สุดฉาว!เครือ ปตท.พัวพันสินบน สัมปทานปิโตรเลียมพม่า

ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ความวัว น้ำมันดิบรั่วยังไม่ทันหาย ความควายพัวพันสินบนสัมปทาน ปิโตรเลียมพม่าก็เข้ามาแทรก ฉุดภาพลักษณ์บิ๊กเบิ้มพลังงานแห่งอาเซียน บรรษัทภิบาลดีเด่นระดับโลกให้ตกต่ำสุดขีด จนไม่รู้จะเอาหน้าไปซุกไว้ที่ไหน แต่สไตล์เครือปตท.ก็รู้อยู่แล้วว่าจะต้องยืนกระต่ายขาเดียวยืนยันไม่มีปัญหา ไม่มีเรื่องอื้อฉาวอย่างที่เป็นข่าวครึกโครม ย้ำอีกครั้งจากซีอีโอปตท.สผ.ไม่มีเรื่องไม่โปร่งใสแน่นอน 
       
       หากเป็นประเทศไทยแล้ว ไม่มีทางที่จะมีข่าวฉาวโฉ่ของเครือปตท.เกี่ยวข้องพัวพันกับเรื่องการให้สินบน เพราะเครือปตท.เขาให้การสนับสนุน อุปการคุณผู้คนและองค์กรทุกวงการทุกระดับชั้น ไล่มาตั้งแต่นักการเมืองรัฐมนตรี อธิบดี ข้าราชการระดับสูง ที่อยู่ในคณะกรรมการต่างๆ ทั้งคณะกรรมการกำหนดนโยบาย อนุญาต อนุมัติ กำกับตรวจสอบ และยังเข้าไปเป็นคณะกรรมการต่างๆ ในบริษัทในเครือปตท.ที่มีอยู่มากมายมหาศาล รับเบี้ยเลี้ยง โบนัส กันเพลิดเพลินจนไม่รู้จักแยกแยะ ถูกผิด ก่อนหลัง อะไรคือผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน อะไรคือผลประโยชน์ของบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่เน้นทำกำไรสูงสุด
       
       ขณะที่สื่อ สถาบันการศึกษา ชุมชน ฯลฯ เครือปตท.ก็มีงบจัดสรรให้การอุดหนุนนับพันล้านต่อปี ซึ่งค่าใช้จ่ายเพื่อให้สงบปากสงบคำกันถ้วนหน้านี้ ถือว่าเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับความมั่งคั่งของปตท.สผ. ที่สามารถทำกำไรอย่างงดงามกว่า 57,316 ล้านบาทเมื่อปี 55 เพิ่มขึ้นร้อยละ 26 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 54 ที่มีกำไร 44,748 ล้านบาท
       
       แต่นี่คือประเทศเมียนมาร์หรือพม่า ที่เพิ่งเปิดประเทศต้อนรับนักลงทุนใหม่อีกครั้งหลังถูกแซงก์ชั่นจากมหาอำนาจอเมริกาและปิดตัวเองมานานหลายสิบปี จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้นำสูงสุดของประเทศพม่าขณะนี้ คือ พล.อ.เต็ง เส่ง ประธานาธิบดีพม่า จะต้องแสดงบทบาทในการกำราบบรรดารัฐมนตรีที่ออกนอกลู่นอกทาง หรือมีสัมพันธ์กับนักลงทุนชาติชาติหนึ่งเกินงาม เพื่อสร้างภาพเรื่องหลักธรรมาภิบาลในการบริหารประเทศที่ต้องมีความโปร่งใสเป็นที่ตั้ง
       
       คำสั่งโยกย้ายที่ประธานาธิบดีเต็งเส่ง ลงนามย้ายรมว.และรมช.กระทรวงพลังงานของพม่าเมื่อวันที่ 25 ก.ค. 56 แต่เพิ่งปรากฏเป็นข่าวผ่าน เมียนมาร์ไทม์ส สื่อกึ่งทางการของพม่า เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 56 ที่ผ่านมานั้น จึงกลายเป็นรายการเชือดไก่ให้ลิงดู โดยมี บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ (ปตท.สผ.) บรรษัทพลังงานข้ามชาติยักษ์ใหญ่ของไทย ตกเป็นจำเลยของสังคมพม่าและไทยไปด้วย 
       
