พล.ต.สัญญาฮัก พมวิหาน รมช.กลาโหมลาว ลูกชาย “ไกสอน” สิ้นลม

 

     
 พล.ต.สัญญาฮัก พมวิหาน รัฐมนตรีช่วยกระทรวงป้องกันประเทศ กรรมการศูนย์กลางพรรคประชาชนปฏิวัติลาว บุตรชายของนายไกสอน พมวิหาน อดีตผู้นำในการทำสงครามต่อสู้เพื่อเอกราช ซึ่งนำมาสู่การก่อตั้งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในปัจจุบัน ได้ถึงแก่กรรมในวันพุธ 17 ก.ค.ที่ผ่านมา รวมอายุ 45 ปี
 
พล.ต.สัญญาฮัก พมวิหาน        นับเป็นการสูญเสียนายทหารรุ่นใหม่ที่มีการศึกษาดีที่สุดอีกคนหนึ่งซึ่งเติบโตอย่างรวดเร็วในหน้าที่ ตำแหน่งทั้งในกองทัพ และในวงการเมืองของประเทศ จนดูเหมือนว่าเป็นบุคคลสำคัญที่ถูกวางตัวเอาไว้เพื่อคุมกระทรวงกลาโหม กับกองทัพประชาชนลาวในอนาคต
       
       บุตรชายของอดีตผู้นำถึงแก่กรรมหลังจากล้มป่วย ญาติพี่น้อง ครอบครัว คณะแพทย์ทั้งในและต่างประเทศได้พยายามอย่างสุดความสามารถในการดูแลรักษา แต่ก็ไม่สามารถช่วยชีวิตได้ พรรคประชาชนปฏิวัติลาวระบุในคำแถลงฉบับหนึ่งที่ออกในวันเดียวกัน
       
       ศูนย์กลางพรรคได้ประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการจัดพิธีศพของผู้ที่เสียชีวิตอย่างสมเกียรติ โดย พล.ท.ดวงใจ พิจิต กรรมการกรมการเมือง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กระทรวงป้องกันประเทศ เป็นประธาน มีคณะกรรมการ ประกอบด้วย บุคคลจากหลายฝ่าย กับผู้แทนจากครอบครัวรวม 16 คน
       
       ศพของรัฐมนตรีช่วยกว่าการกระทรวงป้องกันประเทศ ตั้งบำเพ็ญกุศลที่สโมสรกระทรวงป้องกันประเทศ (ค่ายโพนเค็ง) จัดพิธีไว้อาลัยเป็นเวลา 5 วัน การฌาปนกิจจะจัดขึ้นที่วัดเทพนิมิต (วัดธาตุฝุ่น) นครเวียงจันทน์ ในเวลาบ่ายโมงวันอาทิตย์ที่ 21 ก.ค.ศกนี้ ศูนย์กลางพรรคฯ ระบุ
       
       เกิดวันที่ 16 มิ.ย.2511 ที่เมืองเวียงไซ แขวงหัวพัน ในช่วงปีที่สงครามเวียดนามกำลังเผ็ดร้อนและการสู้รบกับรัฐบาลฝ่ายขวาในลาวที่สหรัฐฯ ให้การหนุนหลังกำลังดำเนินไปอย่างดุเดือดแหลมคม เป็นบุตรของอดีตเลขาธิการใหญ่พรรคประชาชนปฏิวัติลาว และอดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเมื่อกว่า 60 ปีก่อน ได้ก่อตั้งกองกำลังเล็กขึ้นมาเป็นระดับกองร้อยเพื่อต่อสู้กับผู้ปกครองชาวฝรั่งเศส และพัฒนาเติบใหญ่กลายมาเป็นกองทัพประชาชนลาวในวันนี้ มารดาคือ นางทองวิน พมวิหาน เป็นน้องชายของ นายไซสมพอน พมวิหาน รองประธานสภาแห่งชาติ และเป็นพี่ชายของนายสันติภาพ พมวิหาน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการเงินในปัจจุบัน นายทองสะหวัน พมวิหาน พี่ชายอีกคนหนึ่งเป็นอดีตเอกอัครราชทูตลาว ประจำรัสเซีย
       
