"เคแบงก์" หนุน SMEsญี่ปุ่นลงทุนไทย-อาเซียน

 "เคแบงก์" จับมือ "หอการค้าโตเกียว" ส่งเสริมนักลงทุนประเทศญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในไทยและอาเซียน ระบุบริษัทเอสเอ็มอีญี่ปุ่นฮิตเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เพราะปัจจัยพื้นฐานพร้อม คาดในปีนี้ จะมีบริษัทญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในอาเซียนเพิ่มกว่า 1,000 บริษัท 
       
       นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารกสิกรไทยได้ร่วมมือกับหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งโตเกียว ซึ่งเป็นหนึ่งในหอการค้าจังหวัดที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีสมาชิกถึง 80,000 บริษัท และมีสมาชิกเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากที่สุดแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น โดยความร่วมมือดังกล่าว จะมีการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างสองประเทศ ได้แก่ การจัดสัมมนาให้ความรู้แก่นักลงทุนญี่ปุ่นเกี่ยวกับโอกาสของธุรกิจและการลงทุนในไทยและอาเซียน การเจรจาจับคู่ธุรกิจของเอสเอ็มอี ไทย-ญี่ปุ่น การให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการบริการจัดการทางการเงิน รวมถึงการให้วงเงินสินเชื่อผ่านความร่วมมือของธนาคารพันธมิตรท้องถิ่นญี่ปุ่น ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวจะช่วยเสริมสร้างการค้าระหว่างสองประเทศและดึงดูดนักลงทุนญี่ปุ่นเข้ามาดำเนินธุรกิจในไทยมากขึ้น
       
       "ในครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกของหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งโตเกียวที่ร่วมลงนามกับพันธมิตรที่เป็นสถาบันการเงินต่างประเทศ เนื่องจากมองว่าธนาคารกสิกรไทยเป็นธนาคารท้องถิ่นที่ดูแลลูกค้าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีญี่ปุ่นที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ซึ่งภายในปี 2556 นี้ ธนาคารกสิกรไทยมีเป้าหมายที่จะดำเนินความร่วมมือลักษณะเดียวกันนี้กับหอการค้าและองค์กรในจังหวัดอื่น ๆ ของญี่ปุ่นเพิ่มอีก 2-3 จังหวัด เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการญี่ปุ่นที่สนใจลงทุนในไทยอย่างครบวงจรผ่านทางธนาคารพันธมิตรญี่ปุ่นทั้ง 24 แห่ง หอการค้า องค์กรภาครัฐและเอกชนของญี่ปุ่น เพื่อตอกย้ำการเป็นอาเซียนแบงก์ของธนาคารกสิกรไทย และเป้าหมายให้ไทยเป็นประตูการค้าสู่อาเซียนต่อไป" ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าว
       
       ทั้งนี้ จากข้อมูลของหอการค้าญี่ปุ่นพบว่า บริษัทจากประเทศญี่ปุ่นเข้ามาจัดตั้งและดำเนินธุรกิจในประเทศไทยแล้วมากกว่า 7,000 บริษัท แยกตามขนาดของธุรกิจพบว่าเกือบ 50% เป็นบริษัทญี่ปุ่นที่มีขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือเอสเอ็มอี ส่วนใหญ่ฐานที่ตั้งของบริษัทแม่จะมาจากโตเกียวถึง 25% และในช่วงปี 2548-2553 ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทยเป็นอันดับหนึ่งมาตลอด โดยมียอดรวมมูลค่าเงินลงทุนที่ยื่นขอโครงการจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) สูงถึง 720,000 ล้านบาท แม้ในปี 2554 ประเทศไทยจะประสบอุทุกภัยน้ำท่วม แต่บริษัทญี่ปุ่นก็ไม่ได้ย้ายฐานการผลิตไปที่อื่น และยังคงลงทุนต่อเนื่อง เห็นได้จากในปี 2555 การลงทุนของบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทยมีการขยายตัว คิดมูลค่าเงินลงทุนประมาณ 348,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 119% เมื่อเทียบกับปี 2554
       
       นอกจากนี้ นักลงทุนญี่ปุ่นยังแสดงความสนใจในการลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีญี่ปุ่น ซึ่งทางเจโทรได้คาดการณ์ไว้เมื่อต้นปีว่า ในปี 2556 จะมีนักลงทุนญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในอาเซียนเพิ่มขึ้นอีกกว่า 1,000 บริษัท และจากการสำรวจทุกครั้งนักลงทุนญี่ปุ่นยังมีความผูกพันและสนใจเข้ามาลงทุน ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยเป็นลำดับต้น ๆ มาตลอด โดยแม้ว่าประเทศไทยจะมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำขึ้น แต่ยังได้เปรียบเรื่องระบบโครงสร้างพื้นฐานที่มีความพร้อมกว่าหลายประเทศ และลักษณะภูมิประเทศที่เหมาะสมจะเป็นศูนย์กลางการผลิตเพื่อป้อนให้กับประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า ญี่ปุ่นจะเข้ามาลงทุนผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น อาทิ สินค้าที่มีกระบวนการผลิตที่ซับซ้อนขึ้น ใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น หรือมีดีไซน์และต้องใช้แรงงานที่มีฝีมือ

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ manager.co.th ดูทั้งหมด

278

views
Credit : manager.co.th


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน