"ดราก้อน ไลฟ์"ส่งน้ำไซรัป-ลำไยอบแห้งลุยพม่า
"ดราก้อน ไลฟ์" เตรียมส่งลำไยอบแห้ง น้ำไซรัปลำไย เจาะตลาดพม่า เร่งปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ เพิ่มภาษาพม่าในฉลากอำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภค
"ดราก้อน ไลฟ์" เตรียมส่งลำไยอบแห้ง น้ำไซรัปลำไย เจาะตลาดพม่า เร่งปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ เพิ่มภาษาพม่าในฉลากอำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภคบริษัทขุนน้ำทา โพรเซสซิ่ง จำกัด เจ้าของสวนลำไยในจังหวัดลำพูน ที่ได้แปรรูปลำไยเป็นผลิตภัณฑ์หลายชนิด เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าไม่ว่าจะเป็นลำไยอบแห้งหรือน้ำไซรัปลำไยในแบรนด์ดราก้อน ไลฟ์ หลังจากทำตลาดในประเทศได้ระยะหนึ่ง ได้มองหาโอกาสเพิ่มช่องทางตลาดในประเทศเพื่อนบ้าน
นางสาวอภิรดี อาวรณ์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัทขุนน้ำทา โพรเซ็สซิ่ง จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทสนใจออกไปทำตลาดส่งออกลำไยอบแห้งที่พม่าและเวียดนาม โดยได้ไปนำสินค้าไปร่วมงานแสดงสินค้าที่พม่า เมื่อปลายปี 2555 และได้ผลตอบรับค่อนข้างดี ผู้บริโภคชาวพม่าตื่นเต้นกับสินค้าของบริษัท แม้ว่าพม่าจะมีการปลูกลำไยแต่ยังไม่มีอุตสาหกรรมแปรรูป รวมทั้งไทยมีเทคโนโลยีการปลูกและพันธุ์ลำไยของไทย มีการพัฒนามาตลอดทำให้ลูกใหญ่กว่าลำไยพม่า
นางสาวอภิรดี กล่าวว่า ที่ผ่านมาบริษัทได้ศึกษาพฤติกรรมการบริโภคของชาวพม่า โดยกลุ่มคนมีกำลังซื้อเริ่มกล้าบริโภคมากขึ้น เมื่อซื้อสินค้าแล้วผู้ชายจะเป็นคนตัดสินใจและเป็นคนจ่ายเงิน และถ้าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพดีจะไม่ค่อยต่อรองราคา ซึ่งบริษัทเน้นผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ จึงวางตำแหน่งสินค้าที่จะขายในพม่าที่ตลาดระดับบีบวกขึ้นไป รวมทั้งชาวพม่านิยมสินค้าไทยมากกว่าจีน จะเห็นได้ว่าช่วงวันหยุดมีกลุ่มผู้มีกำลังซื้อสูง เช่น นักธุรกิจ ทหาร เดินทางมาช็อปปิ้งที่เชียงใหม่มากขึ้น เพราะมีเที่ยวบินบินตรงเส้นทางย่างกุ้ง-เชียงใหม่
ทั้งนี้ บริษัทกำลังหารือกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ที่มาคัดเลือกผู้ประกอบการในภาคเหนือ เพื่อช่วยเหลือในการไปเปิดตลาดส่งออกประเทศเพื่อนบ้าน โดยต้องการให้ภาครัฐเข้ามาช่วยในการจับคู่ธุรกิจเพื่อหาลูกค้าในพม่าและบริษัทก็พยายามหาลูกค้าเองคู่ขนานกันไป เพราะจะนั่งรอให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือเพียงอย่างเดียวคงไม่ได้ ซึ่งบริษัทกำลังติดต่อหาลูกค้าในย่างกุ้งและเมืองสำคัญอื่นของพม่า
ช่วงนี้เป็นช่วงเตรียมความพร้อมในการส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งได้ปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ให้น่าสนใจมากขึ้น เพราะเป็นสิ่งแรกที่ลูกค้าเห็น และเพิ่มภาษาพม่าเข้าไปในฉลาก เพื่อให้ผู้บริโภคพม่าเข้าใจข้อมูลสินค้า โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์ของน้ำไซรัปลำไยที่ต้องปรับมาก เพราะอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการผลิตเพื่อจำหน่าย และช่วงที่นำสินค้าไปแสดงที่พม่าก็มีผู้บริโภคสนใจมาก เพราะไม่คิดว่าลำไยจะนำมาผลิตเป็นไซรัปได้ ซึ่งไซรัปนี้สามารถใช้แทนน้ำตาลในอาหารและเครื่องดื่มได้
สำหรับตลาดเวียดนามเป็นอีกตลาดที่บริษัทลองเข้าไปทดลองตลาดและได้ผลตอบรับที่ดี มีลูกค้าสนใจสั่งซื้อสินค้าและมาดูการผลิตของโรงงานที่จังหวัดลำพูน แต่เมื่อเจรจาราคากันแล้วมีการต่อรองราคากันมากและถ้าบริษัทยอมขาย ก็เหมือนการลดเกรดสินค้าจึงต้องค่อยๆ หาลูกค้าต่อไป และถ้าเทียบระหว่างตลาดพม่ากับเวียดนามแล้ว เห็นว่าตลาดพม่าน่าสนใจกว่า