แฉไทยหนึ่งเดียวในอาเซียนให้สัมปทานน้ำมัน สุดช้ำใช้ของแพง-ปตท.กระทืบซ้ำ
เมื่อวานนี้ (21 ก.ค.) ในรายการ“สภาท่าพระอาทิตย์”ทางเอเอสทีวี ดำเนินรายการโดย นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยรุ่น 2 มี ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี อนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านพลังงาน วุฒิสภา เป็นแขกรับเชิญในรายการ เพื่ออธิบายให้เห็นถึงสาเหตุที่คนไทยต้องใช้น้ำมันราคาแพงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน 8 ประเทศในอาเซียน ที่มีแหล่งพลังงานเหมือนกัน
ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าวว่า จากข้อมูลของ EIA หรือ Energy Information Agency ของสหรัฐอเมริกา ที่เพิ่งเปิดเผยเมื่อเร็วๆนี้ ระบุว่า ประเทศไทยมีแหล่งก๊าซและปิโตรเลียมจำนวนมหาศาลอยู่ใต้พื้นดิน ทั้งนี้ เมื่อ 65 ล้านปีก่อน บริเวณประเทศไทย มีธรณีสัณฐานคล้ายตะวันออกกลาง คือเป็นทะเล และมีอ่าว เพราะฉะนั้นจะต้องมีปิโตรเลียมอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่คนไทยต้องใช้น้ำมันราคาแพง ก็เพราะเรายกสัมปทานการขุดเจาะน้ำมันให้เอกชน ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่ใช้ระบบนี้ ขณะที่ประเทศอื่นใช้ระบบการแบ่งผลผลิต(production sharing contract)โดยจะนำน้ำมันที่ขุดได้มาแบ่งกับเอกชน ซึ่งส่วนใหญ่รัฐบาลจะได้ร้อยละ 80 ขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซีย มาเลเซีย พม่า หรือกัมพูชา โดยเฉพาะอินโดนีเซียนั้น รัฐได้ร้อยละ 86 ของปริมาณน้ำมันที่ขุดได้ ส่วนเอกชนได้ร้อยละ 14 ทั้งนี้รัฐบาลจะจ่ายค่าอุปกรณ์การขุดเจาะให้ และอุปกรณ์ก็ตกเป็นของรัฐ เมื่อได้ผลผลิตมาน้ำมันยังเป็นของประเทศจนกว่าจะแบ่งให้เอกชนผู้ขุดเจาะ เหมือนเรามีส่วนมะม่วง แล้วจ้างคนมาเก็บ เราออกค่าบันไดให้ และบันไดก็เป็นของเรา แล้วได้มะม่วงมาเท่าไหร่ ค่อยมาแบ่งกัน โดยที่สวนมะม่วงยังเป็นของเรา มะม่วงที่ยังไม่เก็บ ก็เป็นของเรา รวมทั้งมะม่วงที่เก็บแล้ว ถ้ายังไม่แบ่งก็ยังเป็นของเรา
แต่ของไทยเป็นการสัมปทานยกพื้นที่ขุดเจาะให้เอกชนไปเลย ขุดน้ำมันได้เท่าไหร่ก็เอาไปขาย แล้วแบ่งเศษเงินมาให้ในรูปของค่าภาคหลวงและภาษี เหมือนเรายกสวนมะม่วงให้คนเก็บไปเลย มะม่วงก็เป็นของเขา เขาเอาไปขายได้ค่อยมาแบ่งเงินเล็กๆ น้อยๆให้เรา แล้วถ้ามะม่วงเราไม่พอกิน เราก็ต้องซื้อมะม่วงจากเขาในราคาท้องตลาด ทั้งที่เป็นมะม่วงจากสวนของเราเอง เช่นเดียวกับน้ำมัน ที่เราให้สัมปทานแก่เอกชนไปแล้ว เราต้องซื้อกลับมาใช้ในราคาที่แพง ขณะที่อินโดนีเซีย มาเลเซีย น้ำมันที่ขุดได้เป็นของเขา เขาจึงสามารถช่วยประชาชนโดยการขายในราคาถูกได้ และประเทศไหนก็ตามที่มีปิโตรเลียมเป็นของตนเอง มักจะขายให้ประชาชนในราคาต่ำกว่าราคาตลาดโลกทั้งนั้น ยกเว้นประเทศไทย
