องคมนตรีแนะสื่อใช้สำนึก-ทักษะ พาชาติพ้นกับดัก-อย่าเอาใจนักการเมือง

 สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ จัดงานเสวนา “จริยธรรมสื่อในสังคมไทย” เนื่องในโอกาสครบรอบ 16 ปี สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ โดยเชิญนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิ และนักสื่อสารมวลชน ร่วมกำหนดแนวทางการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อสารมวลชนในการนำเสนอข่าว ด้วยความรับผิดชอบ และมีจริยธรรมอย่างสูงสุด
       โดยศาสตราจารย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ ซึ่งได้สะท้อนแนวคิดจริยธรรมของสื่อมวลชนว่า เป็นองค์กรที่สำคัญ ซึ่งถือว่ามีอิทธพลต่อวิธีคิดของประชาชน โดยในยุคแรก เป็นยุคบริโภคข่าวชุดเดียวกัน เนื้อหาสาระเป็นข่าวที่ถูกนำเสนอไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นข่าวที่เกิดขึ้นจากภายในหรือภายนอกประเทศก็ตาม ยุคต่อมาเป็นยุคข่าวเฉพาะกลุ่มผู้บริโภค ซึ่งประชาชนสามารถเลือกรับรู้ข่าวสารได้หลากหลายมากขึ้น และในยุคปัจจุบัน เป็นยุคผู้บริโภคสร้างข่าวเอง ซึ่งสามารถกำหนดทิศทาง และควบคุมการนำเสนอให้เป็นไปตามที่แหล่งข่าวต้องการได้
       ทั้งนี้ ยังเห็นว่าปัจจุบันสื่อสารมวลชน ที่กำลังมีอิทธิพลมากในกลุ่มวัฒนธรรมใหม่คือ สื่อมวลชนที่ถูกนำเสนอในรูปแบบโซเชี่ยลมีเดีย ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่นักสื่อสารมวลชน และสถาบันการศึกษาต้องหันมาให้ความสำคัญมากขึ้น
       อีกทั้งยังมองว่าอิทธิพลของงานข่าว สามารถแยกออกเป็น ข่าวที่มาจากการสร้างกระแส ทั้งที่เป็นเรื่องเท็จ หรือเรื่องจริง ข่าวสร้างค่านิยม ซึ่งมากจากวัฒนธรรมของสำนักข่าว ข่าวสร้างพวกสร้างค่าย และข่าวสร้างปัญญา ซึ่งข่าวทุกประเภทมีอิทธิพลอย่างมากกับประชาชน ดังนั้นการให้นักสื่อสารมวลชน ตระหนักถึง จริยธรรมจึงเป็นสิ่งที่มีความจำเป็น โดยอาศัยการควบคุมอย่างเหมาะสม จากองค์กรวิชาชีพ และจิตสำนึกที่ มาจากค่านิยมของนักข่าวและสำนักข่าวต่างๆ ส่วนเรื่องของสำนึกและทักษะถือเป็นสิ่งสำคัญในวิชาชีพสี่อมวลชน และหวังว่าทั้งสองสิ่งนี้จะช่วยให้บ้านเมืองพ้นจากกำดักทั้ง 3 อย่าง คือ 1.ความน่าเชื่อถือของรัฐ 2.ความเหลื่อมล้ำในสังคม และ 3.การสร้างคุณค่าของภาคเอกชน เพื่อให้การร่วมมือกับภาครัฐทำประโยชน์แก่บ้านเมือง ทั้งนี้ ไม่อยากให้วิชาชีพสื่อมวลชนทำงานเพื่อเอาใจนักการเมืองและไม่ละเลยความถูกต้อง เพื่อช่วยกันทำประโยชน์ให้กับบ้านเมือง
       
       ** นักธุรกิจโลกไม่ปลื้ม ครม.ปู 5
       
           นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยใช้เงินลงทุนในการพัฒนาด้านการศึกษา ประมาณ 28.3 % ถือว่าเป็นการลงทุนมหาศาล แต่เมื่อเทียบกับต่างประเทศกลับยังสู้ไม่ได้ ภาพที่ปรากฏคือ นโยบาลล่มจม และขาดทุน รัฐมนตรีที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ตอบคำถามกับสื่อไม่ได้ และเกิดการโยกย้ายในระบบข้าราชการ การปรับครม. ที่ขึ้นอยู่กับว่าเป็นคนของใคร ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความสามารถ เรื่องนี้ทำให้เกิดความบั่นทอนความเชื่อมั่นในสายตาของนักลงทุน
           ดังนั้น หน้าที่ของสื่อมวลชน จะต้องตั้งคำถามให้แรงกับผู้นำประเทศ เพื่อทำให้เกิดความโปรงใส จากนั้นจะตามมาด้วยการแก้ปัญหา ซึ่งแน่นอนว่า สื่อมวลชนจะต้องกระทบกระทั่งกับผู้มีอำนาจ ดังนั้นจึงเป็นอาชีพที่อันตราย แต่การยืนหยัดเพื่อหน้าที่ เป็นการขัดขวางปัญหาคอร์รัปชัน
           “มีนักธุรกิจ บอกกับผมว่า เขาไม่ขอทำธุรกิจกับรัฐบาล แม้ว่าจะยอมรับได้ หากมีการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีปีละครั้ง แต่ต่างชาติจะไม่ชอบเลยหากมีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีที่รับผิดชอบนโยบายทุกครั้ง สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ประเทศสุ่มเสี่ยงที่ สถาบันจัดอันดับเครดิต มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ซึ่งเป็นสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำระดับโลก อาจจะลดเครดิตประเทศ นั่นจะทำให้เกิดผลกระทบตามมาคือ ปัญหาการจ้างงาน ดังนั้นเรื่องผิดปกติเหล่านี้ จะต้องสะท้อนให้คนทั้งประเทศเห็นอยู่บนหน้าหนังสือพิมพ์”นายสุรินทร์ กล่าว

 

เครดิตและบทความเรื่องอื่นๆของ manager.co.th ดูทั้งหมด

272

views
Credit : manager.co.th


สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 uAsean.com มหานครอาเซียน