จี้รัฐเร่งคลอดพ.ร.บ.ฯ ฟันสปาแฝงหมื่นแห่ง
ต่างชาติตีตราบริการสปาไทยขายบริการแฝง ฉุดภาพลักษณ์สปาไทยตกต่ำ ภาครัฐเร่งคลอดพระราชบัญญัติสถานประกอบการสปาภายในปีนี้ หวังล้อมคอก ดันสปาไทยนั่งบัลลังก์สปาอาเซียนอย่างสง่างามสู่การเติบโตปีละไม่ต่ำกว่า 25-30% จากปัจจุบันมูลค่าสปาไทยอยู่ที่ 19,600 ล้านบาท โตปีละ 10%
นายกรด โรจนเสถียร นายกสมาคมสปาไทย เปิดเผยว่า ในปีที่ผ่านมาตลาดท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในประเทศไทยปี 2555 มีมูลค่า 140,000 บาท แบ่งเป็น 1. กลุ่มธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน 50% หรือกว่า 70,000 ล้านบาท 2. กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว 36% คิดเป็น 50,400 ล้านบาท และ 3. กลุ่มการส่งเสริมสุขภาพ นวดแผนไทย และสปา 14% หรือราว 19,600 ล้านบาท
ทั้งนี้ เฉพาะธุรกิจสปานั้นปีที่ผ่านมามีมูลค่า 16,415 ล้านบาท โต 10% ในปีนี้คาดว่าจะมีมูลค่ากว่า 18,000 ล้านบาท ซึ่งสปาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดและเป็นรายได้หลักคือ สปาประเภท Hotel & Resort Spa ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นชาวต่างชาติที่มีกำลังซื้อสูง และ Day Spa ซึ่งกลุ่มลูกค้าคนไทยนิยมใช้บริการมากขึ้น สำหรับกลุ่มลูกค้าที่ใช้บริการกว่า 20% เป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย และ 80% เป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติทั้งที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยและนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ โดยในพื้นที่กรุงเทพฯ ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวสิงคโปร์ ฮ่องกง อเมริกา ส่วนพื้นที่ภาคเหนือเป็นนักท่องเที่ยวชาวสแกนดิเนเวีย ยุโรป รวมทั้งนักท่องเที่ยวในตลาดอาเซียน ทั้งอินเดีย เกาหลี จีน ที่หันมาใช้บริการสปาไทยมากขึ้น และกลุ่มลูกค้าที่ใช้บริการอีก
อย่างไรก็ตาม พบว่าธุรกิจสปาแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ 1. โรงแรม รีสอร์ต สปา 30% และ 2. เดย์สปา 70% โดยเฉพาะในกลุ่มเดย์สปานี้เชื่อว่าทั้งประเทศจะมีผู้ประกอบการรวมกันไม่ต่ำกว่า 40,000 ราย และกว่า 25% หรือราว 10,000 รายเป็นกลุ่มให้บริการสปาแฝง เช่น กลุ่มสปาที่มีเรื่องของการขายบริการทางเพศเข้ามาเกี่ยวข้อง เป็นต้น ถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ภาพลักษณ์สปาไทยเสียหาย นักท่องเที่ยวต่างชาติกำลังติดภาพสปาไทยว่าต้องมีการขายบริการทางเพศเข้ามาเกี่ยวข้อง
ดังนั้น ภาครัฐจึงเร่งผลักดันให้เกิดพระราชบัญญัติสถานประกอบการสปาขึ้นให้ได้ในปีนี้ เพื่อจะได้มีข้อบังคับทางกฎหมายเอาผิดและปรับปรุงให้ภาพสปาไทยมีมาตรฐานที่ดีขึ้น และทำให้สปาแฝงเหล่านี้ปิดตัวลง คาดว่าหากทำได้สำเร็จจะช่วยให้การเติบโตของสปาไทยทำได้ถึงปีละไม่ต่ำกว่า 25-30% ได้แน่ จากปัจจุบันเฉพาะสปาที่มีมาตรฐานของไทย ส่งผลให้สปาไทยติดอันดับ 1 ในอาเซียนอยู่แล้ว
นายกรดกล่าวต่อว่า ก่อนก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 สิ่งสำคัญจะต้องพัฒนาสำหรับธุรกิจสปาไทย ได้แก่ ด้านการศึกษา โดยเฉพาะภาษาในการสื่อสาร ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาอื่นๆ การพัฒนาทางด้านความคิดนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อสร้างความแตกต่างให้แก่สปาไทย รวมทั้งการผลิตบุคลากร ซึ่งตลาดมีความต้องการบุคลากรด้านสปาที่เป็นคนไทยมากกว่าชาติอื่นๆ โดยคาดว่าหลังจากเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จะมีข้อดีในการเอื้อประโยชน์ให้แก่ประเทศไทยได้มาก เพราะจะเกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูล เกิดการเรียนรู้ เข้าใจเทรนด์ของผู้บริโภคในตลาด เป็นช่องทางให้ประเทศไทยสามารถเข้าไปทำตลาดสปาได้มากยิ่งขึ้น และเป็นการเปิดโอกาสในการลงทุนธุรกิจได้อย่างเสรี