“ไมซ์” โกย 6.4 หมื่นล้านบาท 3Q / จี้รัฐอัดงบกระตุ้นฟื้นเศรษฐกิจ
ASTVผู้จัดการรายวัน - TCEB เผยผลการดำเนินงาน 3 ไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2556 ขยายตัวกว่า 12.04% คาดทำรายได้ทะลุเป้า 8.8 หมื่นล้านบาทจากนักท่องเที่ยว 9.4 แสนคน ระบุเหตุผลสำคัญนักท่องเที่ยวมีการวางแผนเดินทางล่วงหน้า สามารถเพิ่มกำลังซื้อในประเทศแทนคนไทย แนะรัฐผลักดันงบประมาณการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานเพื่อเพิ่มกำลังซื้อในประเทศและพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์สู่ความเป็นศูนย์กลางในอาเซียน
นายนพรัตน์ เมธาวีกุลชัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ TCEB เปิดเผยว่า ในช่วงที่ค่าจีดีพีและภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศกำลังอยู่ในช่วงซบเซาจนส่งผลให้ประชาชนมีกำลังซื้อที่ต่ำลงในปัจจุบันนั้น หากรัฐบาลมีการผลักดันงบประมาณในการเร่งก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้มากขึ้นแล้วย่อมส่งผลดีและทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้นได้ ขณะเดียวกัน หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวควรมีการเร่งดำเนินการในการเชิญชวนนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เดินทางมาประเทศเพิ่มขึ้นด้วย เพื่อเป็นการเพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศเป็นการทดแทนกัน
ในส่วนของอุตสาหกรรมไมซ์ (Mice) ซึ่งประกอบด้วยการประชุมและการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล (Meeting & Incentives) การประชุมนานาชาติ (Conventions) และการแสดงสินค้านานาชาติ (Exhibitions) ถือเป็นปัจจัยเกื้อหนุนที่จะช่วยส่งเสริมให้เศรษฐกิจของประเทศไทยเติบโตได้อย่างมั่นคงและมีเสถียรภาพ ลดการพึ่งพิงจากต่างประเทศ อีกทั้งยังเป็นการกระจายรายได้จำนวนมหาศาลให้หมุนเวียนจากส่วนกลางไปยังส่วนภูมิภาค เนื่องจากมีรายได้หลักมาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีส่วนสำคัญในการทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในประเทศเป็นจำนวนมาก
สำหรับผลการดำเนินงานของ TCEB ในช่วงไตรมาสที่ 1-3 ประจำปีงบประมาณ 2556 หรือตั้งแต่เดือน ต.ค. 55-มิ.ย. 56 ในภาพรวมเติบโตขึ้นประมาณ 12.04% โดยสามารถเชิญชวนนักเดินทางกลุ่มไมซ์ชาวต่างชาติทั้งสิ้นเป็นจำนวน 747,072 คน คิดเป็นรายได้รวมทั้งสิ้น 64,331 ล้านบาท จึงคาดว่าเมื่อสิ้นสุดไตรมาส 4 ในเดือน ก.ย. 2556 อุตสาหกรรมไมซ์ของประเทศไทยจะสามารถเติบโตได้ตามเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ คือ สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ประมาณ 9.4 แสนคน คิดเป็นรายได้ทั้งสิ้น 8.8 หมื่นล้านบาท หรือเติบโตขึ้นอีกประมาณ 5-10%
จากสถิตินักเดินทางกลุ่มไมซ์ที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยสูงสุด 5 อันดับแรกเป็นนักเดินทางในกลุ่มอาเซียนบวกหก ได้แก่ จีน อินเดีย สิงคโปร์ เกาหลี และมาเลเซีย รวมถึงประเทศอื่นๆ ในเอเชีย มีจำนวนทั้งสิ้น 543,016 คน คิดเป็นรายได้ทั้งสิ้น 46,760 ล้านบาท ขณะเดียวกัน ตลาดยุโรปและสหรัฐอเมริกาเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้น โดยมีนักเดินทางยุโรปจำนวนทั้งสิ้น 83,772 คน นำรายได้สู่ประเทศ 7,214 ล้านบาท ส่วนนักเดินทางสหรัฐอเมริกามีจำนวน 43,165 คน คิดเป็นรายได้ 3,717 ล้านบาท
