ชายแดนติงดันต่างด้าวเข้าประกันสังคมไร้ผล รพ.แบกค่ารักษา 100 ล.
นโยบายรัฐดันต่างด้าวเข้าระบบประกันสังคมไร้ผล สสจ.ตากเผย 80% ไม่อยู่ในภาคอุตสาหกรรม ทำให้ต้องแบกค่ารักษาสงเคราะห์เกินกว่า 100 ล้านบาท แถมยังขายบัตรประกันสุขภาพครอบครัวไม่ออก ผอ.รพ.อุ้มผาง แนะสร้างหลักประกันทุกประเทศอาเซียน
ผศ.(พิเศษ) นพ.พลวรรธน์ วิทูรกลชิต ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชกรรมป้องกัน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ตาก กล่าวว่า รัฐบาลผลักดันให้ขึ้นทะเบียนต่างด้าวเข้าสู่ระบบประกันสังคมมากกว่าระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ส่งผลให้การขึ้นทะเบียนต่างด้าวใน จ.ตากลดลงเรื่อยๆ ผู้ที่ขึ้นทะเบียนประกันสุขภาพก็ลดลง ประกอบกับประชากรต่างด้าวในพื้นที่ชายแดน จ.ตากส่วนใหญ่มากกว่า 80% ไม่ได้อยู่ในระบบอุตสาหกรรม ทำให้สถานพยาบาลต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ซึ่งค่าใช้จ่าย 5 ปีย้อนหลังของ จ.ตาก ในการให้บริการรักษาพยาบาลแก่แรงงานต่างด้าวที่มีและไม่มีบัตรประกันสุขภาพฯ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ผศ.(พิเศษ) นพ.พลวรรธน์ กล่าวอีกว่า กรณีไม่มีบัตรประกันสุขภาพ พบว่า ปี 2551 ประมาณ 89 ล้านบาท ปี 2552 เพิ่มเป็นราว 90 ล้านบาท ปี 2553 จำนวน 96 ล้านบาท ปี 2554 ประมาณ 102 ล้านบาท และปี 2555 ราว 112 ล้านบาท ส่วนกรณีมีบัตร ปี 2551 ราว 12.9 ล้านบาท ปี 2552 ลดลงเหลือ 12.5 ล้านบาท ปี 2553 เพิ่มเป็น 19.8 ปี 2554 ลดลงเหลือ 15.4 ล้านบาท และปี 2555 เพิ่มเป็น 16.9 ล้านบาท จะเห็นว่าค่าใช้จ่ายจากกรณีคนไข้ไม่มีบัตรประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวสูงกว่ากรณีมีบัตรจำนวนมาก ซึ่งเป็นภาระที่สถานพยาบาลต้องแบกรับ
ด้าน นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผอ.รพ.อุ้มผาง จ.ตาก กล่าวว่า นโยบายขายบัตรประกันสุขภาพให้กับแรงงานต่างด้าวที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม เพื่อให้ครอบคลุมการประกันสุขภาพครอบครัวของแรงงานต่างด้าวในราคา 365 บาทต่อปี และ 1,200 บาทต่อปี ปรากฏว่าบางพื้นที่ขายบัตรประกันสุขภาพไม่ได้เลย เช่น รพ.อุ้มผาง ไม่สามารถขายบัตรประกันสุขภาพให้กับแรงงานต่างด้าวที่อยู่นอกระบบประกันสังคมได้แม้แต่ใบเดียว เนื่องจากคนไข้ที่ไร้หลักประกันสุขภาพที่มาใช้บริการที่โรงพยาบาล ไม่ใช่คนต่างด้าวที่เข้ามาทำงาน แต่เป็นคนกะเหรี่ยงอยู่บนภูเขาในประเทศไทย ส่วนใหญ่ไม่มีบัตรประชาชนจึงไม่มีหลักประกันสุขภาพ และมีฐานะยากจนไม่มีกำลังพอที่จะซื้อบัตรประกันสุขภาพ โรงพยาบาลต้องให้บริการตามหลักมนุษยธรรมโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ ปัจจุบันโรงพยาบาลมีหนี้ค่ายาประมาณ 10 ล้านบาท
“การแก้ปัญหาดังกล่าว ควรดำเนินการใน 3 เรื่อง ได้แก่ 1.สนับสนุนการสร้างงานสาธารณสุขระดับปฐมภูมิในเขตประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อลดปัญหาโรคติดต่อต่างๆ 2.ผลักดันให้รัฐบาลในประเทศสมาคมอาเซียนทุกประเทศสร้างหลักประกันสุขภาพ และมีคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับอาเซียน และ 3.จัดตั้งกองทุนเพื่อมนุษยธรรมดูแลสถานบริการสาธารณสุขตามแนวชายแดน" นพ.วรวิทย์ กล่าว