       เว็บไซต์เมียนมาร์ไทมส์ รายงานว่า ความกังวลเรื่องความโปร่งใสในการให้สัมปทานแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ กับ ปตท.สผ.จากประเทศไทยนั้น เป็นสาเหตุที่ทำให้นาย อู ถั่น เต รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของพม่า และนาย อู ติน อ่อง รัฐมนตรีช่วยกระทรวงพลังงานของพม่า ต้องลงจากตำแหน่งอย่างกะทันหัน โดยนายอู ถั่น เต ถูกย้ายไปรับตำแหน่งรมว.กระทรวงรถไฟ สลับเก้าอี้กับนายอู ซี ยาร์ รมว.กระทรวงรถไฟที่มารับตำแหน่งรมว.กระทรวงพลังงานแทน ขณะที่รัฐมนตรีช่วยพลังงานนั้น ถูกย้ายไปประจำตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยกระทรวงแรงงาน การจ้างงาน และความปลอดภัยสังคม โดยที่ยังไม่มีการประกาศตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีพลังงานคนใหม่แต่อย่างใด
       
       เมียนมาร์ไทมส์ อ้างแหล่งข่าวจากหลายแหล่งว่า การเปลี่ยนแปลงในกระทรวงพลังงานครั้งนี้ มีสาเหตุจากการอนุมัติสัมปทานแปลงสำรวจขุดเจาะน้ำมันและก๊าซที่รู้จักกันในชื่อ MD-7 กับ MD-8 ให้แก่บริษัท ปตท.สำรวจและผลิต (PTTEP) ของไทยเมื่อตอนต้นปี และยังอ้างการวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานที่มีประสบการณ์มากกว่า 30 ปี ด้วยว่า รัฐมนตรีพลังงานทั้ง 2 คนถูกโยกย้ายเป็นผลเนื่องจากการให้ใบอนุญาตสำรวจและผลิตดังกล่าว ซึ่งทั้งสองแปลงถือว่าเป็นแปลงที่ดีที่สุดในอ่าวเมาะตะมะ ซึ่งปตท.สผ.ได้รับสัมปทานไปทั้งๆ ที่ไม่ได้ประกวดราคาด้วยซ้ำ การตัดสินใจของรัฐมนตรีทั้งสองก่อให้เกิดการโต้แย้งวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก
       
       ทั้งนี้ พื้นที่ทั้ง 2 แปลง ไม่ได้รวมอยู่ในพื้นที่ 30 แปลงนอกชายฝั่งที่รัฐมนตรีได้เปิดประมูลในวันที่ 30 เม.ย. 56 หลังจากที่ ปตท.สผ. ได้ประกาศเมื่อช่วงกลางเดือน ม.ค. 56 ว่าได้รับอนุมัติสัมปทานแปลงสำรวจขุดเจาะน้ำมันและ ก๊าซ 2 แห่งแล้ว "ผมได้ยินมาว่าท่านรัฐมนตรีจะประกาศว่า ได้อนุมัติสัมปทานแปลงสำรวจขุดเจาะน้ำมันและก๊าซเอ็มดี-7 และเอ็มอี-8 ให้กับ ปตท.สผ. เมื่อตอนที่ประกาศผู้ได้รับสัมปทานทั้ง 30 แปลง เพื่อให้เห็นว่ากระบวนการดังกล่าวมีความโปร่งใส" ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานของพม่า แฉพฤติกรรมของเจ้ากระทรวงพลังงานของพม่า
       
       งานนี้ ไม่ใช่แค่ระดับรัฐมนตรีเท่านั้นที่กระเด็นจากเก้าอี้ แต่ยังลามมาถึงระดับอธิบดีกรมวางแผนพลังงานที่ถูกเด้งไปอยู่ที่กระทรวงเหมืองแร่ด้วย โดยนายซอออง อธิบดีกรมวางแผนพลังงาน นั้นก่อนนี้มีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนของรัฐวิสาหกิจน้ำมันและก๊าซพม่า (Myanmar Oil and Gas Enterprise) หรือ MOGE และยังกำกับดูแลคณะกรรมการของกระทรวงฯ ที่ทำหน้าที่พิจารณาต่อสัญญาการแบ่งปันการผลิต (Production Sharing Contracts -PSC) ที่มีอยู่ รวมทั้งการออกใบอนุญาตสำรวจและผลิตให้แก่บริษัทน้ำมันทั้งในประเทศและต่างประเทศด้วย
       
       ถ้าจะพูดกันชัดๆ อธิบดีคนนี้คงเป็น “มือชง” ให้กับรัฐมนตรี ผลก็เลยถูกเด้งพ้นวงโคจร เพราะความไม่โปร่งใสที่เกิดขึ้นในกระทรวงพลังงานของพม่านั้น ไม่ใช่แค่กรณีการให้สิทธิการสำรวจและผลิตแก่บริษัทพลังงานของไทยเท่านั้นที่มีปัญหา แต่ยังมีเรื่องการเจรจาต่อสัญญาให้แก่บริษัท MPRL E&P ในแหล่งบนบกทางตอนกลางของพม่าอีกกรณีหนึ่งด้วยที่มีความคลุมเครือไม่โปร่งใส เช่นเดียวกับที่มีการกล่าวหาเกี่ยวกับการรับสินบนที่เกี่ยวข้องกับโครงการพลังงานอื่นๆ รวมทั้งการก่อสร้างท่อส่งน้ำมันด้วย เรียกว่าแตะไปตรงจุดไหนก็มีปัญหาเลยต้องล้างบางกันยกใหญ่
       
       หลังจากปรากฏข่าวสินบนข้ามชาติอันอื้อฉาวเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของเมียนมาร์ไทมส์ นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ PTTEP ยืนยันว่า ปตท.สผ. ไม่มีทางให้สินบนใครได้ เพราะเป็นบริษัทมหาชนที่มีกระบวนการตรวจสอบ และอีกสถานะหนึ่งยังเป็นรัฐวิสาหกิจที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มีการตรวจสอบงบการเงินอย่างเข้มงวด
       
       เว็บไซต์ของปตท.สผ. ได้ชี้แจงถึงกรณีที่มีข่าวปรากฏในสื่อมวลชนเกี่ยวกับแปลงสำรวจ MD-7 และ MD-8 ในอ่าวเมาะตะมะ สหภาพเมียนมาร์ โดยมีรายละเอียดว่า
       
       “ปตท.สผ.ขอปฎิเสธเกี่ยวกับความไม่โปร่งใส และยืนยันว่า ไม่มีการให้สินบนเกี่ยวกับการได้สิทธิในแปลงสำรวจดังกล่าว และขอชี้แจงว่าทางบริษัทฯได้มีการเจรจาเกี่ยวกับแปลงสำรวจ MD-7 และ MD-8 มาตั้งแต่ต้นปี 2553 และเมื่อต้นปี 2556 คณะรัฐมนตรีของสหภาพเมียนมาร์ได้อนุมัติสิทธิการสำรวจในแปลงดังกล่าวให้กับ ปตท.สผ. ก่อนที่สหภาพเมียนมาร์จะมีการเปิดประมูลสิทธิการสำรวจปิโตรเลียมในทะเลในกลางปี 2556 ซึ่งทั้งสองแปลงตั้งอยู่ในทะเลลึก และเป็นพื้นที่ต่อเนื่องกับแปลงสำรวจอื่น ๆ ในทะเลอันดามันฝั่งไทยที่ ปตท.สผ.มีการสำรวจอยู่แล้ว ซึ่งสามารถประสานการดำเนินการร่วมกันได้ ทั้งนี้ แปลงสำรวจ MD-7 และ MD-8 ยังไม่เคยมีการสำรวจมาก่อน จึงยังไม่ทราบว่ามีปริมาณน้ำมันและก๊าซฯ อยู่หรือไม่ หรือมากน้อยเพียงใด
       
       “ตลอดการดำเนินธุรกิจด้านสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในสหภาพเมียนมาร์กว่า 20 ปี และในฐานะที่เป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติ ปตท.สผ. มีแนวทางการบริหารงานตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี สอดคล้องกับกฎหมายและข้อบังคับต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และต้องได้รับการตรวจสอบจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน”
       
       จะว่าไปแล้ว ปตท.สผ.ไม่ใช่นักลงทุนหน้าใหม่ แต่เป็นหนึ่งในขาใหญ่ด้านพลังงานในพม่ามานาน ทั้งที่ผ่านมาและในอนาคต ปตท.สผ. เล็งพม่าเป็นขุมทรัพย์หลายแสนล้านที่ต้องเข้าไปตักตวง พร้อมทั้งวางแผนลงทุนในอุตสาหกรรมต่อเนื่องอย่างเช่น โรงแยกก๊าซฯ ปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ อีกด้วย โดยที่ผ่านมา เครือปตท. มีนายหน้ากิตติศักดิ์ที่มีชื่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ออกแรงช่วยอย่างแข็งขัน นับจากการไปเยือนพม่าของพี่น้องชินวัตรในช่วงปลายปี 2554 และปี 2555 เรื่อยมาจนบัดนี้เป็นการสืบสานสัมพันธ์ที่มีทั้งการเจรจาความเมืองและเจรจาด้านธุรกิจการลงทุน และกล่าวสำหรับพ.ต.ท.ทักษิณ แล้ว คลิปเสียงคนคล้ายที่หลุดออกสู่สาธารณะก็ตอกย้ำว่า ซี๊ปึกกับคณะผู้นำพม่าขนาดไหน 
       
       ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ หากจะพบว่า ในช่วงของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ปตท.สผ.สามารถเจรจาตกลงทางธุรกิจกับพม่า เรียกว่าอยู่ในระดับ “บิ๊กดีล” เลยทีเดียว เพราะไม่เพียงแต่แปลงสัมปทานใหม่ที่เซ็นสัญญากันในต้นปี 2555 ตามที่ พิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.กระทรวงพลังงาน (ขณะนั้น) และ สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.กระทรวงการต่างประเทศ ที่ได้รับแจ้งจาก ปตท.สผ. ว่าชนะประมูล โดยเมื่อวันที่ 5 - 6 ม.ค. 55 มีการลงนามในสัมปทานแปลง M3 ซึ่งเป็นแปลงที่ 2 ต่อเนื่องจากแปลง M9 เท่านั้น ก๊าซที่ค้นพบในแปลง M3 ยังเป็น wet gas สามารถนำมาเข้าสู่โรงแยกก๊าซฯ และใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งเครือปตท.ได้แสดงความสนใจที่จะเข้าไปสร้างโรงแยกก๊าซฯ และปิโตรเคมีต่อเนื่อง
       
       การขยายการลงทุนของเครือปตท.ในพม่า สอดคล้องกับแผนลงทุนก่อนหน้านี้ที่นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ขณะดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริษัทการเงิน บริษัท ปตท. ระบุว่า ตามแผนการลงทุน 5 ปี (2555-2559) ปตท.จะเพิ่มงบลงทุนเป็น 4 แสนล้าน เพื่อรองรับการลงทุนในโครงการใหม่ๆ โดยยังไม่นับรวมโครงการลงทุนในพม่า ซึ่งปตท.สนใจลงทุนโรงแยกก๊าซฯ หลังจาก ปตท.สผ.มีแปลงสำรวจปิโตรเลียมในพม่า 10 แปลง
       
       นอกจากนั้น ในช่วงเตรียมออกหุ้นกู้ของบริษัทเมื่อเดือนเม.ย. 56 ที่ผ่านมานั้น ซีอีโอของ ปตท.สผ. ระบุว่า บริษัทมีความสนใจยื่นขอสัมปทานปิโตรเลียมใหม่ที่รัฐบาลพม่าเปิดให้สัมปทานทั้งบนบกและทะเล โดยจะร่วมทุนกับพันธมิตร นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้รับอนุญาตให้เข้าไปศึกษาปริมาณสำรองปิโตรเลียมในแปลง MD7 และ MD8 ของพม่า เนื่องจากแปลงดังกล่าวอยู่ใกล้กับแปลงน้ำลึกทะเลอันดามันของ ปตท.สผ.อยู่แล้ว ซึ่งมีศักยภาพที่จะพบปิโตรเลียมได้
       
       ส่วนแปลง M9 หรือซอติก้า ที่พม่านั้น บริษัทฯ คาดว่าจะดำเนินการผลิตก๊าซฯ เชิงพาณิชย์ได้เร็วกว่ากำหนดจากเดิมปลาย มี.ค. 57 เป็นปลาย ธ.ค. 56 หรือ ม.ค. 57 ซึ่งการพัฒนาแหล่ง M9 จะมีการก่อสร้างท่อส่งก๊าซฯ ระยะทางประมาณ 300 กม. มาเชื่อมต่อท่อก๊าซฯ ที่บ้านอีต่อง จ.กาญจนบุรี ซึ่งปัจจุบันมีท่อส่งก๊าซจากแหล่งยาดานาและเยตากุน อยู่แล้ว ส่วนโครงสร้างผู้ถือหุ้นในแหล่งนี้ ปตท.สผ. ถือหุ้น 80% ส่วนอีก 20% เป็น บริษัท เมียนมาร์ ออยล์ แอนด์ แก๊ส เอนเตอร์ไพรซ์
       
       เวลานี้ ปตท.สผ. มีโครงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในพม่า ได้แก่ โครงการยาดานา เยตากุน โครงการซอติก้าหรือแปลง M9 และโครงการ M3, M11 รวมทั้งแปลงสัมปทาน MD7 และ MD8 ที่กำลังตกเป็นข่าวฉาวนี้ด้วย ซึ่ง ปตท.สผ.เพิ่งเปิดฐานที่จ.ระนอง เพื่อเป็นฐานสนับสนุนกิจกรรมการสำรวจ พัฒนา และผลิตปิโตรเลียมทางทะเลฝั่งอันดามัน และในอ่าวเมาะตะมะ โดยโครงการลงทุนด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของปตท.สผ. ทั้งหมดมีมากกว่า 40 โครงการ ในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ตะวันออกกลาง แอฟริกา ออสเตรเลีย และอเมริกาเหนือ
       
       ความยิ่งใหญ่ของปตท.สผ.ที่มาพร้อมๆ กับความอื้อฉาวเรื่องสินบนคราวนี้ มิใช่ปรากฏการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรก ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนม.ค. 56 เว็บไซต์หนังสือพิมพ์จาการ์ตาโพสต์ของอินโดนีเซีย รายงานว่า ปตท.สผ.ออสตราเลเซีย ของไทย ปฏิเสธข้อกล่าวหาของกลุ่มสิ่งแวดล้อมอินโดนีเซียเรื่องติดสินบนนักวิชาการและเจ้าหน้าที่อินโดนีเซียให้ปกปิดผลกระทบจากเหตุน้ำมันรั่วที่บ่อมอนทาราในทะเลติมอร์ เมื่อปี 2552 โดยจ่ายสินบนให้มหาวิทยาลัยชั้นนำแห่งหนึ่งของอินโดนีเซีย จัดทำรายงานว่า ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยันว่าเหตุน้ำมันรั่วที่บ่อมอนทานา ทำให้น่านน้ำอินโดนีเซียเกิดความเสื่อมโทรม
       
       นอกจากนั้น การลงบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงสิ่งแวดล้อมและกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซียกับปตท.สผ.ออสตราเลเซีย เมื่อปี 2554 กลุ่มสิ่งแวดล้อมอินโดนีเซียถือว่า เป็นการติดสินบนอย่างหนึ่งเพราะบันทึกดังกล่าวกำหนดไว้ว่าไม่มีฝ่ายใดในอินโดนีเซียสามารถยื่นฟ้อง ปตท.สผ.ออสตราเลเซียเรื่องเหตุน้ำมันรั่วที่บ่อมอนทานาได้ ถือเป็นการละเมิดกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่ให้สิทธิชาวอินโดนีเซียยื่นฟ้องผู้ก่อมลภาวะได้
       
       สินบนข้ามชาติปตท.สผ.กับปัญหาน้ำมันรั่วในโครงการมอนทาราเงียบหายไป พร้อมกับการเริ่มผลิตน้ำมันดิบในแหล่งดังกล่าวได้แล้วตั้งแต่เดือนพ.ค. 56 ที่ผ่านมา ขณะที่ประเด็นปัญหาสินบนสัมปทานปิโตรเลียมกับพม่าของปตท.สผ.กำลังเริ่มต้นขึ้น
       
       ในสายตาของนักวิชาการที่เชี่ยวชาญด้านพม่า เช่น นายดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์ประจำคณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่สะท้อนผ่านการให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรานั้น ชัดเจนว่า คนพม่ามองภาพลักษณ์ของปตท.สผ.ในด้านลบ จึงอยากเตือนปตท.ว่า รัฐบาลชุดใหม่ของพม่ารู้จักไทยดี จึงมีความหวาดระแวงไทยว่าจะมาเอาเปรียบมาขูดรีดทรัพยากรของเขา การทำธุรกิจสัมปทานจำเป็นต้องเข้าขั้วอำนาจให้ถูก หากไปขัดผลประโยชน์ของผู้ที่มีอำนาจมากกว่าอาจจะเกิดเหตุไม่คาดฝันถึงขั้นถูกยึดทรัพย์ยึดสัมปทานก็เป็นได้
       
       ชะตาอนาคตของปตท.สผ.ในพม่าจะดำเนินไปเช่นใด ก็ต้องรอดูว่านายหน้ากิตติมศักดิ์ ที่คุยโวโอ้อวดว่าซี้ปึ๊กผู้นำพม่าเหลือประมาณนั้นจะช่วยได้หรือไม่ หรือว่าเป็นแค่ราคาคุยเท่านั้น
       

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ manager.co.th ดูทั้งหมด

262

views
Credit : manager.co.th


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน