ใครมีหน้าที่พิจารณา

     ท่านที่อ่านคอลัมน์นี้เป็นประจำก็คงจะจำได้ว่า เมื่อสภาผู้แทนราษฎรรับหลักการร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทเพื่อจะนำไปจ่ายในโครงการขนส่ง เป็นต้น รถไฟความเร็วสูงเพื่อขนคน ขนผักรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนนั้น คอลัมน์นี้เคยติงเอาไว้ตั้งแต่ตอนนั้นแล้วว่า อย่าได้ฝันหวานไป
       
           ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวนั้น อาจจะขัดรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 169 ก็ได้
       
           หลังจากนั้นก็มีความพยายามที่จะดิสเครดิตศาลรัฐธรรมนูญ มีเสียงเรียกร้องให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหยุดปฏิบัติหน้าที่ เรียกร้องสำนักงบประมาณหยุดจ่ายเงินเดือนให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นักกฎหมายขี้ข้าทักษิณออกมาเรียกร้องให้ปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญ มีการคุกคามตุลาการโดยกลุ่มคนที่แน่นอนว่าเป็นขี้ข้าทักษิณ เป็นฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลที่บ้านพักของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
       
           ทั้งหลายทั้งปวงก็เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของศาลรัฐธรรมนูญ กดดันศาลรัฐธรรมนูญ ปัญหาสำคัญก็คือ 1. การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2. การผ่านร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 3. การผ่านร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม
       
           ปัญหาทั้ง 3 ข้อนี้ด่านสำคัญคือ ศาลรัฐธรรมนูญ
       
           มาถึงวันนี้นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายแถลงข่าวเรื่อง ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง พ.ศ.......ว่า การกู้เงินตามร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวอาจขัดรัฐธรรมนูญ เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 หมวด 8 ว่าด้วยการเงินการคลังและงบประมาณในมาตรา 169 บัญญัติไว้ว่า การจ่ายเงินแผ่นดินจะกระทำได้เฉพาะที่ได้อนุญาตไว้ในกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณหรือกฎหมายว่าด้วยการเงินคงคลัง เมื่อการกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เป็นการกู้ซึ่งอยู่ในความดูแลของกระทรวงการคลังเงินจึงเป็นของแผ่นดิน ซึ่งในการจ่ายเงินแผ่นดินนั้นจะต้องเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ การตราเป็นพระราชบัญญัตินอกเหนือจากวิธีการที่กำหนดไว้ จึงอาจขัดรัฐธรรมนูญ
       
           นายคณิต กล่าวอีกว่า ตามร่าง พ.ร.บ.นี้ ฝ่ายนิติบัญญัติจะไม่มีโอกาสตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของฝ่ายบริหารเป็นเวลา 7 ปี และการกู้เงินดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันรัฐบาลชุดต่อไป ถือว่าเป็นการก้าวล่วงฝ่ายบริหารด้วยกัน การกู้เงินจำนวนมากจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและดุลยภาพทางการเงินการคลังของประเทศ
       
           ประธาน คปก.เสนอแนะทางออก 3 ประการคือ
       
           1. รัฐบาลสามารถหาเงินทุนในรูปแบบที่กฎหมายกำหนดเป็นทางเลือกได้ เช่น การให้เอกชนร่วมลงทุน
       
           2. ควรมีการศึกษาในแต่ละโครงการอย่างรอบด้านและดำเนินโครงการเฉพาะเท่าที่จำเป็น เพื่อดุลยภาพทางเศรษฐกิจ และลดจำนวนเงินลง
       
           3. ควรมีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และควรให้ข้อมูลการดำเนินการทั้งหมดส่งต่อให้ประชาชนด้วย
       
           สิ้นเสียงนายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการ คปก.เสียงเซ็งแซ่ของบรรดาขี้ข้าพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็ดังขึ้น บ้างก็อ้างความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาซึ่ง เลขาธิการก็เพิ่งจะได้รับน้ำแกงจากระบอบทักษิณในตำแหน่งใหญ่อีกตำแหน่งหนึ่งเมื่อไม่เกินสัปดาห์มานี้ โดยนั่งเป็นประธานคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ แทนที่ประธานคนเก่าที่ลาออกมารับตำแหน่งรัฐมนตรี ซึ่งก็เป็นที่รู้กันอีกนั่นแหละว่าเป็นน้ำแกงอีกถ้วยที่พ.ต.ท.ทักษิณหยิบยื่นให้ผู้ที่เคยรับใช้ที่ซื่อสัตย์ และจงรักภักดี
       
           ส่วนบรรดาลิ่วล้อสายตรงต่างก็ประสานเสียงเพื่อให้เข้าหูเข้าตา พ.ต.ท.ทักษิณ เผื่อว่าถ้าหากมีตำแหน่งแห่งที่อยู่แล้ว ตำแหน่งก็จะได้มั่นคงขึ้น ถ้าหากยังไม่มีก็จะได้มีสิทธิมีโอกาสที่จะได้น้ำแกงสักครึ่งถ้วยหรือสักถ้วยในวันข้างหน้า เพราะมีตัวอย่างให้เห็นมาแล้วว่า มีแต่ทำเช่นนี้เท่านั้นจึงจะเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน มีแต่ทำเช่นนี้เท่านั้นจึงจะมีโอกาสแทะกระดูกซดน้ำแกงจาก พ.ต.ท.ทักษิณ
       
           พวกเขาอ้างว่านี่เป็น พ.ร.บ.อีกฉบับหนึ่งต่างหาก เงินที่กู้มาไม่ใช่เงินแผ่นดิน เพราะฉะนั้นจะไม่เกี่ยวข้องกับมาตรา 169 ของรัฐธรรมนูญ
       
           ไม่ต้องเอานักกฎหมายระดับอดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยอย่าง พีรพันธุ์ พาลุสุข อดีตตุลาการอย่างนายพงษ์เทพ เทพกาญจนา ออกมาแสดงความคิดเห็นหรอกครับ นักเรียนกฎหมายก็ต้องรู้ว่า รัฐธรรมนูญคือกฎหมายสูงสุด จะมีกฎหมายใดมาขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญได้หรือครับ จะออกกฎหมายใหม่ยกเว้นบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญได้หรือครับ
       
           อย่าว่าแต่ที่จะพูดอย่างหน้าด้านๆ ว่า เงินที่กู้มาไม่ใช่เงินแผ่นดินอย่างที่หน้าด้านพูดกันอยู่เลย ถามว่า เวลาใช้หนี้พวกเอ็งเอาเงินที่ไหนไปใช้หนี้ เอาภาษีประชาชนไปใช้หนี้หรือไม่?
       
           อย่าว่าแต่ผู้ที่มีหน้าที่พิจารณาว่า กฎหมายกู้เงินนี้ขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญหรือไม่ ไม่ใช่คณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ใช่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่ใช่สมาชิกวุฒิสภา ไม่ใช่นายพงษ์เทพ เทพกาญจนา ไม่ใช่นายวราเทพ รัตนากร ไม่ใช่ทนายความถุงขนม (ซึ่งผู้เขียนขยะแขยงที่จะระบุชื่อ)
       
           ผู้ที่มีหน้าที่พิจารณาเรื่องนี้คือ ศาลรัฐธรรมนูญ
       
           ก็รอให้ร่าง พ.ร.บ.นี้ผ่านวาระที่ 3 ผ่านวุฒิสภา ดูซิว่าระหว่างรอขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย จะมีสมาชิกรัฐสภาส่งเรื่องนี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าขัดหรือไม่ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ และจะมีใครเสนอให้ศาลปกครองพิจารณาเช่นเดียวกับโครงการแก้ปัญหาน้ำ 3.5 แสนล้านบาทหรือไม่ ศาลปกครองจะไล่ให้ไปปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 57 (2) 67 (2) หรือไม่ คอยดูซิครับว่า ทั้งสองศาลจะพิจารณาอย่างไร
       
           ศาลปกครองอาจจะไม่ต้องเสียเวลาพิจารณาด้วยซ้ำ เพราะมันตกไปตั้งแต่ขั้นตอนของศาลรัฐธรรมนูญ

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ manager.co.th ดูทั้งหมด

282

views
Credit : manager.co.th


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน