"ศ.ดร.โสพิศ วงศ์คำ" ผู้พบยีนก่อมะเร็งจากการติดพยาธิใบไม้ตับ

"ศ.ดร.โสพิศ วงศ์คำ" นักวิทย์ดีเด่นปี' 56 วิจัยพบยีนที่สัมพันธ์กับการก่อและแพร่ลุกลามของมะเร็งท่อน้ำดีที่เกิดจากการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ สู่การรักษาแนวใหม่แบบมุ่งเป้า ชูไทยเป็นหัวเรือใหญ่ด้านการศึกษาวิจัยมะเร็งท่อน้ำดีรับประชาคมอาเซียนแถบลุ่มน้ำโขง เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัย-เข้าถึงการรักษาและลดการสูญเสียจากมะเร็งร้ายนี้ได้ 
       
       องค์การอนามัยโลกยืนยันว่า สาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งท่อน้ำดีในคนไทย คือ การติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ จากวิถีชีวิตและพฤติกรรมการกินอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ โดยเฉพาะการกินอาหารที่ปรุงดิบหรือปรุงสุกๆ ดิบๆ จากปลาน้ำจืดเกล็ดขาวที่ติดพยาธิ รวมถึงการกินอาหารประเภท ปลาร้า ปลาส้ม หรือปลาจ่อม ที่ไม่ได้ปรุงสุก โดยพบว่าประชาชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ มีสถิติผู้ป่วยสูงเป็นลำดับต้นๆ ของประเทศ และของโลก
       
       ศ.ดร.โสพิศ วงศ์คำ จากศูนย์วิจัยพยาธิใบไม้ต้บและมะเร็งท่อน้ำดี และอาจารย์ภาควิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพิ่งได้รับรางวัล “นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น" ประจำปี 2556 จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ และเป็นผู้พบยีนที่สัมพันธ์กับการก่อและแพร่ลุกลามของมะเร็งท่อน้ำดีที่เกิดจากการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ
       
       การศึกษายีนที่สัมพันธ์กับการก่อมะเร็งและการแพร่ลุกลามของมะเร็งท่อน้ำดี เพื่อการวินิจฉัยแนวใหม่และเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา เป็นการศึกษาวิจัยด้านมะเร็งท่อน้ำดี (Cholangiocarcinoma) ซึ่งเป็นปัญหาจำเพาะของประชากรในภาคอีสานและอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
       
       ในระยะ 10 ปี แรก ศ.ดร.โสพิศได้ศึกษาเลคตินในพืช ซึ่งเป็นกลุ่มชีวโมเลกุลที่พบในพืชและสัตว์ที่จับกับหมู่น้ำตาลของโมเลกุลอื่นอย่างจำเพาะ จากนั้นได้นำความรู้จากงานวิจัยส่วนนี้มาประยุกต์ใช้กับงานการวิจัยด้านมะเร็งท่อน้ำดีในช่วง 20 ปีหลัง และนำไปสู่การวินิจฉัยและพัฒนาการรักษาอย่างตรงเป้ามากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นหนทางหนึ่งที่จะลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคดังกล่าว
       
       “มะเร็งท่อน้ำดีเป็นมะเร็งที่โตช้าแต่แพร่ลุกลามเร็ว ทำให้ผู้ป่วยไม่มีอาการแสดงในระยะแรกของโรค และมักวินิจฉัยได้เมื่อมะเร็งพัฒนาสู่ระยะท้ายของโรคซึ่งการรักษาไม่ได้ผลดี การหาตัวบ่งชี้มะเร็งท่อน้ำดีเพื่อวินิจฉัยมะเร็งท่อน้ำดีให้ได้อย่างถูกต้องและตั้งแต่ระยะแรกหรือยังไม่แพร่ลุกลาม จะช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาในระยะที่การรักษาได้ผลดี" ศ.ดร.โสพิศกล่าว
       
       รายงานเมื่อปี 2002 ถึงอุบัติการณ์ของมะเร็งท่อน้ำดีของไทย พบที่ขอนแก่นเป็นโรคดังกล่าวสูงที่สุดในโลก คือประมาณ 90 คนต่อประชากร 100,000 คน ในขณะที่ประเทศสหรัฐอเมริกามีเพียง 4-5 คนต่อแสน มะเร็งท่อน้ำดีในภาคอีสานมีปัจจัยเสี่ยงจากการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับที่มีการแพร่ระบาดในภาคอีสาน
       
       "ต่างจากในแถบยุโรปและเอเชียตะวันออกที่มักเกิดจากการมีพยาธิสภาพของท่อน้ำดี เช่น การเกิดการอุดตัน การอักเสบหรือมีนิ่วในท่อน้ำดี ดังนั้น นอกจากฝรั่งจะเป็นมะเร็งชนิดนี้น้อยแล้ว ความรู้จากฝรั่งยังนำมาใช้กับคนไทยโดยตรงไม่ได้ เราจำเป็นต้องค้นคว้าวิจัยในผู้ป่วยไทยเอง” ศ.ดร.โสพิศกล่าว
       
       ทั้งนี้ ตัวบ่งชี้มะเร็งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มน้ำตาลบนชีวโมเลกุลหลายชนิด และการสร้างสายน้ำตาลเหล่านี้มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วตามสภาวะของเซลล์ ด้วยหลักการดังกล่าวจึงได้มุ่งเน้นการวิจัยเพื่อตรวจหาหมู่น้ำตาลบนชีวโมเลกุลซึ่งนำสู่การพบมิวซิน (Mucin) MUC5AC ในซีรัม (Serum) ของผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดี และพัฒนาวิธีตรวจเพื่อให้สามารถทำได้ในโรงพยาบาลทั่วไป ทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัย พยากรณ์โรค และเลือกแนวทางการรักษาให้กับผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม
       
       นอกจากนี้ ศ.ดร.โสพิศยังศึกษายีนที่สัมพันธ์กับการก่อและการแพร่ลุกลามของมะเร็งท่อน้ำดี ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญที่นำไปสู่การพัฒนาการรักษาแนวใหม่แบบมุ่งเป้า ขณะนี้อยู่ในระหว่างการศึกษาฤทธิ์ยาและสารสกัดจากสมุนไพรที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวและการแพร่ลุกลามของเซลล์มะเร็ง
       
       ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การวิจัยมะเร็งท่อน้ำดีในประเทศไทยก้าวรุดหน้าคือฐานข้อมูลและคลังชีวภาพของผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดี ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของรศ. นพ. วัชรพงศ์ พุทธิสวัสดิ์ ศัลยแพทย์ และ รศ.นพ.ชวลิต ไพโรจน์กุล พยาธิแพทย์และคณะ ในการเก็บรวบรวมข้อมูลและตัวอย่างของผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดี เป็นคลังชีวภาพที่พร้อมสนับสนุนการวิจัยด้านมะเร็งท่อน้ำดีเพื่อสร้างองค์ความรู้และผลิตผลงานวิจัยจำนวนมาก
       
       ศ.ดร.โสพิศ กล่าวเน้นว่า ปัญหาโรคมะเร็งท่อน้ำดีไม่เพียงเป็นปัญหาของประเทศไทยแต่เป็นปัญหาระดับอาเซียน เนื่องจากพยาธิใบไม้ตับไม่ได้ระบาดแค่ภาคอีสานของไทย แต่มีการแพร่ระบาดในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงโดยเฉพาะประเทศลาว กัมพูชา และเวียดนามตอนใต้ จึงเชื่อได้ว่าประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนเหล่านี้จะมีปัญหามะเร็งท่อน้ำดีสูงเช่นกัน การรวมตัวของประชาคมอาเซียนในด้านการแพทย์ โดยมีไทยเป็นหัวเรือใหญ่ จึงเป็นความร่วมมือที่สำคัญที่จะทำให้ภัยจากโรคดังกล่าวลดลงไปจากประเทศไทยและประเทศแถบลุ่มน้ำโขง
       
       “บริเวณลุ่มน้ำโขงมีการแพร่ระบาดของพยาธิใบไม้ตับสูงเช่นกัน เนื่องจากประชาชนในแถบนี้มีวัฒนธรรมและพฤติกรรมการกินที่คล้ายกัน แต่ประเทศเพื่อนบ้านของเรายังขาดความรู้ความเข้าใจ และขาดแคลนแพทย์เฉพาะทางที่จะวินิจฉัยและรักษาโรคนี้ ความร่วมมือระหว่างประเทศและการกระจายความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับสุขอนามัย การป้องกันและการรักษามะเร็งท่อน้ำดี โดยมีไทยเป็นแกนนำ เชื่อว่าจะทำให้โรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีเบาบางลงได้" นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นปีล่าสุดกล่าว
       
       ศ.ดร.โสพิศเชื่อว่าหากประชาชนหยุดกินปลาดิบและลดพฤติกรรมเสี่ยงอื่นๆ เช่น การดื่มเหล้า การสูบบุหรี่ ตัวเลขผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีของคนไทยจะลดลงได้ในอนาคต และในขณะนี้คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยความร่วมมือของกระทรวงสาธารณสุข ได้มีโครงการค้นหาประชากรกลุ่มเสี่ยง เพื่อเฝ้าระวัง-ให้การวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสมทันเวลา ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยลดอัตราการเกิดมะเร็งและลดการสูญเสียชีวิตจากมะเร็งท่อน้ำดีได้
       
       "งานวิจัยที่ดิฉันและคณะได้ศึกษาเป็นข้อมูลพื้นฐานในการค้นหาประชากรกลุ่มเสี่ยงหรือที่เป็นมะเร็งท่อน้ำดีแล้วให้ได้รับการตรวจและเข้าถึงการรักษาในเวลาที่เหมาะสม การวิจัยพื้นฐานระดับโมเลกุลจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการค้นพบสิ่งใหม่ ๆที่สามารถพัฒนาต่อยอดสู่การใช้ประโยชน์สำหรับผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีที่คนไทยเป็นกันมาก” ศ.ดร.โสพิศกล่าว
       
       ศ.ดร.โสพิศ ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นแหล่งวิจัยค้นหาความรู้ กับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ในการสร้างความตระหนักรู้ การรณรงค์ป้องกัน การวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยในระยะต่าง ๆ รวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิต จะทำให้ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากมะเร็งท่อน้ำดีลดลงและเพิ่มโอกาสแก่ประชาชนให้เข้าถึงการบริการสาธารณสุขแบบอย่างยั่งยืนต่อไป

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ manager.co.th ดูทั้งหมด

282

views
Credit : manager.co.th


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน