน-เอเชีย กสิกรฯ รับลูกทันควันจัดจับคู่ธุรกิจยานยนต์ไทย-จีน หวังสร้างเครือข่ายและเพิ่มโอกาสให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยพบผู้ผลิตรถยนต์จากจีน คาดมีการเจรจาซื้อขาย 500 ล้าน ภายใน 1 ปี
นายพัชร สมะลาภา รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)เปิดเผยว่า จากแนวโน้มอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยที่ยังเติบโตได้ดี โดยอุตสาหกรรมการรับช่วงการผลิตยังคงมีอัตราเติบโต 10-15% เมื่อเทียบกับปีก่อนๆ ทำให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์จากจีน ซึ่งมองเห็นถึงความพร้อม และมีความเชื่อมั่นในฝีมือการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของผู้ประกอบการไทยสนใจเข้ามาลงทุน
ดังนั้น ธนาคารกสิกรไทย ในฐานะผู้เชื่อมโยง และสนับสนุนการจับคู่ธุรกิจ (Business Matching)ได้ข้อตกลงกับผู้ผลิตจีน 3 แห่ง และผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย 30 แห่ง ในการจับคู่ทางธุรกิจกัน เพื่อทั้ง 2 ฝ่ายได้รับประโยชน์ในการขยายตลาดยานยนต์ในไทยเพิ่มขึ้น ขณะที่ธนาคารก็พร้อมจะสนับสนุนในเรื่องของธุรกรรมทางการเงินต่างๆ เช่น การให้การสนับสนุนวงเงินสินเชื่อด้าน Trade Finance แก่ผู้ผลิตจีน และเพิ่มวงเงินสินเชื่อให้แก่ลูกค้าเอสเอ็มอีที่เป็นผู้ประกอบการไทย เป็นต้น
สำหรับผู้ผลิตรถยนต์จีนที่มาทำการเจรจาธุรกิจในครั้งนี้ 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด (SAIC MOTOR-CP Co.,Ltd.) บริษัท ตงฟง ออโต้โมบิล (ประเทศไทย) จำกัด (DONGFENG AUTOMOBILE (THAILAND) Co., Ltd.) และบริษัท บริลเลี่ยน ออโต้ อินเตอร์เนชั่นเนล เทรด จำกัด (Brilliance Auto International Trade Corporation) ซึ่งทั้ง 3 บริษัท ถือว่าเป็นผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำจากจีน (Top Brand)
“แม้ว่าเศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวลง หรือยอดขายรถยนต์ในไทยจะชะลอตัวลง อัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี และปัจจัยต่างๆ ที่ชะลอลงก็ถือว่ามีผลกระทบที่น้อยต่อ 3 บริษัทใหญ่ของจีนที่ว่า คือไม่ได้มีผลกระทบถึงงบดุล ขณะที่กลุ่มเอสเอ็มอีขนาดกลาง และเล็กของไทยก็มีที่ได้รับผลกระทบบ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็ปรับตัวได้เร็ว แล้วแบงก์เองพยายามช่วยเหลือโดยการหาวิธีให้ผู้ประกอบการทำธุรกิจได้ง่ายขึ้น อย่างเช่นแนวทางนี้ที่ทำอยู่”
นายพัชร กล่าวว่า ที่ผ่านมา ธนาคารได้จัดจับคู่ในภาคธุรกิจมันสำปะหลัง ยางพารา แต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จมากนัก เนื่องจากเป็นสินค้าที่ผูกติดกับราคามากกว่าความสัมพันธ์ ขณะที่ธุรกิจยานยนต์น่าจะให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าเพราะมีลักษณะที่แตกต่างกัน
ด้านนายพิพิธ เอนกนิธิ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์จีนในปัจจุบันมีผู้ผลิตรถยนต์รวม 82 ราย แบ่งเป็นการร่วมทุนกับนักลงทุนต่างชาติ 40 ราย และเป็นผู้ผลิตท้องถิ่น 42 ราย มียอดผลิตรถยนต์ 20 ล้านคันต่อปี ขณะที่ไทยมียอดผลิตรถยนต์ 2.5 ล้านคันต่อปี และมีความโดดเด่นที่มีซัปพลายเชนยานยนต์ที่มีคุณภาพสมบูรณ์ครบวงจร สามารถผลิตชิ้นส่วนในระดับมาตรฐานโลก ซึ่งจะทำให้ยานยนต์แบรนด์จีนที่ผลิตในประเทศไทยได้รับการยอมรับ และเชื่อมั่นในคุณภาพของสินค้า รวมทั้งการมีข้อตกลงในเรื่องภาษี 0% และการมีพรมแดนติดต่อกับหลายประเทศ ทำให้ไทยมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กระจายสินค้าเพื่อส่งออกไปอาเซียน และประเทศอื่นในเอเชียได้ดี
ทั้งนี้ การจับคู่ทางธุรกิจในครั้งนี้คาดว่าจะมีการเจรจาซื้อขายราว 500 ล้านบาท ภายใน 1 ปี และในอนาคต ธนาคารจะยังคงสนับสนุน และผลักดันอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่มีโอกาสเติบโตในลักษณะเดียวกันต่อไป
“การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีนนั้น ก็เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายจับตาดู เนื่องจากมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ ซึ่งในส่วนของไทยเองก็เช่นกัน การชะลอตัวที่เกิดขึ้นก็ทำให้เราต้องต้องคำนึงภาคการส่งออกที่พึ่งพาจีน หรือประเทศใดประเทศหนึ่งมากเกินไป และต้องรู้จักให้ดีว่าตรงไหนคือโอกาส และตรงไหนคือความเสี่ยง”