วธ.เร่งใช้วัฒนธรรม-ประวัติศาสตร์ เชื่อมใจไทย-กัมพูชา
วธ.เตรียมพร้อมสู่อาเซียน ดันไทยใช้วัฒนธรรมสานสัมพันธ์กัมพูชา พร้อมพัฒนา วธ.ให้เป็นกึ่งเศรษฐกิจเพิ่มรายได้สู่ประเทศ
วันนี้ (31 ก.ค.) ในการเสวนา “บ้านเราอุษาคเนย์:ไทย-กัมพูชา 2 ชาติพันธุ์ที่ยิ่งใหญ่ในดินแดนอุษาคเนย์” ณ โรงแรมอินโดจีน จังหวัดสระแก้ว นายสุระ เตชะทัต ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า การเข้าสู่ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ในปี 2558 ตนคิดว่า ต้องใช้มิติด้านสังคม วัฒนธรรม ความเชื่อ ที่มีความคล้ายคลึงกันเป็นตัวเชื่อม ยกตัวอย่างประเทศกัมพูชาเพื่อนบ้านของเรา มีความคล้ายกัน ทั้งด้านโบราณสถาน สถาปัตยกรรม ไม่ว่าจะเป็นตัวปราสาทหินพิมาย ปราสาทหินพนมรุ้ง ปราสาทนครวัด ที่บ่งบอกถึงความเป็นรากวัฒนธรรมเดียวกัน ซึ่งการส่งเสริมให้คนไทยและกัมพูชามีทัศนคติที่ดีต่อกันนั้น ควรส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของทั้ง 2 ประเทศ และภูมิภาค เพราะการใช้ความร่วมมือด้านวัฒนธรรม จะเป็นสื่อกลางสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างกัน โดยจะเห็นได้จากการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมไทย-กัมพูชา เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านวัฒนธรรม อันเป็นความพยายามที่จะประสาน ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา ภายหลังเหตุการณ์ความไม่สงบในกรุงพนมเปญ เมื่อปี 2546 ซึ่งสะท้อนถึงความร่วมมือด้านวัฒนธรรมในการเชื่อมความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา ให้เข้าใจกันและเป็นเพื่อนบ้านที่ดีต่อกันยิ่งขึ้น
นางปริศนา พงษ์ทัดศิริกุล ปลัด วธ.กล่าวว่า ประเทศไทยถือว่ามีข้อได้เปรียบทางด้านภูมิศาสตร์ในเรื่องของการเชื่อมโยงในภูมิภาคอาเซียน เนื่องจากประเทศอยู่ในจุดศูนย์รวมเส้นทางคมนาคมทางบกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกทั้งเป็นตัวเชื่อมเส้นทางการค้าและการเดินทางระหว่างเอเชียใต้ กับเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ และระหว่างตลาดการค้าของอินเดีย กับตลาดของจีน ประกอบกับรัฐบาลจะผลักดันให้กระทรวงวัฒนธรรมเป็นกระทรวงสังคมกึ่งเศรษฐกิจ โดยปรับบทบาทจากการอนุรักษ์ไปสู่การพัฒนา ด้วยการเข้าไปมีส่วนร่วมในการเพิ่มรายได้เข้าสู่ประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย
“แนวทางการเตรียมความพร้อมสู่อาเซียน วธ.เราจะยึด 3 แนวทางหลัก ได้แก่ 1.ความเชื่อมโยงประชาชน ผ่านการทูตวัฒนธรรม ทั้งระดับบุคคลและสื่อดิจิตอลต่างๆ เพื่อแลกเปลี่ยนกันในกลุ่มอาเซียน 2.คุณค่าและบรรทัดฐานร่วมกัน โดยยึดหลักรักษาวัฒนธรรมชุมชน หลักคุณธรรม 3.การสร้างประชาคมวัฒนธรรม รวมถึงประเพณีและความเชื่อต่างๆ อย่างไรก็ตาม วธ.ได้จัดเสวนาบ้านเราอุษาคเนย์ มาแล้ว 2 ครั้ง คือ หนองคาย และสระแก้ว ซึ่งอีก 2 ครั้งจะจัดที่ กาญจนบุรี และ สงขลา ซึ่งเมื่อจัดเสวนาครบทั้ง 4 ครั้งแล้ว จะมีการรวบรวมองค์ความรู้นี้เผยแพร่เป็นองค์ความรู้ด้านอาเซียนต่อไป” ปลัด วธ.กล่าว