ภาษา วัฒนธรรม กาวใจ “ไทย-กัมพูชา”

นับถอยหลังเหลือเวลาเพียง 2 ปีเศษ “ไทยกำลังจะก้าวสู่ประชาคมอาเซียน” ทำให้รัฐบาล หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ตื่นตัวลุกขึ้นหันมาศึกษา วิถีชีวิตเพื่อบ้าน ไม่ว่าจะเรื่องภาษา วัฒนธรรม ประเพณี รวมถึงเศรษฐกิจ การค้า ฯลฯ 
       นายสุระ เตชะทัต ที่ปรึกษา รมว.วัฒนธรรม (วธ.) แสดงความเห็นว่า การเชื่อมความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา เราต้องใช้มิติด้านสังคม วัฒนธรรม ความเชื่อ เป็นตัวเชื่อมระหว่างสองประเทศ ที่เห็นชัดเจนกัมพูชา มีโบราณสถาน สถาปัตยกรรม อย่างนครวัด นครธม คล้ายคลึงกับปราสาทหินพิมาย ปราสาทหินพนมรุ้ง ในบ้านเรา สิ่งเหล่านี้บ่งบอกให้รู้ว่า สองประเทศมีรากวัฒนธรรมเดียวกัน
       
       นางปริศนา พงษ์ทัดศิริกุล ปลัด วธ.เผยแนวทางการเตรียมความพร้อมสู่อาเซียนของกระทรวงวัฒนธรรม ว่า วธ.จะยึด 3 แนวทางหลัก คือ 1.ความเชื่อมโยงประชาชน ผ่านการทูตวัฒนธรรม ทั้งระดับบุคคลและสื่อดิจิตอลต่างๆ เพื่อแลกเปลี่ยนกันในกลุ่มอาเซียน 2.คุณค่าและบรรทัดฐานร่วมกัน โดยยึดหลักรักษาวัฒนธรรมชุมชน หลักคุณธรรม 3.การสร้างประชาคมวัฒนธรรม รวมถึงประเพณีและความเชื่อต่างๆ
       “วันนี้เราจะต้องเปิดใจ เปิดโลกกว้าง เรียนรู้ภาษา ประเพณีวัฒนธรรม ประเทศสมาชิกอาเซียนทุกประเทศ เพื่อเป็นการรู้เขารู้เรา” ปริศนา กล่าว
       ด้าน ดร.ศานติ ภักดีคำ อาจารย์สาขาวิชาเขมร ภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนทรวิโรฒ บอกว่า วันนี้คนไทยเสียเปรียบประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะเรื่องภาษา อย่างชาวกัมพูชา เขาเรียนรู้ภาษาไทย เรียนรู้วัฒนธรรมประเพณีไทย ผ่านโทรทัศน์ เขาสามารถพูดภาษาไทยได้อย่างคล่องปาก เรียกได้ว่าสื่อสารกับคนไทยเข้าใจตรงกัน พร้อมกันนี้เขารู้ว่าควรจะปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อต้องติดต่อกับคนไทย ต่างจากคนไทย ที่พูดเขมรไม่ได้ พูดได้ว่าขาดแคลนผู้รู้ภาษาเขมร
       “เราขาดแคลนผู้รู้ภาษาเขมร กลายเป็นว่าเวลาที่ไทยเจรจากับกัมพูชา มีหลายครั้งต้องไหว้วานล่ามชาวเขมร มาแปลเขมรเป็นภาษาไทย ลองนึกดูว่า หากมีประโยคสำคัญๆ เขาจะแปลให้เราครบถ้วนรึเปล่า ดังนั้น คนไทยจะต้องให้ความสำคัญเรื่องภาษาเพื่อนบ้านเพิ่มอีก 1 หรือ 2 ภาษา โดยศึกษาเรียนรู้อย่างจริงจัง อ่านเขียนคล่องโดยเฉพาะภาษาที่ใช้อย่างเป็นทางการ เพราะในอนาคตเชื่อว่าภาษาเป็นสิ่งจำเป็น ยิ่งสื่อสารได้หลายภาษายิ่งดีมีประโยชน์ต่อตนเองในการทำงานและประเทศชาติด้วย” ดร.ศานติ กล่าวต่อว่า ที่สำคัญต้องศึกษาขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมของเขมรด้วย ว่าคำไหนควรใช้ ไม่ควรใช้ หรือควรปฏิบัติตัวแบบไหน เป็นการให้เกียรติซึ่งกันและกัน สิ่งละเอียดอ่อนเหล่านี้จะเป็นการสานสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน
       ขณะที่ นายเหลือง ไกด์ชาวเขมร เล่าให้ฟังว่า ปัจจุบันรัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องการศึกษา จัดการศึกษาฟรี 12 ปี แล้วทุกจังหวัดจะมีมหาวิทยาลัย ยกเว้นเสียมเรียบ จะมีมหาวิทยาลัยเอกชน เนื่องจากที่นี่มีชาวต่างชาติมาอยู่จำนวนมาก ส่วนใครสอบเข้ามหาวิทยาลัยของรัฐได้ เรียกว่าแทบจะเรียนฟรี คือเสียค่าเล่าเรียนน้อยมาก พร้อมกันนี้ผลักดันให้นักเรียนรับทุนแลกเปลี่ยนทุกประเทศที่มอบทุนให้ หวังให้เด็กเก่งเหล่านี้ เมื่อเรียนจบแล้วจะนำความรู้ที่ไปร่ำเรียนมาพัฒนาประเทศให้เจริญรุ่งเรือง
       “ไทยกับเขมร มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน โดยเฉพาะด้านการศึกษา ไทยให้ทุนจำนวนมากเพื่อมาเรียนต่อในไทย อยากเห็นความสัมพันธ์ดีๆ แบบนี้อย่างต่อเนื่อง” นายเหลือง กล่าวทิ้งท้าย

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ manager.co.th ดูทั้งหมด

262

views
Credit : manager.co.th


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน