กำลังซื้อหดตัวกระหน่ำ “ธุรกิจขายตรง” ตกต่ำสุดในรอบ 10 ปี
นายกสมาคมการขายตรงไทยบ่นอุบ รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำรอบตัว จวกนโยบายรถคันแรกส่งผลเต็มๆ ทำกำลังซื้อผู้บริโภคหดตัวและตัดสินใจซื้อช้าลง คาดครึ่งปีหลังผู้ประกอบการทุกค่ายอัดงบฯ เล่นเกมลด แลก แจก แถมเต็มเหนี่ยว แต่มั่นใจมีแนวโน้มไปได้สวยหลังเปิดเออีซี เตรียมหารือจัดตั้ง “สหพันธ์การขายตรงอาเซียน” เพราะตลาดอาเซียนโตถึง 9.7% สูงกว่าตลาดโลกที่โตเพียง 5.4%
นายกิจธวัช ฤทธีราวี นายกสมาคมการขายตรงไทย เปิดเผยว่า จากภาวะเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ขณะนี้ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจขายตรงไทยโดยรวมมีผลประกอบการไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งเป้า เนื่องจากตลอดเวลาที่ผ่านมากว่า 10 ตลาดรวมธุรกิจขายตรงไทยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 7-10% แต่จากครึ่งปีแรกที่ผ่านมาผู้ประกอบการแต่ละรายมีอัตราเติบโตเพียง 4-5% จึงคาดว่าธุรกิจขายตรงไทยในปีนี้จะมีอัตราการเติบโตเพียงประมาณ 5% จากปี 2555 ซึ่งมีมูลค่าตลาดรวมประมาณ 7 หมื่นล้านบาท
สาเหตุสำคัญที่ทำให้ตลาดรวมของธุรกิจขายตรงไทยเติบโตต่ำกว่าปกติ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยภายนอกคือภาวะเศรษฐกิจรวมของโลกที่ยังคงผันผวน ทั้งในยุโรป สหรัฐอเมริกา จีน และอื่นๆ ขณะเดียวกันภาคการส่งออกรวมของประเทศก็ไม่เป็นไปตามเป้า แต่สาเหตุที่สำคัญคือปัจจัยภายในประเทศ โดยเฉพาะนโยบายรถคันแรก และนโยบายต่างๆ ทางด้านเศรษฐกิจที่ล้มเหลวจนส่งผลให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อต่ำและมีการตัดสินใจซื้อช้าลงในทุกๆ ผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะในส่วนของอาหารเสริมและเครื่องสำอางได้รับผลกระทบมากที่สุด ประการสำคัญ หากมีเหตุการณ์อื่นๆ เกิดขึ้น โดยเฉพาะสถานการณ์ทางการเมือง อาจส่งผลให้ธุรกิจขายตรงไทยตกต่ำมากกว่านี้ก็เป็นได้
“ตลอดเวลาที่ผ่านมาแม้เศรษฐกิจโดยรวมไม่ดี แต่ธุรกิจขายตรงก็ยังคงเติบโตได้อยู่เพราะมีผู้เข้ามาเป็นตัวแทนจำหน่ายอิสระมากขึ้นส่งผลให้ขายสินค้าได้มากตามไปด้วย เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้จึงถือเป็นเรื่องผิดปกติมาก เพราะปรากฏว่ามีผู้สนใจเข้าสู่ธุรกิจขายตรงน้อยลงกว่าทุกปี จึงทำให้เชื่อได้ว่าในช่วงครึ่งปีหลังผู้ประกอบการแต่ละรายจะต้องอัดงบประมาณในการทำตลาดมากขึ้นเพื่อใช้ในการจัดโปรโมชันต่างๆ ทั้งลด แลก แจก แถม เพื่อเป็นการกระตุ้นกำลังซื้อให้สูงขึ้น ขณะเดียวกันยังต้องเพิ่มผลตอบแทนให้ผู้จำหน่ายอิสระสูงขึ้นอีกเพื่อเป็นแรงจูงใจให้จำหน่ายสินค้าได้มากขึ้น”
อย่างไรก็ตาม เมื่อมองในภาพรวมของธุรกิจขายตรงทั้งภูมิภาคอาเซียนในปี 2555 กลับพบว่ามีมูลค่ายอดธุรกิจเป็นจำนวนถึง 6.22% ของมูลค่าธุรกิจเครือข่ายทั่วโลก ทั้งยังมีอัตราการเติบโตจากปี 2554 สูงถึง 9.7% ในขณะที่ธุรกิจเครือข่ายทั่วโลกมีอัตราการเติบโตเพียง 5.4%
จากภาพรวมดังกล่าว สมาคมการขายตรงไทยจึงเตรียมจัดงานสัมมนาครบรอบ 30 ปีภายใต้ชื่อ “30 ปีสมาคมการขายตรงไทย : ธุรกิจเครือข่าย...อาชีพแห่งอนาคต” ในวันที่ 15 ส.ค.ศกนี้ โดยจะมีนายกสมาคมการขายตรงมาเลเซียและเวียดนามมาร่วมงานเพื่อแลกเปลี่ยนทรรศนะและประสบการณ์เพื่อให้ทุกๆ ฝ่ายในธุรกิจเครือข่ายทั้ง 3 ประเทศได้รับประโยชน์จากการเปิดเขตประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ในปี 2558
นายกิจธวัชกล่าวด้วยว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมาสมาคมการขายตรงไทยมีการประสานงานกับผู้ประกอบการและสมาคมการขายตรงแต่ละประเทศในอาเซียนเป็นประจำอยู่แล้ว ในช่วงปลายปี 2556 แต่ละประเทศในภูมิภาคอาเซียนจะเดินทางไปประชุมและร่วมงานครบรอบ 35 ปีสมาคมขายตรงมาเลเซีย โดยคาดว่าอาจมีการสรุปเรื่องการจัดตั้ง “สหพันธ์ขายตรงอาเซียน” อย่างเป็นทางการก่อนที่จะมีการเปิดเออีซี เนื่องจากปัจจุบันเริ่มมีธุรกิจเครือข่ายระดับโลกหลายแห่งทยอยเข้าไปดำเนินธุรกิจในประเทศต่างๆ ของอาเซียนเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ธุรกิจเครือข่ายในอาเซียนก็เริ่มมีการสำรวจตลาดในประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มมากขึ้นด้วย
“เหตุผลที่เราเชิญสมาคมการขายตรงมาเลเซียและเวียดนามมาร่วมงานครั้งนี้ เนื่องจากทั้ง 2 ประเทศมีศักยภาพที่ต่างกันและเอื้อต่อธุรกิจขายตรงไทย โดยในส่วนของมาเลเซียนั้นถือเป็นตลาดที่เก่าแก่และใหญ่สุดในอาเซียน โดยมีมูลค่าตลาดรวมสูงถึง 4.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนเวียดนามถือเป็นตลาดใหม่ที่มีแนวโน้มการเติบโตสูงด้วยจำนวนประชากรกว่า 100 ล้านคน จึงทำให้มีศักยภาพสูงพอที่จะเข้าไปเปิดตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ประกอบการธุรกิจเครือข่ายขายตรงที่จดทะเบียนเป็นบริษัทและได้รับการรับรองจากสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จำนวน 353 บริษัท แต่เป็นสมาชิกสมาคมการขายตรงไทยเพียง 35 บริษัท ซึ่งสามารถทำรายได้สูงถึง 70% ของมูลค่าตลาดรวม 7 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ จำนวนผู้เกี่ยวข้องในธุรกิจขายตรงประมาณ 15 ล้านคน คิดเป็นสมาชิกเพื่อประกอบธุรกิจเพียง 4.9 ล้านคน โดยส่วนใหญ่เป็นสมาชิกเพื่อใช้สินค้าจำนวน 10.1 ล้านคน