รมว.วิทย์ฯ จัดโรดโชว์ภูเก็ต ชูผ้าพื้นเมืองเพิ่มมูลค่าหวังผลักดันรับ AEC
ศูนย์ข่าวภูเก็ต - กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จัดโรดโชว์ภูเก็ต อัปเกรดผ้าพื้นเมือง เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจภาคใต้ ด้วยนวัตกรรมสิ่งทอนาโน เตรียมผลักดันรองรับการเปิดตลาดประชาคมอาเซียน
เมื่อเวลา 14.00 น.วันนี้ (29 ก.ค.) ที่ศูนย์การค้า เซ็นทรัล เฟสติวัล ภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ดร.พีรพันธุ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานเปิดงานNano Together เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจภาคใต้ ด้วยนวัตกรรมสิ่งทอนาโน” พร้อมเสวนาร่วมกับดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ นางณัฐพร ผาณิตพิเชฐวงศ์ ประธานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดภูเก็ต นายเฉลิม แสงจันทร์ ประธานกลุ่มผู้ประกอบการบาติก จังหวัดภูเก็ต และหมอก้อง-สรวิชญ์ สุบุญ เกี่ยวกับศักยภาพและโอกาสในการนำนาโนเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจและสิ่งทอพื้นเมืองของจังหวัดภาคใต้ ซึ่งมีกลุ่มผู้ประกอบการบาติก แขกผู้มีเกียรติ และผู้สนใจทั่วไป เข้าร่วมงานจำนวนมาก
ทั้งนี้การจัดงานฯ ดังกล่าว ทางสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดขึ้น เพื่อผลักดันกลยุทธ์การยกระดับและเพิ่มมูลค่าสิ่งทอของไทยอย่างต่อเนื่อง โดยในงานนี้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้นำเสนอการประยุกต์ใช้นวัตกรรมนาโนในการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์สิ่งทอให้แก่บรรดาผู้ประกอบการด้านสิ่งทอ และผู้มีบทบาทสำคัญในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะในจังหวัดภูเก็ต และจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งเพื่อรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการพัฒนาแนวทางนำนาโนเทคโนโลยีมาเพิ่มมูลค่าและยกระดับสิ่งทอที่เป็นเอกลักษณ์ของภาคใต้ โดยเฉพาะผ้าบาติก
ดร.พีรพันธุ์ กล่าวว่า งานนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเพิ่มมูลค่าสิ่งทอด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตามนโยบายและข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์สิ่งทอของไทยตลอดทั้งกระบวนการ ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ นั่นคือ การพัฒนาเส้นใยและผ้า การออกแบบ การตัดเย็บ บรรจุภัณฑ์ การตลาด การประชาสัมพันธ์ ไปจนถึงการบูรณาการร่วมกับพื้นที่ ทั้งนี้เพื่อรองรับการแข่งขันเสรีการค้าในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ปี 2558 และการแข่งขันในตลาดโลก
กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ยังคงดำเนินการต่อเนื่อง ในการขยายองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีลงสู่ระดับภูมิภาค รวมทังการผลักดันโครงการยกระดับและเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์สิ่งทอพื้นเมืองด้วยนวัตกรรมนาโนเทคโนโลยีเพื่อต่อยอดให้ผลิตภัณฑ์สิ่งทอของไทยมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น และสามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืนในตลาดโลก โดยทางกระทรวงวิทย์ฯ จะเป็นผู้ให้การสนับสนุนและถ่ายทอดเทคโนโลยีองค์ความรู้ รวมทั้งการให้คำปรึกษาแก่ผู้ที่สนใจตลอดจนร่วมกับภาคเอกชนในการพัฒนาช่องทางการจำหน่ายในระดับสากล และตนเชื่อว่า การประชุมที่จังหวัดภูเก็ตในครั้งนี้ จะช่วยจุดประกายให้กลุ่มผู้ประกอบการในพื้นที่มีความสนใจที่จะนำนาโนเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้กับสิ่งทอพื้นเมืองที่เป็นเอกลักษณ์ของดินแดนภาคใต้ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่หัตถกรรมท้องถิ่นในระดับครัวเรือนและชุมชน อีกทั้งยังเป็นการสร้างอาชีพในถิ่นฐานบ้านเกิด และนำมาซึ่งการส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในชุมชนสิ่งทอพื้นบ้านอีกด้วย
ทั้งนี้อุตสาหกรรมสิ่งทอถือเป็นภาคการผลิตที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมหลักที่ทำรายได้จากการส่งออกให้แก่ประเทศ และมีกระบวนการผลิตที่ครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยทั้งห่วงโซ่อุตสาหกรรมได้ก่อให้เกิดการจ้างงานสูงถึง 1 ล้านคน และสามารถทำรายได้เข้าสู่ประเทศคิดเป็นมูลค่ากว่าปีละ 2 แสนล้านบาท ซึ่งตลาดส่งออกหลักได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น
ดร.พีรพันธุ์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ดี ปัจจุบันอุตสาหกรรมสิ่งทอของไทยกำลังเผชิญกับการแข่งขันที่สูงมาก และยังขาดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้อุตสาหกรรมสิ่งทอในประเทศอ่อนแอลงอย่างมากในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ดังนั้น กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จึงได้เกิดแนวคิดในการนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาผสมผสานกับศิลปวัฒนธรรมสิ่งทอให้มีคุณภาพที่เหนือกว่าประเทศอื่นๆ ด้วยการนำเทคโนโลยีทางด้านนาโนเข้าไปสร้างความแตกต่างให้กับเนื้อผ้าให้มีคุณสมบัติพิเศษต่างๆ อาทิ ลดการยับ และเพิ่มการคืนตัวของผ้าระหว่างการใช้สอย หรือเพิ่มความนุ่มนวลเมื่อสัมผัส นอกจากนั้นยังสามารถเพิ่มคุณสมบัติพิเศษ เช่น สะท้อนน้ำ ต้านเชื้อแบคทีเรีย ลดกลิ่นอับ เพิ่มกลิ่นหอม ป้องกันยูวี เพิ่มคุณสมบัติหน่วงไฟ ซึ่งจะทำให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในหลากหลายผลิตภัณฑ์มากขึ้น ทั้งเสื้อผ้า และเฟอร์นิเจอร์ เช่น โซฟา ผ้าม่าน ผ้าห่ม เป็นต้น