PTTGCชี้ศก.จีนชะลอไม่กระทบ หันพึ่งอาเซียน
ASTVผู้จัดการรายวัน - พีทีที โกลบอลฯ ปรับกลยุทธ์การตลาดเน้นอาเซียนหลังประเมินเศรษฐกิจจีนชะลอตัว ยันตลาดจีนยังเป็นตลาดส่งออกเม็ดพลาสติกใหญ่สุดของบริษัทฯ อยู่คิดเป็น 40-50% ของปริมาณส่งออก คาดครึ่งปีหลังราคาและมาร์จิ้นเม็ดพลาสติกดีต่อเนื่อง จากไตรมาส 2 ที่มีมาร์จิ้นถึง 500 เหรียญสหรัฐ/ตัน แย้มการเซ็นสัญญาร่วมทุนกับปิโตรนาสมาเลย์ส่อเลื่อนไปเป็นไตรมาส 1 หรือ 2 ปีหน้า
นายอัฒฑวุฒิ หิรัญบูรณะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มผลิตภัณฑ์พอลิเมอร์ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (PTTGC) เปิดเผยว่า ในปีนี้บริษัทฯ ได้ลดปริมาณการส่งออกเม็ดพลาสติกโพลีเอทิลีน (PE) ไปตลาดจีนลงเหลือ 40-45%เดิมที่เคยส่งออกไปถึง 50% ของปริมาณการส่งออกทั้งหมด เนื่องจากบริษัทฯ ได้คาดการณ์สถานการณ์เศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวลงหลังจากเศรษฐกิจในสหภาพยุโรปไม่ดีโดยหันมาทำตลาดในอาเซียนแทน ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกเม็ดพลาสติกไปอาเซียนเพิ่มสัดส่วนขึ้นเป็น 30% ของการส่งออก โดยเฉพาะอินโดนีเซียที่มีการทำตลาดเพิ่มมากขึ้น ทำให้เป้าปริมาณขายเม็ดพลาสติกในปีนี้เพิ่มขึ้นทิศทางเดียวกันกับการเติบโตของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ที่โตราว 4-5%
“แม้ว่าเศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวลงแต่ก็ไม่รุนแรง ซึ่งไม่กระทบยอดขายบริษัทฯ เพราะได้มีการคาดการณ์เอาไว้อยู่แล้ว โดยจีนยังเป็นตลาดสำคัญรองจากตลาดในประเทศที่บริษัททำตลาดอยู่คิดเป็น 50% ของปริมาณการผลิต ขณะเดียวกันก็หันมาทำตลาดอาเซียนมากขึ้น ทำให้รายได้ของบริษัทฯ เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้เนื่องจากไตรมาส 2/2556 เป็นช่วงที่ความต้องการใช้เม็ดพลาสติกน้อยตามฤดูกาลจึงปิดซ่อมบำรุงโรงงานแทน ทำให้ปริมาณเม็ดพลาสติกที่ออกสู่ตลาดลดลงบ้างเล็กน้อยเนื่องจากได้มีการเก็บสต๊อกสินค้าไว้อยู่แล้ว” นายอัฒฑวุฒิกล่าว
นายอัฒฑวุฒิกล่าวต่อไปว่า ในไตรมาส 2/2556 ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์พลาสติก PEกับวัตถุดิบแนฟทา (สเปรด) อยู่ที่ 500 กว่าเหรียญสหรัฐ/ตัน โดยราคาขายเม็ดพลาสติกชนิด HDPE อยู่ที่ 1,460 เหรียญสหรัฐ/ตัน สูงขึ้นกว่าไตรมาสก่อน 10 เหรียญสหรัฐ/ตัน ซึ่งโดยทั่วไปไตรมาส 2 ราคาเม็ดพลาสติกจะอ่อนตัวแต่ไตรมาสนี้กลับราคาดี อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าครึ่งปีหลังนี้ราคาเม็ดพลาสติกน่าจะดีขึ้นต่อเนื่องในไตรมาส 3/2556 เนื่องจากเป็นช่วงการใช้เม็ดพลาสติก และสเปรดเม็ดพลาสติกน่าจะทรงตัวดีขึ้นในระดับนี้
ส่วนความคืบหน้าการลงทุนร่วมกับพีที เปอร์ตามิน่า ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติของอินโดนีเซียนั้น คาดว่าบริษัทฯ น่าจะลงนามสัญญาร่วมทุนได้ในเดือนธันวาคมนี้หลังจากศึกษากรอบความร่วมมือ และรายละเอียดการลงทุน ตลอดจนการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนดำเนินการก่อสร้างโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์นับตั้งแต่ธุรกิจต้นน้ำไปถึงธุรกิจปลายน้ำ โดยประกอบด้วยโรงกลั่นน้ำมัน โรงโอเลฟินส์ขนาด 1.2 ล้านตัน/ปี โรงงานผลิตเม็ดพลาสติกชนิด PE PP LDPE และ EO/EG รวมทั้งโรงอะโรเมติกส์ด้วย คาดว่าจะใช้เงินลงทุน 4-5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.2 แสนล้านบาท โดยทางพีที เปอร์ตามิน่า จะถือหุ้น 51% และ PTTGC ถือหุ้น 49% และเริ่มก่อสร้างได้ในปีถัดไป คาดว่าโครงการดังกล่าวจะดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2560
สำหรับความคืบหน้าการร่วมทุนในโครงการปิโตรเคมีกับปิโตรนาส ประเทศมาเลเซียนั้น บริษัทฯ คาดว่าจะลงนามสัญญาการร่วมลงทุนได้ในไตรมาส 1 หรือไตรมาส 2 ปี 2557 ล่าช้ากว่าเดิมที่เคยตั้งเป้าหมายไว้ในไตรมาส 3/2556 โดยจะร่วมทุนตั้งโรงงานผลิตโพรพิลีนออกไซด์ หรือโพลีออลในประเทศมาเลเซีย นอกจากนี้ยังศึกษาความเป็นไปได้ในการตั้งโรงงานผลิตโพลียูรีเทน และโพลีคาร์บอเนตในจีน โดยจะร่วมทุนกับซิโนเปค ของจีนด้วย