เปิด AEC แฟรนไชส์ไทยเนื้อหอม ต่างชาติสนลงทุนบุกอาเซียน
สค.ชี้เปิดเออีซีต่างชาติแห่ใช้ไทยเป็นฐานลงทุนแฟรนไชส์เพื่อบุกตลาดอาเซียน แจงแฟรนไชส์ไทยยอดฮิต ได้แก่ อาหาร เครื่องดื่ม/เบเกอรี และเครื่องใช้เครื่องประดับ เผยตลาดอินโดฯ โอกาสสดใส คาดปี 2556 แนวโน้มลงทุนแฟรนไชส์ขยายตัว 30% จำนวนผู้ลงทุนไม่น้อยกว่า 40,000 ราย
นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.) เปิดเผยว่า การเปิดเสรีทางการค้าภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 คาดว่าชาวต่างชาติสนใจใช้ประเทศไทยเป็นฐานในการลงทุนด้านระบบแฟรนไชส์เพื่อขยายธุรกิจนี้ไปยังตลาดอาเซียน โดยธุรกิจแฟรนไชส์ที่ได้รับความนิยมสูงสุด 3 อันดับแรก (จาก 18 ประเภท) ของประเทศไทย ได้แก่ ร้านอาหาร ร้านเครื่องดื่ม/เบเกอรี เครื่องใช้และเครื่องประดับ ซึ่งผู้ลงทุนส่วนใหญ่จะเป็นประเทศในแถบเอเชีย ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน จากทิศทางดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าตลาดแฟรนไชส์ในประเทศไทยมีโอกาสขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“ธุรกิจแฟรนไชส์เป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถสร้างธุรกิจของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี (SMEs) ให้เติบโตได้อย่างรวดเร็ว และเป็นธุรกิจที่มีการขยายตัวอย่างมีระบบ และยังสามารถสร้างรายได้ให้เจ้าของแฟรนไชส์ได้เป็นอย่างดี ในขณะที่สินค้าและบริการจากประเทศไทยได้รับความนิยมและเป็นที่รู้จักแพร่หลายในตลาดอาเซียน ดังนั้นการทำตลาดผ่านคู่ค้าในต่างประเทศจึงไม่ใช่เรื่องยาก แต่ผู้ประกอบธุรกิจควรนำกลยุทธ์การแข่งขันมาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจของตน การสร้างความแตกต่างจะทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคไม่หดหายไปจากตลาดและส่งผลถึงการขยายตัวได้เป็นอย่างดี” นางศรีรัตน์กล่าว
สำหรับแฟรนไชส์แบรนด์ของไทยมีโอกาสในตลาดอาเซียนอย่างมาก เช่น อินโดนีเซีย เนื่องจากอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง 6.3-6.5% ใน 2-3 ปีที่ผ่านมา ชาวอินโดนีเซียระดับชนชั้นกลางมีรายได้เพิ่มมากขึ้น กลุ่มสินค้าบริการที่มีศักยภาพ เช่น ร้านอาหาร ร้านกาแฟ เสื้อผ้าแฟชั่นแบรนด์ การศึกษา สปา และร้านเสริมสวยความงาม เป็นต้น แฟรนไชส์ไทยที่เข้ามายังตลาดอินโดนีเซียแล้ว ในกลุ่มร้านอาหาร และร้านกาแฟ เช่น Coca Suki, Mango Tree, Black Canyon, Coffee World และ Thai Express สำหรับสินค้ากลุ่มอื่น เช่น ผลิตภัณฑ์สปา Harnn & Tharn, เสื้อผ้าเด็ก AIIZ เครื่องใช้ในครัวเรือน เช่น Ocean Glass และ Zebra เป็นต้น
นางศรีรัตน์กล่าวด้วยว่า การขยายธุรกิจประเภทแฟรนไชส์ไปยังประเทศในภูมิภาคอาเซียนมีทั้งความง่ายและความยาก กรณีที่บางประเทศ เช่น ลาว พม่า กัมพูชา สินค้าไทยเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมอยู่แล้ว ดังนั้นการเปิดตัวธุรกิจประเภทแฟรนไชส์ของไทยจะทำได้ง่ายกว่าในประเทศอื่นๆ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการวางแผนทางการตลาดของผู้ซื้อสิทธิ์ (franchisor) ที่จะนำจุดเด่นและจุดขายของสินค้าให้เข้าถึงรสนิยมผู้บริโภคในตลาดนั้นๆ
แนวโน้มในปี 2556 คาดว่าจะมีนักลงทุนเพิ่มขึ้นในธุรกิจแฟรนไชส์ 30% และมีนักลงทุนที่สนใจระบบแฟรนไชส์ที่มีความพร้อมและสนใจลงทุนระบบแฟรนไชส์ไม่น้อยกว่า 40,000 ราย โดยในภาพรวมธุรกิจแฟรนไชส์มีโอกาสเติบโตได้ถึง 20-30% และอาจส่งผลให้ทั้งจํานวนและประเภทธุรกิจมีการพัฒนาเพิ่มขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ธุรกิจแฟรนไชส์มีมูลค่าธุรกิจหมุนเวียนอยู่ที่ประมาณ 168,000 ล้านบาท โดยหัวใจสำคัญของการสร้างธุรกิจแฟรนไชส์เริ่มจากการทำร้านต้นแบบ นักธุรกิจต้องเข้าใจในรูปแบบที่มีความเป็นพิเศษของธุรกิจแฟรนไชส์ ดังนั้น จุดสําคัญของความสําเร็จจึงอยู่ที่การทําความเข้าใจและการคิดอย่างถี่ถ้วน จึงจะส่งผลให้ธุรกิจแฟรนไชส์สามารถวางรากฐานในการพัฒนาได้ดี
ทั้งนี้ สิ่งที่สำคัญคือ เจ้าของกิจการ (franchisor) จำเป็นต้องดำเนินธุรกิจอย่างมีระบบ โดยธุรกิจดังกล่าวนอกจากจะสร้างรายได้ให้เจ้าของกิจการ (franchisor) โดยไม่ต้องขยายธุรกิจด้วยตัวเองแล้วยังสามารถลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ได้อีกด้วย เช่น ค่าเช่าสถานที่ ค่าจ้างแรงงาน ค่าบำรุงรักษา และอื่นๆ นอกจากนี้ เจ้าของกิจการ (franchisor) ยังสามารถเก็บค่าเช่าสิทธิ์ (loyalty) จากผู้ซื้อสิทธิ์ (franchisee) ได้ในระยะยาวอีกด้วย
นางศรีรัตน์กล่าวว่า กระบวนการสร้างธุรกิจแฟรนไชส์มีองค์ประกอบหลักคือ ความรู้ กลุ่มคนทำงาน และเครื่องหมายการค้า กระบวนการต่อมาคือ การออกแบบธุรกิจ หลังจากนั้นจะเป็นการดำเนินธุรกิจจริง โดยการตั้งร้านต้นแบบ (prototype) การบริหารธุรกิจให้มีความเข้มแข็ง และการขยายธุรกิจเป็นลำดับสุดท้าย ดังนั้น การดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์จำเป็นต้องมีการวางแผนในรูปแบบของเอกสาร ได้แก่ การวางแผนกลยุทธ์ทางการค้า การทำสัญญา การวางแผนการดำเนินการ การทำการตลาด และการวางแผนการขาย นอกจากนี้ยังต้องมีการวัดสมรรถนะทางธุรกิจเพื่อเป็นการวัดผล โดยดูจากผลตอบแทนจากการลงทุน