ทั้งนี้ระบบการแบ่งผลผลิตนั้น อินโดนีเซีย เป็นแม่แบบทำมาตั้งปี 1960 (พ.ศ.2503) ให้เพื่อนบ้านอาเซียนประเทศอื่นทำตาม ซึ่งถือว่าทำก่อนที่เราจะมี พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 แต่เราก็อ้างว่าน้ำมันเรามีน้อย ต้นทุนการขุดเจาะสูง จึงต้องใช้ระบบการให้สัมปทาน ทั้งที่ในข้อเท็จจริงแล้ว ระบบการแบ่งผลผลิตเป็นระบบที่เป็นธรรมที่สุด เพราะอุปกรณ์ทุกอย่างที่เอกชนเอาเข้ามา ก็จะตกเป็นของประเทศหมด ถ้ามีรายใหม่มาขุดต่อ ก็ไม่ต้องเอาอุปกรณ์มา แต่ก็จะได้ส่วนแบ่งที่น้อยลง แต่ระบบสัมปทานแบบของเรา อุปกรณ์ยังคงเป็นของเอกชน
กล่าวโดยสรุปของไทยกับอินโดนีเซีย ต่างกันที่กรรมสิทธิ์ ทั้งปิโตรเลียมและอุปกรณ์ อินโดนีเซียเอามาเป็นของรัฐหมด แล้วจ่ายคืนเอกชนในรูปส่วนแบ่งน้ำมัน แต่ของไทยกรรมสิทธิ์ในน้ำมันเป็นของเอกชน อุปกรณ์ก็เป็นของเอกชน จะเป็นของรัฐเมื่อสิ้นสุดสัมปทาน แต่เอกชนเขาก็อ้างได้ว่า เป็นอุปกรณ์ที่เช่ามา เราก็ทำอะไรไม่ได้
ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าวอีกว่า ระบบการยกสัมปทานขุดเจาะน้ำมันให้เอกชนปัจจุบันมีอยู่เพียงร้อยละ 7 ของปริมาณน้ำมันทั้งโลกเท่านั้น นอกจากประเทศไทย ก็น่าจะเป็นประเทศในอาฟริกา ที่เป็นสวรรค์ของนักขุดเจาะน้ำมัน นอกนั้นก็เหมือนคนรับจ้างทำของ
นอกจากนี้ การให้สัมปทานขุดเจาะแบบประเทศไทย มีโอกาสที่จะเกิดการทุจริตสูงมาก เพราะเป็นการยกกรรมสิทธิ์ในปิโตรเลียมปริมาณมหาศาลให้เอกชน ทั้งที่ขุดแล้วและยังไม่ขุด เราสามารถผลิตได้ปีละ 5 แสนล้าน ขณะอายุสัมปทาน 30 ปี คิดเป็นมูลค่าถึง 15 ล้านล้านบาท การยกสัมปทานให้เอกชน จึงเป็นเรื่องที่น่ากลัวว่าคนที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องจะเข้าไปมีผลประโยชน์ด้วย และวันนี้ คนที่เป็นปลัดกระทรวงพลังงาน ก็ไปเป็นประธานบริษัทขุดเจาะพลังงานเสียเอง และการตกลงให้สัมปทาน ยังไม่มีความโปร่งใส ส่วนใหญ่เป็นการปิดห้องคุยกัน ซึ่งคนภายนอกไม่มีโอกาสรับรู้ด้วย
ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าวอีกว่า กระทรวงพลังงานชอบอ้างว่า เราเก็บภาษีอัตราสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน โดยพม่า กัมพูชา อินโดนีเซีย เก็บในอัตราร้อยละ 30-44 ขณะที่ไทยเก็บร้อยละ 50 แต่ในข้อเท็จจริง ประเทศเพื่อนบ้านเหล่านั้นได้ส่วนแบ่งน้ำมันไปแล้วถึงร้อยละ 80 แต่ของไทยรัฐบาลไม่ได้ส่วนแบ่งเลย และในการเก็บภาษี ก็เปิดช่องให้เอกชนหักค่าใช้จ่ายได้เยอะมาก จึงเหลือส่วนที่ต้องเสียภาษีน้อย ดังนั้นเมื่อเปรียบเทียบส่วนแบ่งรายได้ที่รัฐจะได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายทุกอย่างแล้ว ไทยจึงได้น้อยที่สุด โดยได้เพียงร้อยละ 35-55 ขณะที่อินโดนีเซียได้ร้อยละ 85 พม่าได้ร้อยละ 80 กัมพูชาได้ร้อยละ 75
ทั้งนี้ ปลัดกระทรวงพลังงานได้อ้างอยู่บ่อยๆว่า เราได้ส่วนแบ่งถึงร้อยละ 80 แต่เอกสารของ บริษัทแพนโอเรียนต์ ของแคนาดา ปี 2010 ที่รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์ ระบุชัดเจนว่า ประเทศไทยได้มากสุดแค่ร้อยละ 55 บางปีก็ได้แค่ร้อยละ 35 เพราะเราใช้ระบบให้สัมปทานแก่เอกชน ไม่ได้เป็นเจ้าของน้ำมันเอง
นอกจากนี้ ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าวว่า ยังมีประเด็นความไม่โปร่งใสเรื่องปริมาณน้ำมันในพื้นที่สัมปทาน เช่น แหล่งบงกชเหนือ ในอ่าวไทย ซึ่งมีบ่อน้ำมันหลายหลุมซ้อนกันอยู่ บางหลุมยังไม่ได้ขุด ถ้าผู้รับสัมปทานไม่นับรวมให้ เราก็ทำอะไรไม่ได้ ที่กระทรวงพลังงานอ้างว่า ปริมาณน้ำมันสำรองของเราเหลือขุดได้อีกแค่ 8 ปี เมื่อเทียบกับประเทศในตะวันออกกลาง เช่น ซาอุดิอาระเบีย ถือว่าเหลือน้อยมากนั้น ตัวเลขดังกล่าวเป็นปริมาณตามที่เอกชนผู้รับสัมปทานรายงานมา ซึ่งเขาต้องรายงานให้น้อยที่สุด เพื่อที่จะขอสัมปทานเพิ่ม และโดยตรรกะแล้ว ถ้าน้ำมันเหลือน้อย ก็ต้องหยุดให้สัมปทานเพื่อเก็บไว้เป็นของประเทศ แต่กลับใช้เป็นข้ออ้างในการเปิดให้สัมปทานเพิ่ม
ม.ล.กรกสิวัฒน์ ยังได้นำวิดีคลิปการสัมภาษณ์ชาวบ้านที่จังหวัดสุพรรณบุรี ในพื้นที่การขุดเจาะน้ำมันของปตท.สผ. มาเปิดในรายการ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเป็นอยู่ของช่วบ้านที่ยังแร้นแค้น ทั้งที่อยู่ติดกับบ่อน้ำมัน แต่คนท้องถิ่นกลับไม่ได้อะไร มีแต่ความเดือดร้อนที่ได้รับผลกระทบจากการขุดเจาะ ทั้งนี้ ม.ล.กรกสิวัฒน์ ระบุว่า ปัญหาทั้งหมดเกิดจากผู้จัดการมรดก คือ กระทรวงพลังงาน ประเทศมีทรัพย์สินเป็นแหล่งน้ำมันตกทอดมาจากบรรพบุรุษ แต่คนไทยกลับมีแต่ความเดือดร้อน
ส่วนกรณีที่มีการอ้างว่า ราคาน้ำมันแพงเพราะภาษีนั้น ม.ล.กรกสิวัฒน์ ยืนยันว่า ไม่จริง เพราะโครงสร้างราคาน้ำมันแพงมาก่อนที่จะรวมภาษีแล้ว เนื่องจากเราขายน้ำมันให้คนไทยโดยใช้ราคาตลาดโลกเทียม แต่ส่งออกน้ำมันในราคาตลาดโลกจริง เพราะฉะนั้นราคาขายหน้าโรงกลั่น จึงแพงกว่าราคาส่งออกไปต่างประเทศ โดยมีหลักฐานการส่งออกน้ำมันดีเซลไปขายที่ประเทศลาว เมื่อวันที่ 25 เม.ย.56 ในราคาลิตรละ 19.17 บาท แต่ในวันเดียวกัน ราคาขายน้ำมันดีเซลหน้าโรงกลั่นเพื่อจำหน่ายให้คนไทย อยู่ที่ลิตรละ 21.49 บาท ทั้งนี้เป็นเพราะคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ยอมให้ขายในราคาตลาดโลกเทียมได้
ทั้งนี้ ราคาตลาดโลกเทียมก็คือ ราคาน้ำมันที่กลั่นเสร็จแล้วให้สมมุติว่าเป็นน้ำมันที่นำเข้าจากสิงคโปร์ โดยบวกค่าขนส่ง ค่าประกันภัย ค่าสูญเสียระหว่างการขนส่ง ค่าปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเข้าไป ทั้งที่ค่าใช้จ่ายต่างๆ เหล่านี้เราบวกเข้าไปตั้งแต่การนำน้ำมันดิบมาจากตะวันออกกลางแล้ว จึงเป็นการบวกซ้ำ ราคานี้จึงเอาไปขายต่างชาติไม่ได้ เพราะเขาดูราคาตลาดโลกจริงอยู่ ดังนั้นในการส่งออกจึงต้องขายในราคาตลาดโลกจริง ซึ่งต่ำกว่าราคาตลาดโลกเทียม ที่มีการบวกซ้ำและขายให้คนไทย สรุปแล้วเราขายให้คนไทยแพงกว่าตลาดโลก ลิตรละ 2.32 บาท ทำให้คนไทยจ่ายแพงกว่าถึงปีละ 4.2 หมื่นล้าน
ส่วนราคาน้ำมันหลังจากรวมภาษีที่สูงเกินความจำเป็นนั้น เนื่องมาจากปตท. เอาเปรียบภาคอุตสาหกรรมอื่น กรณีการจ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมันจากการใช้ก๊าซแอลพีจี โดยจ่ายเพียงกิโลกรัมละ 1 บาท ขณะที่อุตสาหกรรมอื่นจ่าย 12.50 บาท ทั้งที่ปตท.ใช้มากกว่าเพื่อนถึงปีละ 2.5 ล้านตัน เมื่อเงินกองทุนน้ำมันไม่พอใช้ จึงไปเพิ่มเอากับน้ำมันเบนซินถึงลิตร 9 บาท ทำให้ราคาขายน้ำมันแพงขึ้น.