แม่โขงฟอรั่ม" เวทีเพื่อนบ้าน ลดเหลื่อมล้ำ ขจัดปัญหาข้ามแดน
หากจะกล่าวถึงความร่วมมือระหว่างประเทศที่ไทยเข้าร่วมกับชาติเพื่อนบ้านใกล้เคียงในลุ่มน้ำโขงที่มีการขับเคลื่อนให้เดินหน้าต่อเนื่อง และมีผลทางรูปธรรม ต้องมองที่โครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง หรือจีเอ็มเอส ชาติสมาชิกประกอบด้วยไทย ลาว กัมพูชา เมียนมาร์ เวียดนาม และจีนตอนใต้ (มณฑลยูนนาน) จีเอ็มเอสก่อตั้งมานับตั้งแต่ปี 2535 และมีการจัดการประชุมทุก ๆ 2 ปี ล่าสุด ประเทศสมาชิกได้จัดการประชุมเวทีนานาชาติ Mekong Forum 2013 ในหัวข้อ "Towards More Inclusive and Equitable Growth in the Greater Mekong Subregion" ก็นับว่าเป็นอีกก้าวที่เชื่อมให้ประเทศสมาชิกจีเอ็มเอสมีวาระการพูดคุยถึงทิศทางการพัฒนาให้เติบโตยั่งยืนยิ่งขึ้น
การประชุมดังกล่าวเกิดขึ้นจากความร่วมมือกันของสถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขงร่วมกับสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา ณ โรงแรมเซ็นทารา แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ จังหวัดขอนแก่น ในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา
นายวัชรัศมิ์ ลีละวัฒน์ รองผู้อำนวยการด้านวิชาการ สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศกลุ่มสมาชิกต่างมีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง การประชุมครั้งนี้จึงต้องการผลักดันให้ประเทศมีส่วนร่วมกันพัฒนาประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน
"หากดูข้อมูลแล้ว การเจริญเติบโตของสมาชิกจีเอ็มเอสมีค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจโลก ซึ่งโตในสัดส่วน 2% ส่วนกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงโตเฉลี่ย 7% ในลาว กัมพูชา และเวียดนาม มีการเติบโตสูงมากกว่า 7% และในมณฑลยูนนานของจีนเติบโต 14% นอกจากนี้ยังต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาประเทศในลุ่มน้ำโขงเท่า ๆ กับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยต้องพุ่งเป้าไปที่ลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งปัจจุบันการกระจายรายได้ในบางประเทศยังคงกระจุกตัว เช่น กัมพูชา เวียดนาม แต่ในลาว จีน และไทย มีการพัฒนาที่ดีขึ้น" นายวัชรัศมิ์กล่าว
นายวัชรัศมิ์กล่าวว่า ภาคเอกชนจะได้รับประโยชน์การค้าระหว่างประเทศมากขึ้น จากความร่วมมือระหว่างประเทศต่าง ๆ เพราะจะรู้สิทธิประโยชน์เพื่อการวางแผนด้านการตลาด มีการเพิ่มภาคการผลิต และจะเกิดการกระจายรายได้ต่อไปยังคนชั้นล่างมากขึ้น
ด้าน สปป.ลาวให้ความสำคัญที่จะพัฒนายุทธศาสตร์ของตนให้เป็นตัวกลางเชื่อมโยงประเทศ ทั้งในระดับอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและอาเซียน โดยสนับสนุนกรอบความร่วมมือระเบียงเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง หรือ GMS Economic Corridors ที่มุ่งสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้เชื่อมโยงระหว่างกัน เช่น การเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ โดยมีเส้นทางจากจีนตอนใต้ไปลาว ไทยลงใต้เชื่อมมาเลเซียและสิงคโปร์
นายทองพัน สะหวันเพ็ด อธิบดีกรมเศรษฐกิจ กระทรวงการต่างประเทศลาว เปิดเผยว่า สปป.ลาวมีความพร้อมที่จะเปลี่ยนจากประเทศแลนด์ล็อกสู่แลนด์ลิงก์ โดยทางรัฐบาลพยายามผลักดันการเชื่อมโยงทั้งถนน น้ำ และรางรถไฟกับประเทศเพื่อนบ้าน ตลอดจนการปรับปรุงกฎระเบียบในการค้าต่าง ๆ เพื่อเชื่อมโยงการค้าและการขนส่งระหว่างกันในภูมิภาค
นายทองพันกล่าวว่า การสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่สอง ที่เชื่อมระหว่างจังหวัดมุกดาหารกับสะหวันนะเขตในลาว เพื่อเชื่อมต่อกับถนนหมายเลข 9 ของลาว และสิ้นสุดปลายทางที่เมืองกวางจิ ประเทศเวียดนาม เป็นการทำให้การเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจตะวันตก-ตะวันออกสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
นายวินส์ตัน เซ็ท อ่อง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการวางแผนแห่งชาติและพัฒนา เมียนมาร์ กล่าวว่า เมียนมาร์ต้องการการพัฒนาที่เป็นธรรมและยั่งยืน ซึ่งจะต้องมีการพัฒนาอย่างสมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะโครงการเขตเศรษฐกิจติลาวา ที่ตั้งอยู่ไม่ห่างไกลจากนครย่างกุ้ง ซึ่งเมียนมาร์กำลังร่วมมือกับญี่ปุ่นในขณะนี้ เมียนมาร์หวังว่าจะสร้างอุตสาหกรรมสะอาด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และโครงการดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อการจ้างงาน และถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่ชาวเมียนมาร์ได้
นายเซ็ท อ่องกล่าวว่า เขตเศรษฐกิจติวาลากับเขตเศรษฐกิจทวายจะไม่แข่งขันกันอย่างแน่นอน เพราะทวายเป็นโครงการใหญ่ และเป็นส่วนหนึ่งในยุทธศาสตร์ในการเชื่อมต่อมหาสมุทรอินเดียกับแปซิฟิกเข้าหากัน โดยเมียนมาร์จะทิ้งไม่ได้
อีกทั้งโครงการทวายยังเป็นโครงการที่รัฐบาลเตรียมการเพื่อรองรับการกลับเข้ามาทำงานในประเทศของแรงงานเมียนมาร์ที่ทำงานอยู่ในต่างประเทศจำนวนมากแต่ไม่ใช่การดึงแรงงานกลับ โดยไทยไม่ควรกังวลเรื่องการขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากเมียนมาร์ยังอยู่ในขั้นเตรียมการเพื่ออนาคตเท่านั้น
นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนสถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง กล่าวว่า สังคมเมืองจะโตขึ้นบริเวณชายแดน ตามการพัฒนาด้านการเชื่อมโยงด้านถนนและโครงสร้างพื้นฐาน ปัจจุบันประเทศต่าง ๆ มุ่งสู่การเชื่อมกับประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น
ตัวอย่างเช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงจีนเชื่อมลาวและไทย ซึ่งจะเป็นโอกาสที่จะให้ประชาชนในอนุภูมิภาคไปหาสู่กันมากขึ้น และสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้มหาศาล
ด้านอุปสรรคต่อการพัฒนาของประเทศลุ่มน้ำโขงในอนาคต นายณรงค์ชัยกล่าวว่า ปัญหาหลักคือปัญหาที่จะเกิดขึ้นบริเวณชายแดน เป็นประเด็นข้ามชาติที่นำมาสู่ปัญหาต่าง ๆ เช่น การค้ายาเสพติด ค้ามนุษย์ เป็นต้น ดังนั้น การจัดการเรื่องข้ามชายแดนต้องให้ความสำคัญสูงสุด โดยภาครัฐจะต้องผลักดันให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเข้ามาดูแล ตลอดจนจัดการเรื่องพื้นที่รองรับคนข้ามชาติที่มีอย่างจำกัดด้วย
การพัฒนาประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เป็นอีกส่วนหนึ่งในการผลักดันการรวมกลุ่มประเทศอาเซียนเข้าสู่เออีซี
เนื่องจากเป็นอีกเวทีหนึ่งที่จะกระตุ้นภาครัฐให้ริเริ่มโครงการต่าง ๆ ที่จะช่วยให้ลดช่องว่างและการเหลื่อมล้ำในการพัฒนาระหว่างประเทศกำลังพัฒนากับประเทศอาเซียนอื่น ๆ ซึ่งเป็นอีกอุปสรรคที่อาเซียนและประเทศในสมาชิกจีเอ็มเอสต้องจำกัด
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