รัฐบาล ยกปัญหายาเสพติด “เป็นวาระแห่งภูมิภาคอาเซียน”เร่งบำบัดผู้ติดยา เลิกถาวร
รัฐบาลยกปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งภูมิภาคอาเซียน เพิ่มเครือข่ายวิชาการด้านการบำบัดรักษา กลุ่มประเทศอาเซียน ให้ผู้ติดยาเลิกได้อย่างถาวร พร้อมเร่งขยายฐานสร้างภูมิคุ้มกันให้กลุ่มเด็กและเยาวชนตั้งแต่อายุ 7 -19 ปี ป้องกันไม่ให้เข้าสู่วงจรเหล้า บุหรี่ หลังพบเยาวชนที่ติดยาร้อยละ 80-90 มีประวัติกินเหล้าสูบบุหรี่มาก่อน ข้อมูลการบำบัดรักษาล่าสุดในปี 2556 พบยาบ้าอยู่ในอันดับ 1 ในรอบ 6 ปีพบผู้เสพยาไอซ์เพิ่มขึ้น 5 เท่า และอายุน้อยลง มีเด็กอายุ 7-17 ปี เข้ารับการบำบัดเพิ่มขึ้น 5-6 เท่าตัว
วันนี้ (17 กค.) ที่อิมแพ็ค คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ เมืองทองธานี จ.นนทบุรี นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการยาเสพติดแห่งชาติ ครั้งที่ 14 พ.ศ. 2556 ในหัวข้อ “วิชาการยาเสพติดสู่อาเซียน:สร้างเครือข่าย สร้างคุณภาพ” จัดโดยสถาบันธัญญารักษ์ และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในภูมิภาค 6 แห่ง มีแพทย์ พยาบาล นักวิชาการจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ ร่วมประชุมจำนวน 1,200 คน เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และพัฒนาประสิทธิภาพการบำบัดรักษาฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาคืนสู่สังคม พร้อมมอบรางวัลธัญญารักษ์อวอร์ด แก่ผู้มีผลงานดีเด่นด้านการบริหารจัดการและพัฒนานโยบาย และด้านการบำบัดรักษา รวม 13 รางวัล และกิตติกรรมประกาศสถานพยาบาลยาเสพติดที่ผ่านการรับรองคุณภาพ จำนวน 100 แห่ง และสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ระบบต้องโทษ 7 แห่ง
นพ.ประดิษฐ กล่าวว่า ปัจจุบันยาเสพติดได้หวนกลับมาเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทยมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น รัฐบาลได้กำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ และยกระดับเป็นวาระแห่งภูมิภาค เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 โดยปีนี้ สธ.ได้จัดประชุมผู้รับผิดชอบด้านการบำบัดรักษายาเสพติด หัวหน้าศูนย์บำบัดยาเสพติดของประเทศสมาชิกอาเซียน เป็นครั้งแรก เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ เทคโนโลยี ความก้าวหน้าการบำบัดรักษาผู้ติดยา ซึ่งถือเป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่ง เรียกว่าโรคสมองติดยา ติดสารเคมีในยาเสพติด แต่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เนื่องจากสภาพปัญหา
ในภูมิภาคคล้ายคลึงกัน อันดับหนึ่ง มาจากยาบ้า รองลงมาคือเฮโรอีน และที่กำลังเป็นปัญหาของไทยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นคือยาไอซ์ เพิ่มขึ้นเกือบ 5 เท่าตัวในรอบ 6 ปี ซึ่งความร่วมมือกันครั้งนี้ จะสร้างความเข้มแข็งระบบการบำบัดรักษา ทั้งในประเทศ ตามบริเวณแนวชายแดน ให้เลิกยาได้อย่างถาวรหลังบำบัดไม่กลับไปเสพซ้ำอีก โดยจะมีการจัดทำร่างแนวทางและข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนางานวิชาการบำบัดรักษายาเสพติด ในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนต่อไป
นพ.ประดิษฐ กล่าวต่อว่า รัฐบาลได้มอบให้สธ. เป็นเจ้าภาพหลักในการแก้ไขปัญหาผู้เสพ และการบำบัดรักษาผู้ติดยา ในปีงบประมาณ 2555 พบว่า มีผู้เข้ารับการบำบัดทั่วประเทศ 5.6 แสนกว่าคน คาดว่ายังมีอีกหลายแสนคนที่ยังไม่เข้าสู่ระบบการบำบัดรักษา ที่น่าห่วงคือแต่ละปีผู้ที่เข้ารับการบำบัดรักษากว่าครึ่งเป็นผู้เสพติดรายใหม่ ซึ่งเป็นกลุ่มเยาวชนและวัยแรงงานมากขึ้น
แนวโน้มอายุลดลงสู่กลุ่มเด็กต่ำกว่า 20 ปี โดยในรอบ 6 ปี พบเด็ก 7- 11 ปีเข้ารับการบำบัดเพิ่มขึ้น 5 เท่าตัว จาก 18 รายในปี 2550 เป็น 90 รายในปี 2555 กลุ่มอายุ 12-17ปี เพิ่มขึ้น 6 เท่าตัว จาก 7,800 ราย เป็น 46,000 รายในช่วงเดียวกัน
"ในปีนี้ สธ.ได้เน้นการสร้างภูมิคุ้มกันยาเสพติด เป็นวัคซีนอีกตัวหนึ่งแก่กลุ่มเด็กและเยาวชน ขยายฐานเริ่มตั้งแต่อายุ 7 - 19 ปี ซึ่งมีเกือบ 12 ล้านคน ทั้งในและนอกระบบการศึกษา เช่น โซเชียลมีเดีย และจะให้ความรู้เรื่องบุหรี่และเหล้า ซึ่งเป็นประตูสำคัญที่นำไปสู่การใช้ยาเสพติด หลังพบเยาวชนที่เข้ารับการบำบัดร้อยละ 80-90 มีประวัติสูบบุหรี่และดื่มเหล้ามักเสพเป็นกลุ่ม โดยได้
จัดทำโครงการทูบีนัมเบอร์วันในสถานศึกษาทุกระดับ และให้อสม.กว่า 1 ล้านคนเป็นกำลังสอดส่องในชุมชนหมู่บ้าน และค้นหาผู้เสพ/ผู้ติด นำเข้าสู่ระบบการบำบัดรักษาตามความสมัครใจ" นพ.ประดิษฐกล่าว
ทางด้านนพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดสธ.กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของการบำบัด จะเน้นการคัดกรองแยกกลุ่มผู้เสพและผู้ติดให้ชัดเจน เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาที่เหมาะสมและฟรี ในรอบ 6 เดือนของปี 2556 นี้มีผู้สมัครใจเข้ารับการบำบัดแล้ว 203,779 คน จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 3 แสนคน และเพิ่มคุณภาพการบำบัดรักษาผู้ติดยาที่มีประสิทธิภาพ และระบบติดตามป้องกันการ
เสพซ้ำ ตั้งเป้าผู้ผ่านการบำบัดไม่หันกลับไปเสพยาได้ผลไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 และผู้เสพรายใหม่ลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 จากการติดตามในรอบ 6 เดือนปีนี้ พบได้ผลดี ผู้ผ่านการบำบัดร้อยละ 95 ไม่กลับไปเสพซ้ำ