“จากข้อมูลข้างต้นจึงอาจกล่าวได้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศแทบไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมไมซ์ เนื่องจากนักท่องเที่ยวมักมีการวางแผนเดินทางระยะยาวเป็นการล่วงหน้าอยู่แล้ว ด้วยเหตุนี้ TCEB จึงมีการกำหนดแผน 3 ปีร่วมกันกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในการเชิญชวนนักท่องเที่ยวให้เดินทางเข้าประเทศมากขึ้นเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมไมซ์ของอาเซียน”
อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มประเทศอาเซียนและเอเชียมีเพียงสิงคโปร์ มาเลเซีย และฮ่องกงเท่านั้นที่มีศักยภาพใกล้เคียงกับประเทศไทย แต่ยังเสียเปรียบในเรื่องของสิ่งอำนวยความสะดวกด้านต่างๆ รวมถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม กลยุทธ์การตลาด และสถานที่ตั้งซึ่งประเทศไทยได้เปรียบมากในแง่ของการเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาคนี้ แต่ในทำนองกลับกันประเทศไทยยังจำเป็นต้องเร่งพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคตด้วยเช่นกัน
นายนพรัตน์ยังเปิดเผยถึงภาพรวมแผนส่งเสริมตลาดต่างประเทศในไตรมาสที่ 4 ด้วยว่า TCEB จะให้ความสำคัญในการทำตลาดกลุ่มอาเซียน โดยเน้นความร่วมมือกับประเทศที่มีศักยภาพและตลาดสำหรับอุตสาหกรรมการประชุม โดยยังคงเน้นการรักษาฐานตลาดเดิมควบคู่ไปกับการสร้างการรับรู้และขยายไปยังตลาดสำคัญๆ ที่มีศักยภาพสูง เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย พม่า อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น จีน ออสเตรเลีย รวมถึงฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร
“เรายังมีการทำงานร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยในการเปิดตลาดใหม่อีกหลายแห่ง ได้แก่ เมืองคอมบาตอร์ และเมืองบังคาลอร์ ประเทศอินเดีย เมืองไคฟง และเมืองดานัง ประเทศเวียดนาม และเมืองโอกแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์”
ส่วนแผนงานพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมไมซ์ในไตรมาสที่ 4 จะเป็นการมุ่งเสริมศักยภาพทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยเน้นให้ความสำคัญในการพัฒนาบุคลากรด้วยการจัดทำหลักสูตรไมซ์มาตรฐานสากลสำหรับสถาบันอุดมศึกษาและสถาบันอาชีวศึกษาทั่วประเทศ การจัดทำโครงการหลักสูตรไมซ์มาตรฐานสากลสู่การเป็นไมซ์เมเจอร์ การศึกษาการขยายพันธมิตรของสถาบันอุดมศึกษาในต่างประเทศ และการขยายการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการด้านการจัดประชุมและนิทรรศการสู่เมืองไมซ์ซิตี้
“ตลอดเวลาที่ผ่านมาเราให้การสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนา 4 หัวเมืองใหญ่ภายในประเทศให้ดำเนินงานเป็นไมซ์ซิตี้อย่างเต็มรูปแบบ ทั้งเชียงใหม่ ภูเก็ต พัทยา และขอนแก่น โดยเราจะเน้นพัฒนาบุคลากรและสิ่งอำนวยความสะดวกในแต่ละพื้นที่เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาร่วมงานในแต่ละพื้นที่ โดยเรามั่นใจว่าหลังการเปิดเขตประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ไมซ์ซิตี้ของเราจะเป็นหัวใจหลักที่ทำให้ประเทศไทยสามารถเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมไมซ์ในอาเซียนได้อย่างสมบูรณ์แบบ”