ชาวนาโยง จ.ตรัง ปรับวิธีคิดใหม่ เลี้ยงแพะส่งออกรับอาเซียน

  ตรัง - เกษตรกรผู้เลี้ยงแพะใน อ.นาโยง จ.ตรัง สร้างแนวคิดใหม่ในการเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจจนประสบความสำเร็จ เพื่อป้อนตลาดกลุ่มผู้บริโภคชาวมุสลิม และรองรับประชาคมอาเซียน
       
       นายนิกร ศรีแก้ว ปศุสัตว์อำเภอนาโยง จ.ตรัง นำผู้สื่อข่าวเดินทางไปยังบ้านของ นายธนัชพงษ์ เอียดจุ้ย เลขที่ 119 หมู่ที่ 10 ต.โคกสะบ้า อ.นาโยง หนึ่งในสมาชิกกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะอำเภอนาโยง ซึ่งมีแนวคิดใหม่ในการเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจชนิดนี้ จนประสบความสำเร็จ ทั้งๆ ที่นายธนัชพงษ์ และเพื่อนสมาชิกมิได้นับถือศาสนาอิสลาม แต่สามารถเรียนรู้ และพัฒนาการเลี้ยงแพะให้ใหญ่โต จนสามารถส่งป้อนตลาดกลุ่มผู้บริโภคชาวมุสลิม ทั้งในจังหวัด และต่างจังหวัด รวมทั้งรองรับการเปิดประชาคมอาเซียน (AEC) ในปี 2558 นี้ด้วย
       
       ปัจจุบัน กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะอำเภอนาโยง มีสมาชิกจำนวน 10 ราย และมีการเลี้ยงแพะประมาณ 300 ตัว โดยเฉพาะ นายธนัชพงษ์ ได้เปลี่ยนจากการเลี้ยงแพะพันธุ์พื้นบ้าน มาเป็นพันธุ์ผสม ซึ่งเลี้ยงง่าย โตเร็ว และให้น้ำหนักตัวดีกว่า พร้อมทั้งจัดทำคอกแบบยกพื้นให้สูงขึ้น 1.70 เมตร ทำให้สามารถดูแลเรื่องความสะอาดได้ง่าย โดยเฉพาะมูลสัตว์ที่จะไหลลงสู่ข้างล่าง ซึ่งสามารถนำไปทำปุ๋ยสด และปุ๋ยหมัก ขายได้กระสอบละ 40-100 บาท ส่วนแพะที่เลี้ยงก็ลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรค โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับความชื้น

 

        
       สำหรับแม่แพะพันธุ์ผสมที่ซื้อมาก็ให้ผลผลิตเร็ว โดยตั้งท้องแค่ 5 เดือนเศษ ก็ให้ลูกแพะออกมาแล้ว ก่อนที่จะนำมาขุนด้วยอาหารเม็ด แร่ธาตุ และพืชผักตามธรรมชาติ รวมทั้งทดลองนำกากปาล์มน้ำมัน และต้นสาคู ซึ่งเป็นวัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นอยู่แล้ว มาให้กินเสริมเพิ่มเติม ตลอดจนปล่อยแพะลงไปวิ่งเล่นตามลานธรรมชาติวันละ 1-2 ชั่วโมง ซึ่งปรากฏว่าเพียงแค่ 7 เดือน แพะก็จะมีน้ำหนักประมาณ 15 กิโลกรัม จนสามารถนำไปขายได้แล้วในราคากิโลกรัมละ 230-280 บาท หรือตัวละ 3,500-4,200 บาท
       
       นายนิกร ศรีแก้ว ปศุสัตว์อำเภอนาโยง กล่าวว่า ปัจจุบันเกษตรกรใน จ.ตรัง หันมาเลี้ยงแพะกันมากขึ้น เพราะดูแลง่าย ใช้เวลาน้อย และได้ราคาดีกว่าการเลี้ยงวัวเนื้อ ขณะเดียวกัน ก็ใช้พื้นที่ในบริเวณสวนยางพารา หรือปาล์มน้ำมันก็ได้ โดยคอกขนาด 5X10 เมตร สามารถเลี้ยงแพะได้ 35-40 ตัว นอกจากนั้น ยังพบโรคระบาดน้อย และมียอดสั่งซื้อสูง จนผลิตไม่ทันต่อความต้องการ เพียงแต่เกษตรกรยุคใหม่จะต้องปรับตัว และเรียนรู้การเลี้ยงแพะเพิ่มเติม ทั้งจากในกลุ่มด้วยกัน และจากนักวิชาการเพื่อพัฒนาอาชีพนี้ให้ดียิ่งขึ้น

        
        

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ manager.co.th ดูทั้งหมด

220

views
Credit : manager.co.th


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน