“ปู” นั่งฉึกฉักไปหัวหิน ถกปลัดฯ พัฒนารถไฟ ชูกู้ 2 ล้านล้าน พลิกโฉมชาติ
“ยิ่งลักษณ์” มอบนโยบายพัฒนากิจการรถไฟ ก่อนนั่งไปประชุมปลัดฯ ที่หัวหิน อ้างไทยขาดลงทุนโครงสร้างคมนาคมทำเสียโอกาสแข่งขัน ชู 3 ยุทธศาสตร์หลักหวังเพิ่มการค้าชายแดนเป็นศูนย์กลางอาเซียน โวพลิกโฉมชาติ
วันนี้ (8 ส.ค.) ที่สถานีรถไฟหัวลำโพง เมื่อเวลา 08.20 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้มอบนโยบายการพัฒนากิจการรถไฟ และเยี่ยมชมนิทรรศการ “ไทยแลนด์ 2020” และ “รถไฟ...เส้นทางแห่งความสุขและความภูมิใจของคนไทยทั่วประเทศ” โดยมีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม พล.อ.พฤณท์ สุวรรณทัต นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี หัวหน้าส่วนและรองหัวหน้าส่วนราชการ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย และผู้บริหารการรถไฟแห่งประเทศไทย ร่วมงาน
โดยนายกฯ กล่าวว่า ในโอกาสที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนได้จัดให้มีการประชุมหัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่า ระหว่างวันที่ 8-9 ส.ค. ที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ตนได้ถือโอกาสมาประชุมหารือการพัฒนาอนาคตรถไฟไทย และโครงการลงทุน 2 ล้านล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ การคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ ไม่ใช่แค่การเดินทางแต่เป็นการนำความเจริญไปสู่พื้นที่ต่างๆ ของประเทศ ซึ่งในอดีต รถไฟเป็นทางเลือกอันดับหนึ่งในการเดินทางของประชาชน ที่ต้องการความรวดเร็ว แต่ปัจจุบันการเดินทางด้วยรถไฟได้ลดความสำคัญลงไป เนื่องจาก ประเทศไทยขาดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมมานาน ทำให้เราสูญเสียโอกาสในการแข่งขัน และการลงทุนจากต่างประเทศ
นายกฯ กล่าวต่อว่า รัฐบาลเล็งเห็นปัญหาดังกล่าว และต้องการแก้ไขปัญหาทั้งระบบอย่างยั่งยืน ให้ประเทศมีเศรษฐกิจที่มั่นคงควบคู่กับคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ดีขึ้น จึงได้ผลักดันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม ภายใต้ 3 ยุทธศาสตร์หลัก ยุทธศาสตร์ที่ 1 การลดการขนส่งทางถนน มาสู่การขนส่งทางระบบรางให้มากขึ้น (Modal Shift + Multimodal) โดยเพิ่มประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐานระบบรถไฟที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมีการใช้งานมานาน ให้กลับมีสภาพที่แข็งแรง มีประสิทธิภาพ และพร้อมรองรับต่อการให้บริการที่สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ยิ่งขึ้น
นายกฯ กล่าวต่อว่า ยุทธศาสตร์ที่ 2 การเพิ่มความคล่องตัวในการคมนาคม (Mobility) เพื่อลดเวลาการเดินทางและการขนส่งสินค้า เพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง ลดความเหลื่อมล้ำ ยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องชาวไทย โดยการพัฒนาระบบรางรถไฟให้เป็นทางคู่ การพัฒนาโครงข่ายระบบรถไฟความเร็วสูง และการก่อสร้างทางสายใหม่ ไปสู่ภูมิภาคต่างๆ ให้ประชาชนได้เข้าถึงโครงข่ายระบบรถไฟได้มากขึ้น และยุทธศาสตร์ที่ 3 เชื่อมการเดินทางทั่วประเทศ เปิดประตูการค้าสู่ประเทศเพื่อนบ้าน (Connectivity) เพื่อเชื่อมโยงประเทศทั้ง 4 ภูมิภาค เพิ่มโอกาสในการขยายธุรกิจและสร้างความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านและอาเซียน เพิ่มปริมาณการค้าชายแดน ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของประชาคมอาเซียน (ASEAN HUB)
น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวด้วยว่า จากยุทธศาสตร์ทั้ง 3 ด้าน รัฐบาลเชื่อมั่นว่าจะสามารถพลิกโฉมประเทศไทย ให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลกได้ดียิ่งขึ้น กระจายความเจริญภายในประเทศ ไปสู่เมืองที่รถไฟวิ่งผ่านและเมืองโดยรอบ ลดความเหลื่อมล้ำ ขยายโอกาส เพื่อความกินดีอยู่ดี และนำความสุขมาให้กับประชาชนในทุกภาคของประเทศ จากนั้นนายกฯ พร้อมคณะรัฐมนตรีได้ร่วมประชุมการพัฒนาอนาคตรถไฟไทย บนรถไฟเที่ยวพิเศษกรุงเทพฯ-หัวหิน เพื่อนำผลการประชุมไปหารือในที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่า ในวันที่ 9 ส.ค.ต่อไป
นายธีรัตถ์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผย ภายหลังการประชุมหาแนวทางในการพัฒนารถไฟไทย ที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธาน ว่า นายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้รายงานวิสัยทัศน์ในการพัฒนารถไฟไทย ว่ามีการตั้งเป้าหมายในปี 2563 ให้รถไฟกลับมาเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยอีกครั้ง เมื่อการลงทุนตามโครงการ 2 ล้านล้านแล้วเสร็จ เพราะไทยจะเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่มีรถไฟความเร็วสูง ทั้งนี้ผู้ว่าการการรถไฟฯได้ตั้งเป้าหมายในการพัฒนาการรถไฟคือ 1.ลดต้นทุนด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ต่อจีดีพี 2.เปลี่ยนวิธีการเดินทางของประชาชนจากรถมาใช้รถไฟมากขึ้น 3.ชักชวนให้ผู้ประกอบการหันมาขนส่งด้วยรถไฟมากขึ้น 4.เพิ่มสัดส่วนผู้โดยสาร 5.เพิ่มความเร็วเฉลี่ยของรถไฟไทย 6.สามารถเชื่อมต่อกับระบบขนส่งอื่น เช่น สนามบิน ท่าเรือ เป็นต้น
ขณะที่ นายกรัฐมนตรี ได้เสนอให้การรถไฟฯปรับโครงสร้างการบริหารงาน โดยมีจุดมุ่งหมายให้เป็นโครงข่ายคมนาคมหลักของประเทศในราคาที่เหมาะสม รวมถึงให้มีการพัฒนาการบริการแบบครบวงจรด้วยการร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ เช่น TCDC โดยจะใช้สถานีรถไฟหัวลำโพงเป็นต้นแบบในการพัฒนา นอกจากนี้ได้เสนอแนวทางการพัฒนาการรถไฟแห่งประเทศไทยใน 4 ด้านคือ 1.สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับระบบรถไฟไทย 2.พัฒนาบริการเพื่อผู้โดยสาร 3.บริหารทรัพยากรของรถไฟที่มีอยู่ และ 4.พัฒนาบุคลากรของการรถไฟให้พร้อมรองรับการขยายตัวของรถไฟในอนาคต ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง สร้างต้นแบบในการพัฒนารถไฟและการบริหารสินทรัพย์ของรถไฟ
นายธีรัตถ์ เปิดเผยด้วยว่า ที่ประชุมบนรถไฟสรุปว่าจะเลือกเส้นทางรถไฟสายสีแดง บางซื่อ-รังสิต และแอร์พอร์ตลิงค์ มาพัฒนาเป็นต้นแบบของรถไฟทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นการบริหารพื้นที่สถานี จุดเชื่อมต่อ การออกแบบ การให้บริการทั้งบนชานชาลาและในรถไฟ นอกจากนี้ยังมีมติให้นำพื้นที่ของการรถไฟที่มีอยู่ เช่น พื้นที่มักกะสัน และที่ดินริมแม่น้ำ เพื่อหาทางล้างหนี้และภาระขาดทุนสะสมให้กับการรถไฟแห่งประเทศไทย ทั้งนี้การลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาทในเบื้องต้นนั้น จะมีความยาวเส้นทางรวม 1,447 กิโลเมตร ผ่าน 24 จังหวัด มีเที่ยวรถไฟให้บริการกว่า 200 เที่ยวต่อวัน ให้บริการผู้โดยสารได้กว่า 40 ล้านคนต่อปี แต่ที่สำคัญไปมากกว่านั้นของการลงทุนคือการพัฒนารถไฟรางคู่ทั่วประเทศ โดยจะพัฒนาระบบรถไฟเดิมของไทยทั้งหมดให้เป็นรางคู่ เพื่อทำให้เพิ่มความสะดวกให้กับการขนส่งและโลจิสติกส์ของประเทศ รวมถึงการสร้างรถไฟทางคู่ใหม่อีก 3 เส้นทางคือ เส้นทาง เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ เส้นทางบ้านไผ่-มุกดาหาร และเส้นทางภาชี-นครหลวง