       ตามประวัติอย่างเป็นทางการ พล.ต.สัญญาฮัก แต่งงานกับนางออละวัน พมวิหาน ปัจจุบันมีบุตร-ธิดา รวม 4 คน
       
       เรียนชั้นประถมศึกษา และมัธยมศึกษาในนครเวียงจันทน์ (2519-2523) ก่อนจะไปเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาในกรุงมอสโก อดีตสหภาพโซเวียต (2523-2527) เข้าเรียนต่อที่โรงเรียนประสานเหล่าชั้นสูงโอเดสสา (Military Academy Odessa) สหภาพโซเวียต ซึ่งปัจจุบันอยู่ในสาธารณรัฐยูเครน และติดยศนายร้อยโท เดินทางกลับประเทศเข้าประจำการในกองทัพประชาชนลาว ลงปฏิบัติงานในแขวงไซยะบูลี และนครเวียงจันทน์ จนเลื่อนยศเป็นนายร้อยเอก
       
       ปี พ.ศ.2534-2535 ไปเรียนภาษาอังกฤษในประเทศมาเลเซีย หลังจากนั้น ได้กลับเข้ากองทัพ ติดยศนายพันตรีเมื่อปี 2539 รักษาการหัวหน้าแผนกวางแผนการสู้รบ กรมใหญ่เสนาธิการ ก่อนเดินทางศึกษาต่อระดับปริญญาโทวิชาการทหาร ในอินเดีย ระหว่างปี 2541-2542 กลับประเทศไปประจำกองพันที่ 5 ในตำแหน่งรองหัวหน้าการทหาร ก่อนเลื่อนยศเป็นนายพันโท รักษาการหัวหน้ากรมวิทยาศาสตร์และประวัติศาสตร์ กรมใหญ่การเมืองกองทัพ
       
       ในเดือน มิ.ย.2547 ได้รับเลื่อนชั้นยศเป็นนายพันเอกหัวหน้ากรมทหารท้องถิ่น ในสังกัดกรมใหญ่เสนาธิการ
       
       ปี 2550 เลื่อนยศเป็นนายพลจัตวา ตำแหน่งหัวหน้ากรมใหญ่เสนาธิการกองทัพ ซึ่งเป็นตำแหน่งเทียบเท่าผู้บัญชาการทหารบกในระบบของกองทัพไทย .  

       ปี 2552 ซึ่งมีการปรับระบบยศชั้นใหม่ในระดับหัวหน้ากรมใหญ่ (และ รมว.กลาโหมซึ่งเป็นผู้บัญชาการกองทัพปรับเป็นนายพลโท) จึงได้รับยศพลตรี และในเดือน ก.ย.ปีเดียวกัน ได้รับการแต่งตั้งให้เข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงป้องกันประเทศอีกคนหนึ่งเป็นคนที่ 3
       
       พล.ต.สัญญาฮัก เข้าสู่การเมืองระดับชาติ โดยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาแห่งชาติเขตเลือกตั้งที่ 15 แขวงจำปาสักเมื่อปี 2546 และได้รับเลือกเข้าเป็นกรรมการศูนย์กลางพรรคครั้งแรกในการประชุมใหญ่ครั้งที่ 8 พรรคประชาชนปฏิวัติลาวในเดือน มี.ค.2549
       
       ในการประชุมใหญ่ครั้งที่ 9 ของพรรค เดือน มี.ค.2554 พล.ต.สัญญาฮัก ได้รับเลือกเข้าเป็นกรรมการศูนย์กลางพรรคเป็นสมัยที่ 2
       
       รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงป้องกันประเทศลาว ถูกคัดเลือกส่งไปศึกษาระดับปริญญาโทวิชาการบริหารเศรษฐกิจที่สถาบันการเมือง-การปกครองแห่งชาติ ตั้งแต่เดือน ม.ค.2555 จนกระทั่งวันถึงแก่กรรม.


 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ aseanthai.net ดูทั้งหมด

1201

views
Credit : aseanthai.net


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน